![จุดอ่อนความปลอดภัยอาหาร หลังพบสารพิษตกค้างพุ่ง 75%](https://www.tcc.or.th/wp-content/uploads/2025/02/10022025_TCC-AW-Vegetable-02-1200x675.png)
สหรัฐฯ เรียกคืนบล็อกโคลี่ติดเชื้อ เทียบบทเรียนการจัดการอาหารไม่ปลอดภัยในไทย – ชี้จุดอ่อนกฎหมายอาหารเก่า ขาดระบบเรียกคืน พร้อมเสนอแนวทางยกระดับบทบาท อบต.คุมเข้มความปลอดภัยอาหารในท้องถิ่น
ในโลกยุคปัจจุบัน ความปลอดภัยด้านอาหารเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ทุกประเทศให้ความสนใจ ล่าสุด บริษัท บาร์กา เฟรซ (Braga Fresh) ได้เรียกคืนผลิตภัณฑ์บล็อคโคลี่แช่แข็ง หลังจากที่คณะกรรมาธิการด้านสุขภาพและบริการมนุษย์ของเท็กซัส (Texas Health and Human Services) สุ่มตรวจตัวอย่างและพบเชื้อ ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria monocytogenes) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่เรียกคืน แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ตัดสินใจเรียกคืนสินค้า เพื่อป้องกันผู้บริโภคจากอันตรายของสินค้า
เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการปัญหาความปลอดภัยด้านอาหาร และบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังและดำเนินการป้องกัน ไม่เพียงแค่กรณีของ Braga Fresh เท่านั้น แต่ที่ผ่านมาหลายประเทศได้เผชิญกับปัญหาอาหารปนเปื้อนและต้องมีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ เช่น กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ทำให้มีคำสั่งเรียกคืนเนื้อบดน้ำหนักรวมกว่า 58,000 ปอนด์ หรือ ผักโขมแช่แข็งของนิวซีแลนด์ พบการปนเปื้อนเชื้อลิสทีเรีย (Listeria monocytogenes) ทำให้หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารของนิวซีแลนด์ (NZFS) รายงานความเสี่ยงที่ผลิตภัณฑ์อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง และเรียกคืนสินค้า
สถานการณ์ด้านความปลอดภัยอาหารในประเทศไทย
ย้อนกลับมาดูประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมาได้เผชิญกับปัญหาด้านอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่อง อย่างจากกรณีหมูเถื่อนที่สร้างความวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร หรือกรณีสุ่มตรวจองุ่นไชน์มัสแคทแล้วพบสารเคมีตกค้าง และสุดท้ายผู้บริโภคคือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความล้มเหลวของกลไกจัดการอาหารที่ไม่ปลอดภัย
อย่างกรณีล่าสุด ที่ทางเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้เผยผลทดสอบสารเคมี จากการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้รวม 255 ตัวอย่างในห้าง 5 แห่ง และตลาดใน 12 จังหวัด ในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้าง 419 รายการ พบว่าผักและผลไม้ที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 75% ในขณะที่ในตลาดสดและห้างค่าส่งพบการตกค้างเกินมาตรฐาน 61% (ดูรายละเอียดผลการตรวจทั้งหมดได้ที่ https://thairasfs.com/)
![สารเคมีตกค้างในผักผลไม้](https://www.tcc.or.th/wp-content/uploads/2025/02/475271656_1045150387650369_3350634971555705363_n-1200x643.jpg)
แม้จะมีการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ แต่หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยอาหารกลับไม่มีมาตรการจัดการที่เป็นรูปธรรม ขาดระบบเรียกคืนสินค้า หรือระบบแจ้งเตือนภัยอาหารแบบเรียลไทม์เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคอย่างทันท่วงที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผักผลไม้นำเข้า สารเคมีเพียบ ปัญหาระบบ
ความต่างจัดการอาหารไม่ปลอดภัย ถึงเวลารีบปัดฝุ่น พ.ร.บ.อาหาร
ถึงเวลายกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารในไทย
ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้น สภาผู้บริโภคได้เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เพื่อให้มีกลไกจัดการอาหารที่ไม่ปลอดภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับมาตรการที่หลายประเทศดำเนินการ หนึ่งในแนวทางสำคัญคือการมี ระบบเรียกคืนอาหารที่มีโครงสร้างชัดเจน เมื่อพบอาหารที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ต้องมีแผนปฏิบัติการนำออกจากตลาดอย่างเป็นระบบ แทนที่จะเป็นเพียงการให้คำแนะนำทั่วไป
บทบาท อบต.ในการดูแลความปลอดภัยของอาหาร
นอกจากนี้ อีกหนึ่งในหน่วยงานที่สามารถมีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวังและจัดการปัญหาความปลอดภัยด้านอาหารคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหารในพื้นที่ของตัวเอง อบต. สามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขและภาคประชาชนเพื่อ สุ่มตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร ที่จำหน่ายในตลาดสด ร้านอาหาร และโรงเรียน พร้อมทั้งจัดทำ ฐานข้อมูลสินค้าที่อาจมีความเสี่ยง และแจ้งเตือนผู้บริโภคในระดับท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหน่วยงานประจำจังหวัด สภาผู้บริโภค ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำร่องใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสตูล ผลักดันระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชนในด้านการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน ยาไม่ปลอดภัย การโฆษณาชวนเชื่อ การเฝ้าระวังเรื่องฉลากอาหาร หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานในชุมชน พร้อมหวังขยายครบทั่วพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วไทย