ขีดเส้นตาย 3 วัน OPPO-Realme ถอนแอปกู้เงินเถื่อนออก

สภาผู้บริโภคยื่นคำขาด! ให้ “ออปโป้ (OPPO) – เรียลมี (Realme)” ชี้แจง Fineasy และ สินเชื่อความสุข ปมแอปกู้เงินเถื่อน เร่งแก้ปัญหาผู้บริโภคใน 3 วัน จี้ 5 หน่วยงานรัฐสอบข้อเท็จจริง พร้อมเชิญผู้บริโภคร้องเรียน TCC หากได้รับความเสียหาย

กรณีแอปพลิเคชันกู้เงินเถื่อนติดตั้งมากับสมาร์ทโฟน กำลังสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างรุนแรง หลังจากเพจ “คุณลุงไอที” ได้จุดประเด็นว่ามีแอปฯ กู้เงินเถื่อนที่ชื่อ ‘Fineasy’ และ ‘สินเชื่อความสุข’ แอบติดตั้งมาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ OPPO และ Realme โดยที่ผู้บริโภคไม่ได้ยินยอมและพบว่าแอปฯ เหล่านี้ไม่สามารถถอนการติดตั้งหรือปิดใช้งานได้ง่ายดาย ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเรื่องการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวและอาจสร้างความเสียหายทางการเงินแก่ผู้บริโภค (อ้างอิงเนื้อหา : เช็กด่วนใครใช้มือถือ OPPO – Realme ระบบแอบติดตั้งแอปกู้เงินนอกระบบมาหรือไม่)

วันที่ 12 มกราคม 2568 อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เรียกร้องบริษัท OPPO และ Realme ชี้แจงภายใน 3 วันว่าแอปพลิเคชันกู้เงินเถื่อนดังกล่าวติดตั้งมาบนอุปกรณ์ได้อย่างไร พร้อมเรียกร้องให้ถอนแอปออกจากเครื่องโดยทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคต้องตกเป็นเหยื่อซ้ำและต้องไม่ให้เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการ ทั้งนี้ นายอิฐบูรณ์ ระบุว่า การชี้แจงของบริษัทถือเป็นการสะท้อนความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสาธารณะ หากยังนิ่งเฉย สภาผู้บริโภคจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา แถลงปมแอปกู้เงินเถื่อน แอบติดตั้งใน OPPO - Realme

“เรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยออกมาตรการเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม และขอย้ำว่าการติดตั้งแอปพลิเคชันโดยไม่ได้รับความยินยอมถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในมาตรา 4 (2) ของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่ผู้บริโภคต้องมีสิทธิเลือกใช้สินค้าและบริการโดยไม่ถูกบังคับ และต้องได้รับปลอดภัย โปร่งใส ที่สำคัญผู้บริโภคไม่ควรต้องตกเป็นเหยื่อการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ” อิฐบูรณ์ ระบุ

รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายโดยด่วนกับกรณีที่เกิดขึ้น โดยภายในสัปดาห์นี้สภาผู้บริโภคจะส่งหนังสืออย่างเป็นทางการถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องตรวจสอบและดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคตามอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะประเด็นสินค้าและบริการที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทรัพย์สินของประชาชน หากพบว่ามีการละเมิด ต้องดำเนินการลงโทษและเยียวยาผู้บริโภคทันที

2. สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ต้องตรวจสอบการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดขึ้น พร้อมบังคับใช้กฎหมายพีดีพีเอ (PDPA) อย่างจริงจัง

3. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องตรวจสอบผู้รับใบอนุญาต เช่น ค่ายมือถือ ที่ปล่อยให้แอปฯ อันตรายติดตั้งมากับสมาร์ทโฟน โดยประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลสิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม พ.ศ.2566 กำหนดชัดเจนว่าผู้รับใบอนุญาตต้องมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลและความปลอดภัยของผู้บริโภค

4. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ต้องเรียกบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและแพลตฟอร์ม เช่น เพลย์สโตร์ (Play Store) เข้าหารือ เพื่อกำหนดมาตรการคัดกรองและบล็อกแอปพลิเคชันผิดกฎหมาย

5. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเร่งออกมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อผิดกฎหมาย และดำเนินการปราบปรามแอปฯ กู้เงินเถื่อนร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ด้าน ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับแอปฯ กู้เงินเถื่อน อย่างสินเชื่อความสุข แล้วกว่า 1,800 ราย พบว่าผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิชัดเจนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ทั้งยังเกิดความไม่ปลอดภัยต่อทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ส่งรายชื่อแอปพลิเคชันต้องสงสัยให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตรวจสอบและดำเนินคดีต่อไปแล้ว

ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ แถลงปมแอปกู้เงินเถื่อน แอบติดตั้งใน OPPO - Realme

นอกจากการประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้น สภาผู้บริโภคยังเรียกร้องให้มีการออกและเร่งบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่องหรือที่มีความเสี่ยงในการใช้งาน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสินค้าหรือบริการที่ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันในไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะด้านนี้ ได้แก่ กฎหมายความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า หรือกฎหมายเลมอน ลอว์ (Lemon Law) เพื่อรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งขณะนี้สภาผู้บริโภคได้ยื่นรายชื่อเสนอกฎหมายดังกล่าวนี้แล้ว (อ่านเนื้อหา : ของใหม่ป้ายแดง “ชำรุด” ต้องได้เปลี่ยน ได้คืน (ร่าง) กฏหมาย เลมอน ลอว์ ให้สิทธินั้น)

ทั้งนี้ ภัทรกร ทิ้งท้ายว่า ขอเชิญชวนให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการหลงเชื่อใช้แอปพลิเคชันที่ขายพ่วงมือถือหรือแอปฯ ที่ติดตั้งโดยไม่ยินยอม หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแอปฯ กู้เงินเถื่อน ติดต่อสภาผู้บริโภคที่หมายเลข 1502 หรือร้องเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ tcc.or.th รวมถึงช่องทางการสื่อสารของสภาผู้บริโภค เพื่อให้สภาผู้บริโภคช่วยเหลือและเรียกร้องค่าเสียหายตามสิทธิของผู้บริโภคอย่างเร่งด่วน