ไฟดูด อาจารย์ ม.หาดใหญ่ ไม่ใช่เหตุน้ำท่วม แต่เหตุรัฐปล่อยปละ

หนึ่งในโศกนาฏกรรมของเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้คือการเสียชีวิตของอาจารย์มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ แต่สาเหตุการตายไม่ได้มาจากการจมน้ำ แต่เกิดจากการโดนไฟดูดขณะไปปิดประตูบ้านในหมู่บ้านที่ติดตั้งสายไฟภายนอกต่ำกว่ามาตรฐาน คำถามคือเหตุใดภาครัฐจึงไม่มีการตรวจสอบ

จากกรณีอาจารย์มหาวิทยาลัยหาดใหญ่เสียชีวิตหลังถูกไฟดูดขณะลุยน้ำท่วมไปปิดประตูรั้ว สาเหตุเบื้องต้นพบว่าสายไฟมีส่วนชำรุดถึงเส้นทองแดงและคาดว่าประตูเหล็กอาจไปสัมผัสสายไฟดังกล่าว สะท้อนความบกพร่องกระบวนการติดตั้งสายไฟและอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานของหมู่บ้านนั้น

ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และอยู่อาศัย สภาผู้บริโภค ชี้ว่า กรณีข้างต้นเป็นความผิดของโครงการบ้านจัดสรรที่ใช้สายไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการใช้งานกลางแจ้ง ซึ่งสายไฟที่ใช้ภายนอกต้องมีฉนวนกันน้ำที่มีคุณภาพเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วเข้าไปในสายไฟ โดยปัญหาที่เกิดขึ้นความบกพร่องของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เนื่องจากการต่อสายไฟเข้าบ้านนั้นเป็นหน้าที่ของการไฟฟ้า ที่ต้องตรวจสอบว่าโครงการใช้สายไฟที่คุณภาพหรือไม่ เพราะหากไม่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนด การไฟฟ้าจะไม่อนุมัติการจ่ายไฟ

“กรณีนี้เจ้าของโครงการต้องรับผิดชอบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะสายไฟที่คุณมาต่อเข้าบ้านให้ลูกค้า และเอาไปขายเอาเงินเขามา มันต้องมีคุณภาพ คุณขายบ้านหลังหนึ่งไม่ใช่หลักหมื่น แต่การจะเดินสายไฟเข้าบ้าน การไฟฟ้าก็ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบด้วย แต่กรณีนี้ทำไมการไฟฟ้าถึงปล่อยผ่านไปได้” ก้องศักดิ์ ระบุ

ทั้งนี้ เหตุการณ์การเสียชีวิตของอาจารย์มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องในการติดตั้งระบบไฟฟ้าและการขาดการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด แต่ปัญหาเช่นนี้ยังพบเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีไฟดูดที่เกิดจากตู้กดน้ำดื่มในโรงเรียน ไฟรั่วจากเสาไฟฟ้าส่องสว่างกลางถนน หรือกรณีนักเรียนถูกไฟฟ้าดูดบริเวณป้ายรถเมล์จนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งปัญหาไฟฟ้าล้วนส่งผลกระทบถึงชีวิตของประชาชนทั้งสิ้น

“แค่สายไฟที่อยู่บนดินมองเห็นบำรุงรักษาง่าย เรายังเจอคนเสียชีวิตทุกปี แล้วปีหนึ่งมีคนเสียชีวิตกี่คน จากการทำงานของภาครัฐ จะให้เราเชื่อวิธีการทำงานได้อย่างไร และหากมองเรื่องปัญหาสายไฟที่รุงรัง สาเหตุไม่ใช่จากสายไฟฟ้า แต่ 90 เปอร์เซ็นต์คือสายสื่อสารสายที่ไม่ใช้ แล้วพอมีผู้บริการคนใหม่ก็เดินสายใหม่ สายเก่าก็ปล่อยพันกันไปอย่างนั้น ทุกคนรู้ปัญหานี้ แต่ไม่มีใครแก้” อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ สภาผู้บริโภค

ประเด็นการทำงานที่ละเลยหน้าที่ของภาครัฐ อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ สภาผู้บริโภค ยังได้ตั้งคำถามถึงมาตรฐานการป้องกันความเสี่ยงต่อประเด็นการเอาสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้าที่ทำอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร ที่แม้ว่าการไฟฟ้าจะบอกว่ามีการใช้สายไฟกันน้ำ มีฉนวนหุ้ม หรือมีมาตรฐานการป้องกัน แต่ไม่มีการออกมาอธิบายโดยละเอียด ทั้งนี้ หากเกิดจุดรั่วไหลของไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นจากความบกพร่องในการติดตั้ง หรืออุปกรณ์ อาจก่อให้เกิดผลกระทบถึงชีวิตได้ ซึ่งประเด็นนี้ประชาชนมีสิทธิตั้งคําถามและมีสิทธิได้รับรู้ข้อเท็จจริง       

ทั้งนี้ การเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐมีความรับผิดชอบไม่ใช่เรื่องของการจับผิด แต่เป็นการปกป้องสิทธิ และตรวจสอบการทำงานที่อาจส่งผลกระทบถึงชีวิตและความปลอดภัย หน่วยงานรัฐจึงควรตอบสนองด้วยความโปร่งใส ชี้แจงรายละเอียดอย่างครบถ้วน และมีมาตรการป้องกันที่เป็นรูปธรรม

“ผู้บริโภคมีสิทธิสอบถามและหน่วยงานจำเป็นต้องตอบทุกข้อสงสัย เพราะสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบถึงชีวิตผู้บริโภค ไม่ใช่การทาสีแล้วแก้ไขได้ หรือฉาบปูนฟุตปาธไม่ดีเดินเตะสะดุดไม่ถึงตาย ปัญหาฟุตบาทเป็นปัญหาที่รื้อแล้วรื้ออีก ขนาดเรื่องเล็ก ๆ พวกคุณก็ยังทำได้ไม่ดี แต่เรื่องไฟฟ้าหากพลาดมันส่งผลถึงชีวิต และที่ผ่านมาการทำงานของภาครัฐ ทำให้เราต้องตั้งคําถามและไว้ใจไม่ได้” ก้องศักดิ์ ระบุ

ท้ายสุด ก้องศักดิ์เน้นย้ำว่า ความสำคัญอยู่ที่การป้องกันมากกว่าการแก้ตัวหรือจ่ายค่าชดเชย การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความตระหนักและกดดันให้หน่วยงานรัฐปรับปรุงการทำงาน หากประชาชนเพิกเฉยหรือเฉยชา ไม่ตั้งคำถามหรือเรียกร้องใด ๆ จะไม่เพียงแต่เสียสิทธิ แต่อาจเสียชีวิตจากความบกพร่องที่สามารถป้องกันได้ การมีส่วนร่วมและการตรวจสอบจึงเป็นกลไกสำคัญในการปกป้องความปลอดภัยของสังคม