สภาผู้บริโภค พร้อมผู้เสียหายจากกรณี ‘ฟ้องตึกสูงซอยแคบ’ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมร่วมกับ จนท.เขตพญาไท ตามคำไต่สวนศาลปกครอง ก่อนศาลจะมีคำสั่งรับคำขอวิธีการชั่วคราว
จากกรณีที่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างโครงการ “เดอะ มูฟ ประดิพัทธ์ (The Muve Pradipat)” หรือชื่อโครงการเดิม คือ เอส-ประดิพัทธ์ ในซอยประดิพัทธ์ 23 ของบริษัท แสนสิริ โฮลดิ้ง ซิกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบ เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการดังกล่าว รวมถึงการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนผู้อยู่อาศัยเดิม อีกทั้ง การยื่นคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราวร่วมด้วยนั้น (อ้างอิงข่าว : https://www.tcc.or.th/sue-administrativecourt-skyscraper/)
วันที่ 19 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภคและผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างโครงการดังกล่าว รวมถึงเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตพญาไท เจ้าหน้าที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และเจ้าหน้าที่ของโครงการฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมบริเวณโครงการฯ ตามคำไต่สวนของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาก่อนจะมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอวิธีการชั่วคราว โดยศาลกำหนดให้มีการตรวจสอบว่าโครงการฯ ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA) ในการป้องกันเหตุที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งความดังของเสียงรบกวน แรงสั่นสะเทือน และฝุ่นละอองให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ก่อสร้าง หรือไม่
ในการตรวจสอบ ตัวแทนโครงการฯ ได้พาตัวแทนผู้เสียหายพร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเดินเท้าเจ้าตรวจสอบภายในตัวโครงการฯ ขณะก่อสร้าง และเจ้าหน้าที่จาก สผ. ได้ดำเนินการติดเครื่องวัดเสียงและแรงสั่นสะเทือนและเครื่องวัดฝุ่น ภายในบ้านของผู้เสียหายเพื่อตรวจวัดค่าต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยเดิม
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนผู้เสียหายที่เข้าตรวจสอบภายในโครงการฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่ก่อสร้างเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงข้างต้นของครั้งนี้มีความผิดปกติ เนื่องจากเดิมการดำเนินงานก่อสร้างของโครงการฯ จะมีเสียงรบกวนจากเครื่องจักรก่อสร้างมาโดยตลอด รวมถึงจะมีแรงสั่นสะเทือนจากการก่อสร้างจนรู้สึกได้ว่าบ้านสั่น แต่เมื่อมีการลงพื้นที่ตรวจสอบกลับมีเสียงการก่อสร้างที่เบาลง นอกจากนี้ที่ผ่านมาการก่อสร้างทำให้ผนังและพื้นที่ใกล้บริเวณก่อสร้างเกิดรอยร้าว รวมถึงยังพบปัญหาเรื่องกลิ่นของห้องน้ำของพื้นที่ก่อสร้าง การได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงภายในพื้นที่ก่อสร้างนั้นเป็นเพียงการสำรวจตามจุดที่โครงการฯ กำหนดไว้เท่านั้น รวมถึงคำถามที่หน่วยงานสอบถามยังเป็นคำถามที่ถูกกำหนดประเด็นคำถามไว้อยู่แล้ว
“เขาได้วางแนวที่จะพาเราเดินสำรวจอยู่แล้ว ขณะที่การถามคำถามก็จะถูกกำหนดไว้เพียงคำถามตามประเด็นเฉพาะที่ศาลสั่ง ซึ่งจริง ๆ ผู้เสียหายต้องการถามคำถามที่นอกเหนือจากนั้น เนื่องจากผู้เสียหายที่อาศัยอยู่โดยรอบต้องการทราบว่าทําไมเขาถึงเสียหายตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มสร้าง นอกจากนี้การเข้าไปสำรวจพบว่าบ้านของผู้เสียหายที่เป็นผู้ฟ้องคดีถูกพื้นที่ก่อสร้างสร้างอย่างประชิดด้านหลังบ้านเลย แต่กลับไม่มีการปักชีทไพล์หรือแผ่นเหล็กขนาดใหญ่เพื่อกันดินพังใกล้กับบ้านของผู้เสียหาย โดยโครงการฯ อ้างว่าเป็นจุดที่ไม่สำคัญเนื่องจากเป็นจุดที่ขุดดินตื้นมาก ซึ่งความเป็นจริง คือ ไม่ว่าจะเป็นจุดที่ลึกหรือตื้น จะต้องมีการปักชีทไพล์เพื่อการป้องกันดินเคลื่อนตัว ซึ่งปัญหาดินเคลื่อนตัวเป็นสาเหตุที่ทำให้ผนังบ้านเกิดการทรุดตัว” ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับความเสียหายที่อาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่ก่อสร้าง ระบุว่า ปัญหาจากการก่อสร้างได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้อาศัยเดิม จากที่สามารถเปิดหน้าต่าง หรือเดินเล่นรอบบริเวณบ้านเพื่อรับลม แต่ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างก็ไม่สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างเคย เพราะปัญหาฝุ่นจากการก่อสร้าง ทำให้ไม่สามารถตากผ้าได้อย่างเคย ต้องใช้เครื่องอบผ้าแทน และต้องอาศัยอยู่ในบ้าน โดยอาศัยความเย็นจากเครื่องปรับอากาศแทนลมจากธรรมชาติ ซึ่งส่งผลต่อค่าไฟที่อาจเพิ่มขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม หลังจากการสำรวจข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพญาไทต้องกลับไปทำรายงานข้อเท็จจริงเพื่อนำส่งต่อศาลปกครองภายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ตามคำไต่สวนข้างต้น ซึ่งสภาผู้บริโภคจะรายงานความคืบหน้าให้ผู้บริโภคทราบต่อไป