ซื้อขายของออนไลน์แล้วโดนโกง ควรดำเนินการอย่างไร

เมื่อซื้อขายของออนไลน์แล้วโดนโกง ควรทำดังนี้

1. การแจ้งความดำเนินคดี ควรแจ้งให้เร็วที่สุดหรือภายใน 3 เดือนนับแต่เกิดเหตุ หรือถูกผิดนัดส่งมอบสินค้า เนื่องจากคดีฉ้อโกงเป็นความผิดอันยอมความได้ และมีอายุความเพียง 3 เดือน โดยนำพยานหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความ พร้อมระบุว่า “ขอให้ดำเนินคดีจนถึงที่สุด” ไม่ใช่แค่ลงบันทึกประจำวัน และควรขอถ่ายเอกสารใบแจ้งความที่มีเลขที่เอกสารและตราครุฑเก็บไว้

1.1 พยานหลักฐานที่ต้องนำไปแจ้งความ

  • ภาพโปรไฟล์ของผู้ขายสินค้า
  • โพสต์ที่ประกาศขายสินค้า
  • ข้อความการพูดคุยระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
  • บัญชีของร้านค้าที่ได้โอนเงินไป และสำเนาบัญชีของผู้แจ้งความ
  • สลิปการโอนเงินชำระค่าสินค้า หรือใบนำฝากที่จ่ายให้ร้านค้า
  • ลิงก์ URL ของเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียทุกช่องทางของร้านค้า
  • สำเนาบัตรประชาชน

1.2 ข้อหาที่ใช้แจ้งความ

  • ปัญหาซื้อของแล้วไม่ได้ของ ถือเป็นความผิดข้อหาฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ที่ว่า การทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยข้อความที่เป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกและแจ้งให้ทราบ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจะมีอายุความ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่รู้เรื่องกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด
  • หากทราบว่าในหน้าเพจหรือโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลผู้เสียหายจำนวนมาก สามารถแจ้งความในข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน” ได้ด้วย  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 ที่ว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ…” ซึ่งความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดต่อแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความได้ ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวเหมือนฉ้อโกงธรรมดา ดังนั้นจึงมีอายุความ 10 ปี 
  • การใช้ข้อความ รูปภาพสินค้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นข้อมูลปลอมหรือเท็จเพื่อหลอกลวงให้ได้รับความเสียหาย ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14  ที่ว่า “การนำเข้าซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ หลอกลวง ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีอายุความ 10 ปี”

2. การขอให้อายัดบัญชี

  • ให้ตำรวจดำเนินการ
    ในตอนที่ไปแจ้งความ เราสามารถแจ้งให้พนักงานสอบสวนออกคำสั่ง “อายัดบัญชี” ได้ จากนั้นพนักงานสอบสวนจะส่งเลขบัญชีให้ธนาคารตรวจสอบเพื่อดำเนินการอายัดบัญชี
  • ไปดำเนินการเองที่ธนาคาร
    ให้นำใบแจ้งความที่ถ่ายสำเนาเอกสารไว้ นำไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ธนาคารของบัญชีที่ได้โอนเงินไปให้ (บัญชีรับเงิน) สาขาใดก็ได้  จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้กรอกเอกสารพร้อมระบุว่าต้องการได้เงินคืน แล้วเจ้าหน้าที่จะนำไปตรวจสอบเพื่อดำเนินการอายัดบัญชีดังกล่าว

สามารถดำเนินการแจ้งความได้ที่

  • สถานีตำรวจใกล้บ้าน
  • สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ (สน.ที่ได้โอนเงิน)
  • กองบังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ tcsd.go.th หรือโทร. 02-143-8447, 02-143-8763
  • กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคาร B ชั้น 4 โทร. 02-143-9225 สายด่วน 1135

หากไม่ได้รับความสะดวกในการดำเนินการ หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ติดต่อ

ศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) อีเมล : [email protected] หรือ inbox Facebook : สภาองค์กรของผู้บริโภค