“เรียนฟรีมีจริงได้” นักวิชาการ พรรคการเมืองเสนอจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม คาดหวังรัฐบาลให้ความสำคัญผลักดันนโยบายเรียนฟรีให้เป็นจริงอย่างมีคุณภาพ อย่าปล่อยให้การศึกษาเป็นสินค้าราคาแพง
วันนี้ 24 สิงหาคม 2567 สภาผู้บริโภคจัดเวทีสาธารณะ ‘เรียนฟรีต้องมีอยู่จริง’ สิทธิที่นักเรียนทุกคนควรได้รับตามรัฐธรรมนูญ โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ พรรคการเมือง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อรวบรวมความเห็นสำหรับจัดทำข้อเสนอแนะทางนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบการแก้ไขแนวปฏิบัติเรื่องการเก็บเงินบำรุงการศึกษาต่อไป
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคเล็งเห็นถึงความสำคัญของสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามรัฐธรรมนูญ 12 ปี และประกอบกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำหนดให้เรียนฟรี 15 ปี
แต่ปัจจุบันการพัฒนาการเรียนการสอนมีความพิเศษมากขึ้น ทำให้เกิดช่องทางการเรียกเก็บเงิน ส่งผลให้การเรียนฟรีไม่เกิดขึ้นจริง ทั้งที่การศึกษาควรเป็นบริการขั้นพื้นฐานของประชาชน จะทำอย่างไรให้เรียนฟรีเกิดขึ้นจริง ให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย
เชื่อเรียนฟรีทำได้จริง หากมีการจัดงบฯ อย่างเหมาะสม
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนยันว่า เรียนฟรีทำได้จริง หากภาครัฐมีความมุ่งมั่นผลักดันเหมือนนโยบายเงินดิจิทัล โดยเสนอให้สิทธิเรียนฟรีต้องเป็นสิทธิที่ติดตัวเด็กทุกคน เหมือนกับสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพ ให้การศึกษาทุกระดับมีความสำคัญเท่ากัน และปรับโครงสร้างงบประมาณ โดยให้งบประมาณแสนล้านบาทก่อนมหาวิทยาลัย งบฯ สี่หมื่นล้านบาททำให้มหาวิทยาลัยฟรี และ 2 หมื่นล้านบาท/ปี สำหรับล้างหนี้กยศ.ให้ร้อยละ 40 ทันทีที่จบการศึกษา
“เรามีโรงเรียนมาก่อนรถไฟฟ้า มาก่อนการรักษาโรคมะเร็ง แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ฟรีได้ ทั้งที่ในหลายประเทศเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาเอกสามารถทำได้จริง ไม่ว่าประเทศนั้นจะงบประมาณน้อยกว่า หรือมีประชากรมากกว่า แต่ประเทศไทยหากรัฐบาลทำให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาเจตจำนงทางการเมือง และผลักดันให้ได้เหมือนนโยบายเงินดิจิทัล จะสามารถทำให้การเรียนฟรีทำได้จริง และคนที่จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้มีตั้งแต่ชั้นแรงงาน เกษตรกร ไปจนถึงเศรษฐี เพราะทุกคนได้อยู่ในสังคมเดียวกัน สังคมที่ปกติสุขทุกคนมีความฝันและวิ่งตามความฝันได้ ย่อมดีกว่าสังคมที่คนส่วนใหญ่ถูกทิ้งไว้เพราะปัญหาเรื่องการเรียนฟรีไม่มีอยู่จริง” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์
ขณะที่ ดร.เทอดชาติ ชัยพงษ์ พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นถึงการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่ต้อง ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ แต่ทำไมการเรียนฟรีไม่มีจริง เกิดจาก “สามไม่” หนึ่งคือไม่เท่าเทียมด้านโอกาสทางการศึกษา เพราะความไม่เท่าเทียมไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน สองคือไม่ทันสมัย กฎหมายที่ล้าหลังตั้งแต่กฎหมายแม่บททางการศึกษา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา หรือเรื่องของระบบการศึกษาที่ไม่เชื่อมโยงกัน และด้านบริหารจัดการงบประมาณ และไม่สุดท้ายคือ ไม่จริงจังที่จะเห็นว่าเด็กคือทรัพยากรของชาติที่จะสร้างประเทศในอนาคต
“ต้องให้งบประมาณและกระจายอำนาจไปที่หน่วยงานที่ปฏิบัติในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาอาชีวะ เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนเรื่องนี้ที่จะให้โอกาสด้านการศึกษาเท่ากัน ต้องแก้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม” ดร.เทอดชาติ ระบุ
ด้าน ภัทรพล แก้วสกุณี พรรครวมไทยสร้างชาติ มองว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะจัดการปัญหาเรื่องการเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อให้การศึกษาเกิดความเสมอภาค และอยากรัฐสนใจ ใส่ใจเรื่องระบบการศึกษาอย่างจริงจัง จัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ นอกจากเรื่องการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาแล้ว รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ด้วยการสนับสนุนในด้านอื่น ๆ เช่น เรื่องการทำโซลาร์รูฟ ในโรงเรียน เพื่อช่วยลดค่าไฟ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงเรียนและผู้ปกครองได้ในอีกทางหนึ่งด้วย
“ส่วนตัวไม่เคยสัมผัสเลยว่าเรียนฟรีมีจริง รวมถึงเห็นเรื่องความเหลื่อมล้ำด้วย ทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด คนจนและคนรวย ทั้งนี้ มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด หากไม่นำงบประมาณเข้ามาทำเรื่องนี้ ประเทศจะพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างไร” ภัทรพล กล่าว
ขณะที่ ธีรศักดิ์ จิระตราชู พรรคประชาชน กล่าวว่า เรื่องเจตทางการเมือง (Political will) เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการขับเคลื่อนงานเรื่องการศึกษา ไม่ใช่เฉพาะสำหรับรัฐบาลหรือพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ข้าราชการ คุณครู และทุกคนที่อยู่ในระบบการศึกษาต้องมี คือเราต้องเชื่อว่าการพัฒนาระบบการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ และการศึกษาจะเป็นสิ่งที่ยกระดับทางชนชั้น คุณภาพชีวิต และส่งผลต่อบริบทอื่น ๆ ทั่งเรื่องการเข้าสู่งสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาสังคม เป็นต้น
“ทุกวันนี้ต้องบอกว่า เมื่อไรที่เข้าสู่การศึกษาของรัฐ ชีวิตจะ ‘มีค่า’ ทันที ทั้งค่าบำรุงการศึกษา ค่าชุดนักเรียน ค่าแอร์ ฯลฯ ถึงแม้ว่ากฎหมายครอบคลุมในระดับหนึ่ง แต่ในระดับปฏิบัติการยังไม่เกิดเจตจำนงทางการเมือง ไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่ระบุในกฎหมาย ทำให้ปัญหาด้านการศึกษาไม่ถูกแก้ไข ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเรียนฟรีและมีคุณภาพต้องมีอยู่จริง ถ้า 2 สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้น เรื่องการศึกษาประเทศเราก็ไปต่อไม่ได้”
ธีรศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า การพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลต้องเลือกว่าจะพัฒนาสิ่งใดก่อน แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป พร้อมเสนอว่าหากผันเงินจากกระทรวงอื่น ๆ มาเป็นงบประมาณสำหรับเรื่องเรียนฟรี 15 ปี ในจำนวน 1 แสนล้านบาท ก็จะทำให้การดำเนินการในระดับกระทรวงทำได้จริง และเสนอให้ปรับโครงสร้างงบประมาณ โดยคำนึงถึงขนาดของโรงเรียน หากเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ควรสนับสนุนงบประมาณแบบตายตัว เพื่อให้มีเงินในการบำรุง ปรับปรุง และพัฒนาการศึกษา เนื่องจากที่ผ่านมาพบปัญหาเรื่องงบประมาณรายปีที่รัฐสนับสนุนโรงเรียนต่าง ๆ โดยคิดเป็นรายหัวต่อจำนวนนักเรียน ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในชนบทจะได้รับงบประมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น รัฐบาลสนับสนุนหัวละ 500 บาท โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน 120 คน จะได้รับงบปีละ 30,000 บาท เท่านั้น
ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ข้อมูลว่า ในแต่ละปีจะมีแนวทางการสนับสนุนค่าใช้จ่ายแจกจ่ายไปตามโรงเรียน ตามแต่ละเกณฑ์ มีขั้นตอนปฏิบัติ มีกรอบมีข้อยกเว้น ส่วนความพิเศษที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เช่น ห้องพิเศษ ห้องเรียนติดแอร์ ส่วนหนึ่งอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความต้องการของผู้ปกครองส่วนหนึ่ง และการบริการจัดการของโรงเรียน อย่างไรก็ตามคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พยายามที่จะดูแลให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นแนวทางเดียวกันและเกิดความพึงพอใจทุกฝ่าย
เสียงสะท้อน เมื่อการศึกษากลายเป็นสินค้าราคาแพง
นอกจากนี้ ในเวทียังมีการสะท้อนปัญหาจากตัวแทนผู้ปกครอง และตัวแทนเด็กนักเรียน ถึงการศึกษาที่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่กลายเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
คมเทพ ประภายนต์ ตัวแทนผู้ปกครองที่ถูกเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษา ระบุว่า หลังจากปี 2542 มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการเกี่ยวกับการศึกษาอยู่เป็นระยะ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือการจัดเก็บเงินที่เกี่ยวกับการศึกษา หรือที่โรงเรียนส่วนใหญ่มักใช้คำว่า “ค่าบำรุงการศึกษา” ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาขั้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
คมเทพ กล่าวต่อว่า ปัญหาหนึ่งคือประกาศกระทรวงศึกษา ฉบับต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนที่ระบุถึงการจัดเก็บค่าบำรุงการศึกษานั้น ไม่ได้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น “ประกาศเถื่อน” แต่ประกาศเหล่านั้น กลับทำให้เด็กจำนวนมากต้องหลุดจากระบบการศึกษา ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีเด็กออกจากระบบการศึกษา 19.4 ล้านคน และเชื่อว่าเด็กเกินครึ่งในจำนวนดังกล่าวหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะไม่ได้จ่ายเงินบำรุงการศึกษา
“จากการทำงานเรื่องการศึกษามา 20 ปี พบว่ามีเด็กจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากไม่มีเงินค่าจ่ายบำรุงการศึกษา และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการศึกษา และมีนักเรียนจำนวนมากที่ฆ่าตัวตาย บางกรณีที่ฆ่ายกครัวก็มี โดยมีสาเหตุมาจากเรื่องการศึกษา และเมื่อเกิดเรื่องกระทรวงศึกษาไม่ทำอะไรย้ายครูหนีอย่างเดียว ทั้งนี้ หากยึดกฎหมายเป็นหลัก โรงเรียนจะไม่สามารถจัดเก็บค่าบำรุงการศึกษาได้” นายคมเทพกล่าว
ขณะที่ ณัฏฐนาท ปฐมวรชัย เจ้าของเพจ How to ได้ใจลูกวัยรุ่น สะท้อนปัญหาเรื่องการศึกษาโดยระบุว่า ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเม็ดเงินสนับสนุนจากผู้ปกครอง ทำให้เด็กมีโอกาสมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งมาตรฐานของคุณครูและหลักสูตร
“คำถามที่อยู่ในหัวเสมอ คือ ‘เรียนฟรีมีจริงเหรอ?’ เพราะตั้งแต่ลูกเรียนอนุบาลจนถึงมหาลัย ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เรียนห้องพิเศษ ห้องธรรมดา เราต้องจ่ายเงินตลอดเลย ซึ่งนอกจากค่าบำรุงการศึกษาแล้วจะมีค่าอื่น ๆ แอบแฝง เช่น ค่าเครื่องปรับอากาศ ค่าไฟฟ้า ยังไม่นับรวมค่าชุดนักเรียน พละ ลูกเสือ ค่าโทรศัพท์มือถือ หรือค่าเรียนพิเศษเพิ่มที่โรงเรียนด้วย นั่นแปลว่า เด็กที่ผู้ปกครองไม่มีกำลังสนับสนุนจะได้รับโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกับเด็กคนอื่น ๆ”
ด้าน ปริยกร สุวรรณ เลขาธิการสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งทุกคนกำลังพูดถึงเป็นเพียงการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ต้องยอมรับว่าการศึกษาขั้นต่ำไม่เพียงพอที่ทำให้เด็กมีอาชีพหรือไม่ถึงสิ่งที่ฝัน นอกจากจะพูดเรื่องค่าใช้จ่ายแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่มองข้ามคือคุณภาพของการศึกษาซึ่งควรเท่าเทียมกันทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด หรือแม้แต่ห้องพิเศษต่าง ๆ เช่น ห้องเรียนเตรียมวิศวะ เตรียมแพทย์ ห้องเรียนสองภาษา ก็ควรได้รับคุณภาพการศึกษาเหมาะสมกับเงินที่จ่ายไป
“ทุกวันนี้โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ทำธุรกิจการศึกษาที่เข้มข้นขึ้น มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มากมาย แต่เงินที่จ่ายไปกลับไม่ได้การันตีคุณภาพ เวลาเราซื้อข้าว ยังรู้ว่าจะได้อิ่มท้อง แต่เวลาเสียค่าใช้จ่ายไปกับเรื่องการศึกษาไม่สามารถการันตีคุณภาพการศึกษาที่เราจะได้รับได้เลย”
นอกจากนี้ นายปริยกร ได้นำเสนอข้อมูลที่ได้จากการจัดสมัชชาเด็กและเยาวชน โดยสะท้อนปัญหาตัวชี้วัดการศึกษาไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยไม่ได้คำนึงถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทำให้เด็กที่ทำกิจกรรมหรือเด็กที่มีความสนใจเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ถูกจำกัดว่าต้องทำตามตัวชี้วัดในโรงเรียน ทั้งนี้ มีข้อเสนอ 2 ข้อ คือ 1) โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ที่เด็กสามารถมีมุมมอง จินตนาการ และมีโอกาสในการค้นหาตัวเอง และ 2) หลักสูตรการศึกษาต้องเหมาะสมกับยุคสมัยทันโลก
อย่าให้การศึกษาเป็นเรื่องของการค้า จนกลายเป็นความเคยชิน
อย่างไรก็ตาม คณะทำงานด้านการศึกษา ให้ความเห็นว่า การศึกษาเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดสรรให้ แต่ปัจจุบัน การศึกษากลายเป็นเรื่องของการค้า โรงเรียนกลายเป็นกำแพงที่สกัดกั้นเด็ก และกีดกันเด็กจากระบบการศึกษา ปล่อยให้บริการสาธารณะกลายเป็นสินค้าได้อย่างไร อย่ามัวถกกันว่าการศึกษาฟรีหรือไม่ฟรี แต่ควรเดินไปข้างหน้าการศึกษาต้องฟรี และฟรีอย่างมีคุณภาพ
“เราใช้งบประมาณไปกับเรื่องการศึกษาเยอะมาก แต่ทำไมยังไม่ฟรี โรงเรียนเต็มไปด้วยรูรั่วของความเหลื่อมล้ำ ด้วยกลไกของภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขอให้ทุกคนร่วมส่งเสียงเพื่ออนาคตของรุ่นต่อ ๆ ไป เด็กโตขึ้นทุกวันการศึกษารอไม่ได้ อย่าให้การเรียนฟรีเป็นความฝันที่ไม่เกิดขึ้นจริง และกลายเป็นเรื่องของการค้า จนเราเกิดความเคยชิน” อรรถพล อนันตวรสกุล ประธานคณะทำงานด้านการศึกษากล่าวเสริม