ระวัง! ป้ายแดงปลอม

‘รถใหม่ป้ายแดง’ คือ รถที่เพิ่งซื้อมาใหม่ เพิ่งออกมาจากโชว์รูม เป็นป้ายทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก ออกให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถที่ได้รับใบอนุญาต เพื่อนำไปติดรถและส่งมอบรถให้ลูกค้า ทั้งนี้ การใช้ป้ายแดงไปก่อนก็เป็นไปเพื่อรอคอยป้ายสีขาว แต่… ต้องห้ามใช้ป้ายแดงเกิน 30 วัน นับจากวันที่รับรถมาตามที่กฎหมายกำหนด โดยระหว่างนี้เจ้าของรถก็ต้องรีบไปจดทะเบียนรถให้เสร็จสิ้นก่อนสามสิบวัน 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีข่าวคนโดนหลอกลวง โดยนำป้ายทะเบียนรถแดง ‘ของปลอม’ มาติดรถใหม่และหลอกขายอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ชวนผู้บริโภคดูข้อมูลให้รู้ทันภัยหลอกขายรถและนำป้ายทะเบียนแดงปลอมมาติด! บอกวิธีสังเกตและข้อควรรู้ก่อนใช้รถใหม่ป้ายแดง

ป้ายแดงปลอม สังเกตอย่างไร?

ป้ายทะเบียนแดงที่ถูกปลอมแปลง หรือเลียนแบบ จะมีจุดสังเกตตรงที่ไม่มีตัวอักษรย่อ ขส อยู่ในป้าย หรือถ้ามีก็จะมีขนาดเล็กมาก ตัวหนังสือ – ตัวเลขไม่คมชัด สีของป้ายจะซีด ไม่สะท้อนแสง และแผ่นป้ายจะมีความบาง     

ส่วน ‘ป้ายแดงของจริง’ จะมีตัวอักษรย่อนูน ขส ที่มุมด้านล่างขวาอยู่ในแผ่นป้ายทะเบียน มีลายน้ำตราเครื่องหมายราชการกรมการขนส่งทางบก (รูปมาตุลีเทพบุตรขับรถเทียมม้า) แน่นอนว่าสีจะมีความสด สะท้อนแสง ป้ายจะมีความหนา และตัวอักษร ตัวเลขมีความคมชัด ซึ่งต้องตรงกันกับสมุดคู่มือประจำตัวรถด้วย            

ทั้งนี้ ใครปลอมแปลงป้าย อาจจะมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และหากนำแผ่นป้ายทะเบียนแดงที่ปลอมนั้นไปจำหน่ายขายตามท้องตลาด หรือเป็นผู้ซื้อแผ่นป้ายทะเบียนปลอมแล้วนำไปใช้กับรถของตัวเอง ตามกฎหมายถือเป็นการใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ซึ่งมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการหรือใช้เอกสารราชการปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท

และยังผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 11 ประกอบมาตรา 60 ฐานใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถที่มีลักษณะไม่ถูกต้องหรือแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถไม่ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท

คนขับรถป้ายแดงต้องรู้อะไรบ้าง? 

รู้ไหม? รถใหม่มีอายุการใช้ป้ายแดงได้เพียง 30 วัน ดังนั้น เจ้าของรถหรือศูนย์บริการรถมีหน้าที่จะต้องจดทะเบียนรถให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับรถ เพราะหากเจ้าของรถป้ายแดงฝ่าฝืนนำรถป้ายแดงมาใช้เกินกว่า 30 วัน ในทางกฎหมายถือว่ามีพฤติกรรมที่จะหลีกเลี่ยงภาษี จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 6(1) ประกอบมาตรา 59 ฐานใช้รถที่ยังไม่ได้จดทะเบียน มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท  

อีกทั้งเจ้าของรถจะต้องจดบันทึกการใช้รถในสมุดคู่มือการใช้รถ ที่ในมาตรา 28 ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ระบุไว้ว่าผู้ขับขี่จะต้องทำบันทึกการใช้รถลงในสมุดคู่มือเสมอ โดยข้อมูลที่ต้องจดบันทึกไว้ ได้แก่ ชื่อนามสกุลผู้ขับ ชื่อยี่ห้อรถยนต์ หมายเลขเครื่องยนต์ ความประสงค์ในการใช้รถ วันเดือนปี รวมถึงระยะเวลาที่นำรถไปใช้

ที่สำคัญ รถป้ายแดงห้ามใช้ตอนกลางคืน ซึ่งรถป้ายแดงสามารถใช้ได้ในช่วงเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกเท่านั้น หรือตั้งแต่ 06.00 – 18.00 น. ซึ่งในปัจจุบันขยายระยะเวลา อนุโลมไปจนถึง 20.00 น. แต่อย่างไรก็ตามหากกรณีฉุกเฉินมีความจำเป็นต้องใช้รถป้ายแดงหลังเวลาที่กำหนดก็จะต้องขออนุญาตจากนายทะเบียน

และสุดท้าย ห้ามใช้รถป้ายแดงวิ่งข้ามเขต สามารถขับขี่ได้ในเขตที่ระบุไว้ในป้ายทะเบียนเท่านั้น เช่น ป้ายทะเบียนกรุงเทพมหานคร ก็สามารถขับขี่ภายในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น ไม่สามารถขับไปยังจังหวัดอื่นได้ แต่หากกรณีมีความจำเป็นสามารถขอเอกสารจากนายทะเบียนก่อนได้ รวมถึงต้องลงบันทึกการใช้รถในสมุดคู่มืออย่างละเอียดด้วย 

แต่หากฝ่าฝืนขับรถป้ายแดงเกินวันที่กำหนด วิ่งข้ามเขต ใช้รถเกินเวลาที่กำหนด จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 27 และมาตรา 26 ประกอบมาตรา 60 มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเจอพฤติกรรมถูกเซลล์หรือโชว์รูมรถหลอกนำป้ายทะเบียนแดงปลอมมาติดรถใหม่สามารถแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียน มาที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ ที่ช่องทางดังต่อไปนี้

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
  • อีเมล : [email protected]
  • โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) ​: สภาองค์กรของผู้บริโภค

ที่มา :

https://www.thansettakij.com/general-news/518341

https://car.kapook.com/view252580.html

https://www.amarintv.com/news/detail/153535

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค