ถามมาตอบไปปัญหาผู้บริโภค 8 ด้าน

คำถามที่พบบ่อย

โดนโกงซื้อของออนไลน์ ร้องทุกข์-ร้องเรียน และดำเนินการอย่างไร

เมื่อซื้อขายของออนไลน์แล้วโดนโกง ควรทำดังนี้

1. การแจ้งความดำเนินคดี ควรแจ้งให้เร็วที่สุดหรือภายใน 3 เดือนนับแต่เกิดเหตุ หรือถูกผิดนัดส่งมอบสินค้า เนื่องจากคดีฉ้อโกงเป็นความผิดอันยอมความได้ และมีอายุความเพียง 3 เดือน โดยนำพยานหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความ พร้อมระบุว่า “ขอให้ดำเนินคดีจนถึงที่สุด” ไม่ใช่แค่ลงบันทึกประจำวัน และควรขอถ่ายเอกสารใบแจ้งความที่มีเลขที่เอกสารและตราครุฑเก็บไว้

1.1 พยานหลักฐานที่ต้องนำไปแจ้งความ

  • ภาพโปรไฟล์ของผู้ขายสินค้า
  • โพสต์ที่ประกาศขายสินค้า
  • ข้อความการพูดคุยระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
  • บัญชีของร้านค้าที่ได้โอนเงินไป และสำเนาบัญชีของผู้แจ้งความ
  • สลิปการโอนเงินชำระค่าสินค้า หรือใบนำฝากที่จ่ายให้ร้านค้า
  • ลิงก์ URL ของเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียทุกช่องทางของร้านค้า
  • สำเนาบัตรประชาชน

1.2 ข้อหาที่ใช้แจ้งความ

  • ปัญหาซื้อของแล้วไม่ได้ของ ถือเป็นความผิดข้อหาฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ที่ว่า การทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยข้อความที่เป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกและแจ้งให้ทราบ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจะมีอายุความ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่รู้เรื่องกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด
  • หากทราบว่าในหน้าเพจหรือโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลผู้เสียหายจำนวนมาก สามารถแจ้งความในข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน” ได้ด้วย  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 ที่ว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ…” ซึ่งความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดต่อแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความได้ ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวเหมือนฉ้อโกงธรรมดา ดังนั้นจึงมีอายุความ 10 ปี 
  • การใช้ข้อความ รูปภาพสินค้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นข้อมูลปลอมหรือเท็จเพื่อหลอกลวงให้ได้รับความเสียหาย ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14  ที่ว่า “การนำเข้าซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ หลอกลวง ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีอายุความ 10 ปี”

2. การขอให้อายัดบัญชี

  • ให้ตำรวจดำเนินการ
    ในตอนที่ไปแจ้งความ เราสามารถแจ้งให้พนักงานสอบสวนออกคำสั่ง “อายัดบัญชี” ได้ จากนั้นพนักงานสอบสวนจะส่งเลขบัญชีให้ธนาคารตรวจสอบเพื่อดำเนินการอายัดบัญชี
  • ไปดำเนินการเองที่ธนาคาร
    ให้นำใบแจ้งความที่ถ่ายสำเนาเอกสารไว้ นำไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ธนาคารของบัญชีที่ได้โอนเงินไปให้ (บัญชีรับเงิน) สาขาใดก็ได้  จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้กรอกเอกสารพร้อมระบุว่าต้องการได้เงินคืน แล้วเจ้าหน้าที่จะนำไปตรวจสอบเพื่อดำเนินการอายัดบัญชีดังกล่าว

สามารถดำเนินการแจ้งความได้ที่

  • สถานีตำรวจใกล้บ้าน
  • สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ (สน.ที่ได้โอนเงิน)
  • กองบังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ tcsd.go.th หรือโทร. 02-143-8447, 02-143-8763
  • กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคาร B ชั้น 4 โทร. 02-143-9225 สายด่วน 1135

หากไม่ได้รับความสะดวกในการดำเนินการ หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ติดต่อ

ศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) อีเมล : [email protected] หรือ inbox Facebook : สภาองค์กรของผู้บริโภค

วิธีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทำได้ดังนี้

1. จัดรูปแบบเว็บไซต์ที่เราจะใช้ขายของให้เรียบร้อย ทั้งรูปภาพสินค้า รายละเอียด ราคา พร้อมขั้นตอนและวิธีการชำระเงิน และการจัดส่ง

