8 เมษา จับตาอีกครั้ง คำพิพากษา 4 กสทช. คดีบอลโลก กระทบผู้บริโภค

Getting your Trinity Audio player ready...

คำพิพากษาคดีนายไตรรัตน์ รักษาการเลขาธิการ กสทช. ฟ้อง 4 กสทช. วันอังคารที่ 8 เมษา นี้ ข้อหาผิด 157 เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการที่ผู้บริโภคสื่อไม่สามารถรับชมถ่ายทอดบอลโลกปี 2565 ได้ ชวนผู้บริโภคที่เสียสิทธิดังกล่าวร่วมติดตามคดี

อีกครั้งหนึ่งที่สังคมต้องร่วมกับจับตา คำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่จะออกมาในวันอังคารที่ 8 เมษายน 2568 นี้ ในคดีนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฟ้องกรรมการ กสทช.

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (จำเลยที่ 1) ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต (จำเลยที่ 2) รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย (จำเลยที่ 3) รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ (จำเลยที่ 4) และ ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. (จำเลยที่ 5) ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ซึ่งสภาผู้บริโภคเห็นว่าคำพิพากษาในคดีนี้อาจส่งกระทบต่อกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคขององค์กรอิสระที่มีหน้าที่รักษาประโยชน์ผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษากรณีบริษัททรูไอดี ฟ้อง กสทช. ศ.ดร.พิรงรอง โดยศาลพิพากษาจำเลยมีความผิดตามมาตรา 157 ให้มีโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งผลการพิพากษาทำให้เกิดการวิพากวิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ กสทช. พิรงรองโดนลงโทษจากการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคที่ได้ร้องเรียนเข้ามาตามกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนของกสทช. (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ลุ้นคำพิพากษา กสทช.พิรงรอง 6 ก.พ.นี้)

ในประเด็นนี้ นักวิชาการและสื่อมวลชนต่างมีความเห็นตรงกันว่า ผลกระทบต่อการลงโทษรุนแรงต่อ กสทช. พิรงรองจะทำให้เกิดความหวั่นเกรงกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐบาลต่าง ๆ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลกฎระเบียบในการคุ้มครองผู้บริโภคและอาจทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นปล่อย “เกียร์ว่าง”

ทั้งนี้ ในส่วนของการพิจารณาเนื้อหาคดีที่นายไตรรัตน์ฟ้อง กรรมการ กสทช. ทั้งสี่นั้น สืบเนื่องมาจากกรณีที่มีผู้บริโภคสื่อจำนวนมากไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดฟุตบอลโลก ในปี 2565 ทั้งที่ กสทช. ได้สนับสนุนงบซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอด FIFA World Cup Final 2022 เป็นจำนวนเงิน 600 ล้านบาท โดยเป็นการบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงาน กสทช. และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มีสาระสำคัญ คือ กกท. มีหน้าที่บริหารจัดการสิทธิที่ได้รับจาก FIFA ให้มีการออกอากาศที่ครอบคลุมกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ทุกประเภทอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติเพื่อให้สาธารณะได้รับชมการถ่ายทอดสดอย่างทั่วถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ต่อมาปรากฏว่า กกท. ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมมือกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีข้อกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับระเบียบ ประกาศ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และไม่สอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ที่ กกท. ทำไว้กับสำนักงาน กสทช. จนทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดสด เพราะสิทธิการหาประโยชน์จากการถ่ายทอดสดอยู่ในมือบริษัทเอกชน จึงมีคำถามต่อมาว่า เหตุใด กกท. จึงได้มีการทำบันทึกกับเอกชนที่ขัดหรือแย้งกับบันทึกข้อตกลงที่ กกท.ทำไว้กับสำนักงาน กสทช. โดยที่ไม่มีการเสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาก่อนการดำเนินการ

ขณะนั้นได้มีการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย” ซึ่งคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้หนึ่งในข้อสรุปที่พบว่า การดำเนินการของการกระทำของนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย อาจมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุม กสทช.

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ในการประชุมคณะกรรมการ กสทช. คณะกรรมการ กสทช. ทั้งสี่คนได้มีมติเสียงข้างมากให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนายไตรรัตน์ และเปลี่ยนตัวรองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น ซึ่งเป็นที่มาของการที่นายไตรรัตน์ได้ฟ้อง กสทช. ทั้งสี่ ในความผิดมาตรา 83, 86 และ 157

ทั้งนี้ จากรายงานสรุปของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มีผู้ได้รับผลกระทบในช่วงถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ดังนี้ สมาชิก IPTV ในบริษัทวิทยุโทรทัศน์ดาวเทียม จำนวน 50,000 ราย, ผู้รับชมผ่านระบบไอพีทีวีของบริษัท จีบรอดคาสต์ จำนวน 1,800 ราย, ผู้รับชมผ่าน PSI จำนวน 1.3 ล้านกล่อง, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) สมาชิกจำนวน 125,345 ราย, ผู้รับชมผ่านกล่อง 3BB จำนวน 570,000 ราย และผู้รับชมผ่าน AIS Playbox กว่า 9 แสนครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาผู้บริโภคสื่อโดนละเมิดสิทธิการรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในปี 2565 ที่เกิดปัญหาจอดำนั้น สภาผู้บริโภคได้ดำเนินการร้องเรียนไปยัง กสทช. ในช่วงเวลาดังกล่าว (อ่านรายละเอียดต่อที่ ยื่น กสทช. บอลโลกรอบสุดท้าย ทุกคนต้องได้ดูฟรี) โดยขอให้ผู้บริโภคสื่อสามารถรับชมรายการถ่ายทอดสดจากทุกระบบที่อยู่ภายใต้การกำกับของ กสทช. ภายใต้กฏมัสต์แครี่ (Must Carry) และ มัสต์แฮฟ (Must Have) เพื่อความเท่าเทียมและทั่วถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเรียกร้องให้ กสทช. ควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการออกมาตรการเยียวยาให้กับผู้บริโภคที่รับชมฟรีในระบบโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต (IPTV) มาโดยตลอด

แต่ปัจจุบันไม่สามารถรับชมรายการตามปกติได้ครบทุกช่อง โดยเฉพาะเนื้อหาการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศที่กำหนดในกฎมัสต์แฮฟ ส่งผลให้กระทบสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน เช่น การเยียวยาสนับสนุนอุปกรณ์ การรับสัญญาณดิจิทัลทีวีให้กับครัวเรือนที่ต้องการ โดยใช้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาสนับสนุนตามหลักการ โดยขอให้ กสทช. สรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางแก้ปัญหา เยียวยาผู้บริโภคในปัจจุบัน และป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดอีกในการแข่งขันบอลโลก ปี 2026

ด้วยผลกระทบที่เกิดกับผู้บริโภคในกรณีดังกล่าว สภาผู้บริโภคจึงเห็นความสำคัญที่สังคมควรร่วมกันติดตามคำพิพากษาในคดีนี้ ที่เกี่ยวพันโดยตรงกับภารกิจของ กสทช. ที่ต้องรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 40 ที่กำหนดให้ “คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ”