จากปัญหาที่ผู้ฝากเงินกับธนาคารถูกมิจฉาชีพแฮกหรือดูดเงินในบัญชี บางรายเสียหายถึงขั้นถูกดูดเงินจนหมดบัญชี สภาผู้บริโภคเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะปฏิเสธความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคไม่ได้ เพราะธนาคารถือเป็นบริการรับฝากเงินของประชาชนที่จะต้องมีมาตรการระมัดระวังป้องกันอย่างยิ่งยวดมิให้เงินของประชาชนที่นำมาฝากถูกโจรกรรมได้
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการจัดการภัยทางการเงินในลักษณะดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการงดส่งลิงก์ทุกประเภทผ่านข้อความสั้น (SMS) หรืออีเมล งดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และเลขบัตรประชาชน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มีการจำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งานบนการทําธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (โมบายแบงก์กิ้ง : Mobile Banking) โดยให้แต่ละบัญชีสามารถใช้ได้ใน 1 อุปกรณ์เท่านั้น และต้องมีการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง
รวมถึงพัฒนาระบบความปลอดภัยบนโมบายแบงก์กิ้งและยกระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตน ทั้งการสแกนใบหน้า เมื่อมีการเปิดบัญชีโดยผ่านแอปพลิเคชัน แต่ทั้งนี้ธนาคารยังไม่ได้กล่าวถึงมาตรการชดเชยเยียวยาต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ฝากเงินที่ถูกโจรกรรมเงินไปแล้วแต่อย่างใด
ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค ครั้งที่ 3/2566 คณะอนุกรรมการด้านการเงินฯ ได้วิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกา ในประเด็นปัญหาที่ถูกมิจฉาชีพโจรกรรมเงินจากบัญชีและถูกธนาคารปฏิเสธความรับผิดชอบที่จะคืนเงินให้ ซึ่งคำพิพากษาศาล ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ต้องรับผิดชดใช้เงินเพียงบางส่วนให้เจ้าของบัญชี เนื่องจากเห็นว่าเงินที่สูญหายเป็นความบกพร่องของผู้บริโภคร่วมด้วย
ขณะที่คณะอนุกรรมการด้านการเงินฯ ได้ระบุว่า ความเสียหายดังกล่าวเหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 ทำให้ผู้เสียหายต้องใช้เวลาต่อสู้กว่า 4 ปีกว่าจะมีคำพิพากษาลักษณะนี้ออกมา แต่อย่างไรก็ตามความเสียหายยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและสภาผู้บริโภคยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ช่วยฟ้องคดีกับธนาคารด้วย
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านการเงินฯ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางคุ้มครองผู้บริโภคที่จะเสนอเพิ่มเติมต่อธนาคารแห่งประเทศไทย คือ การออกระเบียบบังคับให้สถาบันการเงินทุกประเภทซื้อประกันภัยความรับผิดชอบจากเงินที่สูญหายในทุกกรณี (Liability Insurance) เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดจากการโจรกรรมทางไซเบอร์ และให้บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าความเสียหายให้ลูกค้าอย่างไม่มีเงื่อนไข
หลังจากนี้สภาผู้บริโภค จะนัดหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันมาตรการเยียวยาเหยื่อถูกแฮกดูดเงินบัญชีธนาคาร