2. จัดเตรียมเอกสารและยื่นคำขอจดทะเบียนการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่สำนักงานที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีค่าธรรมเนียมในการดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร และดำเนินการตามขั้นตอน เมื่อเสร็จสิ้น ผู้ประกอบการจะได้รับ พค0403 หรือใบทะเบียนพาณิชย์สำหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนพาณิชย์

  • คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.) โดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ https://www.dbd.go.th/ดาวน์แบบฟอร์ม/ทะเบียนพาณิชย์
  • สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ประกอบพาณิชยกิจ หรือทายาทที่ยื่นคำขอแทน หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบดำเนินการในประเทศไทย (กรณีเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ) ซึ่งรับรองความถูกต้องโดยเจ้าของบัตรประจำตัว
  • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ
  • หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
  • สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
  • หนังสือชี้แจง สำหรับร้านที่เปิดมานานแล้ว และไม่ได้ยื่นจดทะเบียนการค้านับตั้งแต่ 30 วัน หลังเปิดร้าน
  • สำเนาใบมรณบัตรของผู้ประกอบพาณิชยกิจ (กรณีถึงแก่กรรม)
  • หนังสือรับฝากบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี (ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล)

สถานที่จดทะเบียนพาณิชย์

กรณีผู้ประกอบการที่มีธุรกิจ ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ 

  • สำนักงานเขต 50 เขต โดยต้องยื่นจดทะเบียนการค้าในเขตธุรกิจที่เราตั้งอยู่เท่านั้น
  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
  • สำนักการคลัง
  • ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

กรณีผู้ประกอบการที่มีธุรกิจตั้งอยู่ต่างจังหวัด

สามารถยื่นจดทะเบียนการค้าได้ที่เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตที่ธุรกิจตั้งอยู่

ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนพาณิชย์

การขอดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทะเบียนพาณิชย์ฯ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามประเภทของการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  • จดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่ 50 บาท
  • จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน ครั้งละ 20 บาท
  • จดทะเบียนยกเลิกประกอบพาณิชยกิจ 20 บาท
  • ขอให้ออกใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ ฉบับละ 30 บาท
  • ขอให้เจ้าหน้าที่คัดลอกสำเนาและรับรองสำเนาเอกสารของผู้ประกอบพาณิชยกิจ (ผู้ประกอบกิจการค้า) ฉบับละ 30 บาท

กฎหมายดูแลการขาย ‘ฟ้าทะลายโจร’ ที่ไม่แสดงฉลาก สวมเลขทะเบียน

“ฟ้าทะลายโจร” ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน จึงสามารถวางจำหน่ายได้ทั่วไปเช่นเดียวกับยาสามัญประจำบ้านชนิดอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาฟ้าทะลายโจรได้อย่างกว้างขวาง แต่เมื่อความต้องการยาสมุนไพรชนิดนี้เพิ่มขึ้น ก็เกิดปัญหายาขาดตลาด ผลิดไม่ทัน เปิดช่องว่างให้ผู้ค้าบางรายฉวยโอกาส ปลอมแปลงฉลาก สวม อย. ผลิตยาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือขายยาฟ้าทะลายโจรเกินราคา

วิธีเลือกยาฟ้าทะลายโจรที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยควรพิจารณาข้อมูลที่สำคัญบนฉลากยา ดังนี้

          1. เลขทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ ที่ขึ้นต้นด้วยอักษรตัว G ทั้งนี้ สามารถนำเลขทะเบียนดังกล่าวไปตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ที่ http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx

          2. ปริมาณสาร andrographolide และขนาดบรรจุ

          3. ข้อมูลของผู้ผลิต

          4. วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ

การเลือกซื้อยาฟ้าทะลายโจร ควรเลือกซื้อกับผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตขายยาแผนโบราณที่ถูกต้องตามกฏหมาย

กรณีพบว่าไม่แสดงฉลากยาจะมีความผิดตามมาตรา 25 จะต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000 บาทแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 105 ของพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510

หากผู้บริโภคเจอยาฟ้าทะลายโจรที่แอบอ้างเลข อย. ของผู้อื่น (สวมทะเบียนยา)  จะมีความผิดตามมาตรา 73 ซึ่งจะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 5 ปีและปรับตั้งแต่ 4,000 บาทถึง 20,000 บาท

หลักฐานประกอบการร้องเรียน

  1. ภาพถ่ายสินค้าที่ไม่แสดงฉลาก หรือแสดงเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์อื่น (หากมี)
  2. ข้อมูลร้านค้า
  3. ใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการโอนเงิน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : สายด่วน อย. โทร 1556

