สุดทน! วิกฤติปล้นออนไลน์ ทางแก้ 8 ข้อ ล้อมกรอบมิจฉาชีพ

สภาผู้บริโภค เร่งธนาคารแห่งประเทศไทย เสนอ 8 ข้อ แก้ปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน ระบุไทยมีมาตรการ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคด้านการเงิน – ธนาคารหลายอย่าง แต่ขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เสนอเพิ่มหน่วยงานกลางจัดการเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค และโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค เข้าหารือร่วมกับภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลภัยทุจริตทางการเงินและยื่นข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้กับ ธปท.

อิฐบูรณ์ ระบุว่า สถานการณ์ปัญหาภัยทุจริตทางการเงินมีรูปแบบการหลอกลวงที่หลากหลายและพัฒนารูปแบบการหลอกลวงอย่างต่อเนื่อง เช่น การหลอกลวงขายสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ หรือการหลอกขายสินค้าแต่ไม่ส่งสินค้า การหลอกให้โอนเงิน การหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงินหรือเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด การหลอกลวงให้ลงทุน หรือการหลอกลวงทางโทรศัพท์ให้โอนเงินโดยทำเป็นขบวนการ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก และผู้หลอกลวงได้โอนทรัพย์สินที่ได้จากการหลอกลวงผ่านบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลอื่นต่อไปเป็นทอด ๆ อย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปี 2565 พบว่า มีผู้แจ้งความทางออนไลน์เกี่ยวกับมิจฉาชีพหลอกลวงกว่า 140,000 คดี และมีมูลค่าความเสียหายกว่า 66,000 ล้านบาท

ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงมี 8 ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงินให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณา ดังนี้

1. ขอให้ติดตามการทำหน้าที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจให้เป็นไปตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และให้มีมาตรการลงโทษสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจหากไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ก. ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค ตลอดจนให้มีมาตรการรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น

2. ขอให้กำหนดหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยาความสียหายแก่ผู้บริโภคเต็มจำนวน หากภัยทุจริตทางการเงินนั้นไม่ได้เกิดจากผู้บริโภค ได้แก่ผู้บริโภคถูกแฮกโอนเงิน ผู้บริโภคถูกหลอกโอนเงิน ผู้บริโภคถูกโอนเงินจากบัญชีฝากประจำ

3. ขอให้ออกหลักเกณฑ์ควบคุมการโอนเงินระหว่างประเทศโดยกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำในการโอนเงิน

4. ขอให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดบัญชีเงินผ่านร้านสะดวกซื้อและบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ให้เข้มงวด เพื่อป้องกันการเปิดบัญชีทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่สุจริต (บัญชีม้า)

5. ขอให้ออกหลักเกณฑ์กำหนดให้บุคคลมีบัญชีเงินฝากไม่เกิน 5 บัญชี

6. ขอให้กำหนดหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงินตั้งกองทุน หรือทำหลักประกันคุ้มครองความเสียหายในการฝากเงินกับสถาบันการเงินกรณีเกิดภัยทุจริตทางการเงิน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลรักษาเงินของผู้บริโภคและสามารถเยียวยาความเสียหายของผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นทันที

7. ขอให้จัดให้มีเบอร์โทรสายด่วนแจ้งเหตุภัยทุจริตทางการเงินหมายเลขเดียวแจ้งได้ทุกธนาคารและให้มีศูนย์อำนวยการในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงินร่วมกันโดยมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารแต่ละธนาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจในการสั่งการแก้ไขปัญหาและระงับการทำธุรกรรมทางการเงินภายในเวลาไม่เกิน 3 นาที หลังจากผู้บริโภคแจ้งเหตุภัยทุจริตทางการเงิน ตลอดจนติดตามเงินคืนให้แก่ผู้บริโภค

8. ขอให้มีระบบการแจ้งเตือนหมายเลขบัญชีที่ต้องสงสัยที่ถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิด (ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หรือ High Risk) ให้แก่ผู้บริโภคทราบก่อนการโอนเงิน เพื่อป้องกันการโอนเงินไปยังบัญชีที่ต้องสงสัย


ด้าน โสภณ กล่าวว่า การเยียวยาผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลจากงานวิจัย ‘การเยียวยาผู้บริโภคจากภัยทุจริตทางการเงินในต่างประเทศ’ พบว่า ในสหราชอาณาจักรมีกลไกที่น่าสนใจในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ประสบปัญหาการถูกฉ้อโกง โดยการใช้จรรยาบรรณแบบสมัครใจประเภทหนึ่งที่ชื่อว่า Authorised Push Payment Scam Code (APP Code) หรือ The Contingent Reimbursement Model (CRM) Code ที่ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผู้บริโภคโอนเงินไปให้ผู้มิจฉาชีพ ขณะที่ธนาคารที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการและนำจรรยาบรรณมาปฏิบัติตาม จะต้องคืนเงินให้กับผู้เสียหายของธนาคารนั้น ๆ ทั้งนี้ ยังจะมีการเสนอร่างกฎหมายที่จะมีผลใช้บังคับในปี พ.ศ. 2567 โดยได้นำหลักเกณฑ์ที่มีการกำหนดให้สถาบันการเงินทุกแห่งมีหน้าที่ต้องชดใช้เงินคืนให้ผู้เสียหายโดยให้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันคนละครึ่งระหว่างสถาบันการเงินที่โอนเงินไป และสถาบันการเงินที่รับโอนเงิน ซึ่งวิธีข้างต้นอาจเป็นวิธีที่นำมาใช้เพื่อให้เกิดการเยียวยากับผู้บริโภคในไทยที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าวได้

ส่วนประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้บังคับกฎหมายการเงินอยู่แล้ว (กฎหมายว่าด้วยการปกป้องทางการเงินของผู้บริโภค พ.ศ. 2563 หรือ Act on the Protection of Financial Consumers พ.ศ. 2563 ) และได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์และหน้าที่ความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจสถาบันการเงินที่ชัดเจน ประกอบกับได้มีการประกาศใช้กฎหมายที่กำหนดกลไกให้อำนาจสถาบันการเงินในการระงับการถอนและโอนเงินของบัญชีที่มีการโอนเงินไปมีกลไกในการจัดการชดใช้เงินให้กับผู้เสียหาย (กฎหมายพิเศษว่าด้วยการป้องกันการสูญเสียที่เกิดจากการการหลอกลวงทางการเงินผ่านระบบเทคโนโลยี่สื่อสาร และให้มีการชดเชยความเสียหาย ) (Special Act on the Prevention of Loss Caused by Telecommunications-based Financial Fraud and Refund for Loss แก้ไขล่าสุดปี พ.ศ. 2561)

จากการศึกษากฎหมายของต่างประเทศพบว่า ปัญหาการฉ้อโกงเป็นปัญหาที่ทุกประเทศกำลังเผชิญและกำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้มีการประกาศใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปแล้ว โดยพ.ร.ก.ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้น ถือว่าเป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อปราบปรามการกระทำการฉ้อโกงทางการเงินออนไลน์

“จากการศึกษากฎหมายของต่างประเทศเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศไทยพบว่า แม้ประเทศไทยจะมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการเงินการธนาคารแล้ว แต่ก็ยังขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นเอกภาพ พร้อมทั้งกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการเงินและการธนาคารที่ครอบคลุมปัญหาอย่างรอบด้าน” โสภณ กล่าวและว่า อีกทั้งควรต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้มีหน่วยงานกลางที่ดูแลเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการเงินการธนาคารที่มีอำนาจดำเนินการได้อย่างครอบคลุม ซึ่งอาจแยกออกจากหน่วยงานที่รับผิดชอบปัจจุบัน และมีการจัดทำหลักเกณฑ์การคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินที่เป็นระบบชัดเจนและเข้าใจง่าย โดยคำนึงถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม


ขณะที่ ภิญโญ กล่าวว่า ในช่วงที่มีพ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีออกมาในช่วงแรก เห็นว่าอาจมีเหตุขัดข้องในกระบวนการ แต่ปัจจุบันทุกธนาคารสามารถปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น หากผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากภัยทุจริตทางการเงินสามารถติดต่อไปที่ธนาคารและธนาคารจะระงับการทำธุรกรรมให้ทันที โดยสิ่งที่ธนาคารจะแนะนำหลังจากที่ธนาคารระงับบัญชีก็คือการไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ หลังจากนั้นธนาคารจะระงับบัญชีต่อไปได้อีกและตรวจสอบข้อมูลเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคทันที แต่ทั้งนี้หากธนาคารไม่ดำเนินการสามารถแจ้งมาที่ ธปท.ได้

ทั้งนี้ ในข้อเสนอของสภาผู้บริโภคที่ขอให้มีการจัดให้มีเบอร์โทรสายด่วนแจ้งเหตุภัยทุจริตทางการเงินหมายเลขเดียวแจ้งได้ทุกธนาคารและให้มีศูนย์อำนวยการในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงินร่วมกันนั้น ธปท. เห็นว่าอาจทำให้การแจ้งดำเนินการล่าช้าขึ้น และในอนาคตหากการรวมเบอร์สามารถลดขั้นตอนการล่าช้าในกระบวนการได้ ธปท. มีความยินดีที่จะทำเบอร์แจ้งเหตุเป็นเบอร์เดียว เพื่อช่วยลดขั้นตอนของผู้บริโภคในการต้องโทรไปหลายที่

ภิญโญ ยังกล่าวถึงบัญชีม้าอีกว่า ในปัจจุบันมีบัญชีม้าที่ตรวจจับได้เพิ่มขึ้นทุกเดือน เมื่อมีกฎหมายที่สามารถแบ่งข้อมูลกันระหว่างธนาคารได้จะช่วยเพิ่มการตรวจจับบัญชีม้าได้และหากมีการตรวจจับบัญชีม้าเจอ บัญชีม้าจะไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินและเปิดบัญชีใหม่ผ่านธนาคารไหนได้อีก

ในส่วนของการเยียวยาผู้เสียหาย ธปท. กำลังศึกษาและดูทิศทางผลกระทบ ในตอนนี้การเยียวยาเป็นแบบให้ธนาคารพิจารณาเป็นรายกรณี ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้ง 8 ข้อที่สภาผู้บริโภคยื่นให้กับ ธปท. จะนำกลับไปพิจารณาหารือกันต่อไป หากมีความคืบหน้าอย่างไร ธปท. จะเชิญสภาผู้บริโภคร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหา และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะทำงานร่วมกับสภาผู้บริโภคเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงินต่อไปเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

ทั้งนี้ ในข้อเสนอของสภาผู้บริโภคที่ขอให้มีการจัดให้มีเบอร์โทรสายด่วนแจ้งเหตุภัยทุจริตทางการเงินหมายเลขเดียวแจ้งได้ทุกธนาคารและให้มีศูนย์อำนวยการในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงินร่วมกันนั้น ธปท. เห็นว่าอาจทำให้การแจ้งดำเนินการล่าช้าขึ้น เพราะในประเทศไทยมีธนาคารอยู่หลายแห่ง ต้องมีเลขภายในเพื่อเชื่อมไปธนาคารนั้น ๆ แต่กว่าจะพูดชื่อทุกธนาคารจบ ทำให้ล่าช้าเกินไป และในอนาคตหากการรวมเบอร์สามารถลดขั้นตอนการล่าช้าในกระบวนการได้ ธปท. มีความยินดีที่จะทำเบอร์แจ้งเหตุเป็นเบอร์เดียว เพื่อช่วยลดขั้นตอนของผู้บริโภคในการต้องโทรไปหลายที่

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค