ในเวที “สเปซ (Space)” ห้องสนทนาของทวิตเตอร์ เมื่อคืนวานนี้ (วันที่ 14 ตุลาคม) Netizen จำนวนหนึ่งมาชุมนุมกันเพื่อถกกันเรื่องเสรีภาพ ส่วนหนึ่งคือการรำลึกถึง “14 ตุลา วันมหาวิปโยค” ที่เป็นประเด็นเรื่องสิทธิทางการเมือง แต่ในเวทีนั้นได้มีการถกประเด็น “สิทธิเสรีภาพ” ที่กำลังเป็นกรณีขัดแย้งในปัจจุบัน คือ สิทธิเสรีภาพในการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ
ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีการตัดสินชี้ชะตาสิทธิเสรีภาพนี้ ด้วยการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมระหว่างสองค่ายมือถือ คือ ทรู-ดีแทคหรือไม่ ที่ผ่านมามีการโต้แย้งกันระหว่างผู้สนับสนุนฝ่ายเอกชนที่ต้องการเห็นการพัฒนาเทคโนโลยีสูงสุด กับฝ่ายผู้บริโภคที่เห็นว่าการควบรวมครั้งนี้ไม่ได้มาแค่เทคโนโลยี แต่มาพร้อมระบบตลาดผูกขาดที่มากับการลดทางเลือก มากับราคาบริการแพงที่ผู้บริโภคทั้งประเทศต้องจ่าย และมาจากการลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงการใช้บริการคลื่นความถี่ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะกลุ่มคนจนในพื้นที่ห่างไกลที่อาจถูกละเลยเพราะไม่ใช่พื้นที่สร้างกำไรให้เอกชนได้
มีการตั้งคำถามมากมายจาก Netizen ที่เข้าร่วมในเวทีที่แสดงความกังวลและสงสัยว่าทำไมสิ่งที่ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญ และ กฎหมายต่าง ๆ หลายฉบับที่ให้กรรมการ กสทช. องค์กรอิสระนี้ทำงานอย่างตรงไปตรงมาตามหน้าที่ในรัฐธรรมนูญหรือกฏหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ คือ กำกับการให้บริการคลื่นความถี่ของบริษัทค่ายมือถือให้เป็นไปตามระบบตลาดเสรีที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เปิดให้ประชาชนมีทางเลือก ให้มีการแข่งขัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน แต่สิทธิเหล่านี้กำลังจะถูกลดทอน ทั้งๆ ที่ประเทศยังมีรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิประชาชน มีการถกว่า กสทช. จะลงมติเรื่องการควบรวมทรูกับดีแทคอย่างไร ในความเป็นจริงนั้นเป็นหน้าที่ของ กสทช. มิใช่หรือที่จะต้องให้ข้อมูลผู้บริโภค รวมทั้งการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น การเปิดเผยข้อมูลผลการทำงาน ผลการศึกษาของคณะทำงานแต่ละด้านให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเพียงพอในฐานะองค์กรอิสระที่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน ไม่ใช่รัฐบาล
คำถามต่าง ๆ ที่ยกขึ้นในวงสนทนา เช่น ทำไม กสทช.ไม่เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ถ้าผู้บริโภคต้องการจะฟ้อง จะฟ้องใคร กสทช. คุ้มครองผู้บริโภค กสทช.สิทธิเสรีภาพ หรือฟ้องทั้ง 5 กรรมการ กสทช. หรือฟ้องส่วนสำนักงาน กสทช. ที่ไม่สามารถทำให้ข้อมูลเปิดเผยสู่สาธารณะ
และมีการถกคำถามที่หาคำตอบไม่ได้เช่น ทำไมจึงปล่อยให้เกิดการควบรวมธุรกิจประเภทเดียวกันที่ไม่มีประเทศไหนที่ยอมให้ทรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีมูลค่าเป็นแสนล้าน เหลือผู้ประกอบกิจการเพียงสองราย เพราะนั่นคือระบบผูกขาดที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ไม่ให้เกิดขึ้นในตลาดนี้ หากควบรวมแล้วจะต้องการให้กลับมาเป็นตลาดที่มีผู้เล่นหลายราย หรือมีผู้เล่นมากขึ้น จะต้องใช้เวลาอีกยาวนานแค่ไหน จำต้องใช้เงินลงทุนอีกเท่าไร เป็นแสนล้านหรือไม่ จึงเหมือนกับทำให้ประเทศไทยกำลังจะถดถอย
หลังจากการขบคิด ก็ได้มีข้อเสนอวง “สเปซ” ทวิตเตอร์ ที่พอสรุปได้ดังนี้
1. ขอให้ กสทช. เปิดเผยรายงานที่ปรึกษา และรายงานการศึกษาต่าง ๆ ให้สาธารณชนรับรู้
2. ขอให้การลงมติควรทำให้กระจ่าง เหมือน กขค. เปิดเผยความเห็นบอร์ด แสดงจุดยืนของตัวเอง และเพื่อความโปร่งใส
3. ขอให้ กสทช. ชี้แจงประเด็นการบริหารความเสี่ยง Public Utilities สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพราะหากเกิดกรณีสัญญาณล่ม หรือสัญญาณติดขัด ประเทศจะประสบปัญหาเนื่องจากมีผู้ประกอบการเพียงแค่สองราย
4. ขอให้ตรวจสอบและเปิดเผย การรวมผู้ประกอบการ MVNO บริษัท เรียลมูฟ ที่ไปทำสัญญากับ CAT telecom เดิม และสุดท้ายก็กลับมารวมกับบริษัทเดิม True Move H เจตนารมณ์ของการเป็นผู้ประกอบการ MVNO จะต้องเป็นผู้ให้บริการที่ไม่มีคลื่นความถี่อยู่ในมือ แต่ True Move H ก็มี MVNO อยู่ด้วย ดังนั้น การรวม MVNO 2 ชั้น จึงขัดกับเจตนารมณ์กฎหมาย
เมื่อมาดูเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 60 ที่ระบุว่า กสทช. มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเหล่านี้ทำให้เกิดประเด็นย้อนแย้งในการทำงาน กสทช. ที่จะอนุญาตให้ควบรวมครั้งนี้ คือ การส่งเสริมผู้ประกอบการรายเล็ก MVNO แต่ MVNO รายใหญ่ ก็เป็นของทรู และทรูก็มี เรียลมูฟ ที่ไปทำสัญญากับ CAT telecom เดิม สุดท้ายก็กลับมารวมกับรายใหญ่ ปัจจุบัน เรียลมูฟที่ไปเซ็นสัญญากับ CAT การควบรวมหนึ่งในเก้าครั้งในประกาศฉบับใหม่ ได้มีการควบรวม บริษัท เรียลมูฟ ได้มีการรวมบริษัทเข้ามาไว้กับ True Move H แล้ว ซึ่ง True Move H เป็นผู้ให้บริการที่มีคลื่นความถี่ แต่ในขณะเดียวกัน กสทช.ก็อนุญาตให้ True Move H เป็น MVNO ได้อีก จึงขัดกับเจตนารมณ์กฎหมาย
ที่ผ่านมา กสทช. ได้อ้างมาตลอดว่าตนเองไม่มีอำนาจในการอนุญาตการควบรวมสองค่ายมือถือ แต่ในวันที่ 20 ตุลาคม นี้ กสทช. จะประชุมพิจารณาตัดสินว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต จึงเป็นข้อกังขาของสังคมในขณะนี้
หนึ่งในข้อคิดเห็น คือ เมื่อ กสทช. มีสิทธิที่จะตัดสินทางใดทางหนึ่งในการควบรวมครั้งนี้เพราะเป็นอำนาจของ กสทช. แต่หากอิงมาตรฐานต่างประเทศ กรรมการแต่ละบุคคลก็สามารถมีคำวินิจฉัยเฉพาะตัวของแต่ละคนได้และควรมีการแสดงที่มาที่ไปอย่างละเอียดว่าคำวินิจฉัยเหล่านั้นเป็นไปตามกฏหมายมาตราใด
นอกจากนั้น ในเวทียังมีการเสนอแนะกรรมการ กสทช. ว่าควรเปิดเผยคำวินิจฉัย บทสรุป บทวิเคราะห์ การอ้างอิงแผนแม่บท อ้างอิงงานวิจัย อ้างอิงผลการศึกษาต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญในการต่อสู้ในชั้นศาล หากมีการนำประเด็นนี้ฟ้องร้องต่อ กสทช.
ในส่วนของผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้บริการทรูและดีแทค มีการเรียกร้องถึงผู้ให้บริการให้เปิดเวทีรับฟังความเห็นว่า ลูกค้าดีแทคอยากจะย้ายค่ายหรือไม่ หากเกิดกรณีสัญญาณล่ม จะมีแนวทางรองรับลูกค้าอย่างไร และขอให้ค่ายดีแทคคำนึงถึงผู้บริโภค 19 ล้านคนกลุ่มนี้ที่ยืนหยัดอยู่กับดีแทคมาอย่างยาวนาน
บทสรุปในเวทีคือจะมีการดำเนินการฟ้องร้อง กสทช. แน่นอนไม่ว่าการตัดสินจะออกมาในรูปแบบไหน ถ้าอนุญาตให้ควบรวมฝ่ายประชาชนจะเป็นผูฟ้อง แต่ถ้าไม่อนุญาต บริษัทเอกชนผู้เสียหายจะเป็นผู้ฟ้อง อย่างไรก็ตาม หาก กสทช. โดนภาคเอกชนฟ้อง Netizen ในเวทียืนยันว่าภาคประชาชนจะออกมาเป็นพยานว่าการวินิจฉัยไม่ให้ควบรวมนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ก่อนปิดเวทีสนทนาออนไลน์ ก็ยังมีคำถามที่สังคมต้องขบคิด เช่น ทบทวนรัฐธรรมนูญในการให้อำนาจ กสทช. ออกจากระบบการเมืองเป็นองค์กรอิสระ เป็นผลดีต่อสังคมจริงหรือไม่ เพราะเมื่อไม่มีฝ่ายค้านซักฟอกการใช้อำนาจ กสทช. “จะเป็นใครที่อภิปรายไม่ไว้วางใจ กรรมการ กสทช.ได้”