บ.ประกันส่งข้อความขอความยินยอมเปลี่ยน-เลิกสัญญา “เจอ จ่าย จบ” ต้องทำอย่างไร

ข้อความที่ระบุว่าได้เข้าร่วมโครงการตามมาตรการผ่อนผันของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นมาตรการช่วยเหลือบริษัทประกันภัยที่ขาดสภาพคล่องเท่านั้น ยังไม่ส่งผลต่อสิทธิของผู้บริโภคในสัญญาประกันภัย “เจอ จ่าย จบ” แต่อย่างใด หากไม่มีการกดส่งข้อมูล หรือแจ้งยืนยันการเปลี่ยน-เลิกสัญญากลับไป เพราะการเปลี่ยนข้อสัญญาต้องมาจากความสมัครใจทั้ง 2 ฝ่าย บริษัทประกันฯ ไม่มีสิทธิเปลี่ยนข้อสัญญาตามโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกัน

ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังคงมีสิทธิที่จะให้บริษัทประกันภัยต้องปฏิบัติตามสัญญา ตามที่ คปภ. เคยมีคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย

ในปัจจุบันมี 3 บริษัทประกันภัยที่อยู่ภายใต้มาตรการผ่อนผัน ได้แก่ 1) บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) 2) บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ 3) บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

คลิกเพื่ออ่านคำสั่งนายทะเบียน >>> 13523_be0be122d583b9a9c8c821454284a253.pdf (oic.or.th)
คลิกเพื่ออ่านมาตรการผ่อนผัน >>> Office of Insurance Commission | (oic.or.th)
คลิกเพื่ออ่านประกาศรายชื่อบริษัทประกันภัยที่ได้รับการผ่อนผัน >>> Doc_20211105162122000000.pdf (thaigov.go.th)

ทำอย่างไรดี? ชำระหนี้ครบแล้วแต่เจ้าหนี้ไม่คืนโฉนดฯ
หากลูกหนี้ชำระหนี้ครบแล้ว ลูกหนี้สามารถดำเนินการออกโฉนดใหม่ได้ และสามารถที่จะฟ้องเจ้าหนี้ในคดีอาญาความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้เช่นเดียวกัน
ลูกหนี้เรียกคืนโฉนดได้เมื่อไร ?
ลูกหนี้สามารถเรียกโฉนดคืนได้
  • เมื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เรียบร้อยแล้ว และได้รับสัญญาคืนหรือใบเสร็จจากเจ้าหนี้ว่าได้รับชำระหนี้เรียบร้อยแล้ว หรือได้รับการปลดหนี้ตามกฎหมายแล้ว
  • เมื่อหนี้นั้นไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ เช่น ขาดอายุความ ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้เป็นสำคัญ เป็นต้น
เจ้าหนี้ผู้รับจำนำโฉนด มีสิทธิทำอะไรได้บ้าง?
  • “จำนำโฉนดฯ” “จำนอง” เพราะการจำนองที่ดินจะต้องทำเป็นหนังสือและไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญากู้ยืมเงินที่มีการจำนำโฉนดจึงเป็นเพียงสัญญากู้ยืมเงินธรรดา เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิในที่ดิน เหมือนกับเจ้าหนี้จำนอง คือ หากลูกหนี้นำที่ดินดังกล่าวไปจำนองไว้กับเจ้าหนี้รายอื่น เจ้าหนี้จำนองสามารถบังคับเอากับที่ดินนั้นได้ก่อน
  • แม้ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ที่รับจำนำโฉนดก็ไม่มีสิทธิที่จะโอนโฉนดดังกล่าวเป็นของตน หรือนำที่ดินไปขายได้เอง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกหนี้
  • เจ้าหนี้ที่รับจำนำโฉนดทำได้เพียงฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้และยึดเอกสารไว้เท่านั้น เพื่อนำไปใช้ในชั้นบังคับคดี เมื่อมีการฟ้องบังคับชำระหนี้แก่ลูกหนี้แล้ว
ยังไม่ชำระหนี้เรียกคืนโฉนดได้ไหม?
หากลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ จะเรียกโฉนดคืน ไม่ได้ และหากระหว่างนี้ฝ่ายลูกหนี้ไปดำเนินการขอออกโฉนดต่อเจ้าพนักงานที่ดินใหม่อาจมีความผิดในฐานโกงเจ้าหนี้ และฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานได้
จำนำโฉนดคืออะไร ?
“จำนำโฉนดที่ดิน” คือ การนำโฉนดที่ดิน ไม่ว่าจะของลูกหนี้เองหรือของบุคคลอื่นที่ยินยอมให้เจ้าหนี้ยึดโฉนดตัวจริงไว้ได้เอามาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน