สภาผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม เข้าพบ รมว.กระทรวงพลังงาน ยื่นข้อเสนอนโยบายพลังงานที่นำไปสู่ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมและสร้างความยั่งยืน ปลดล็อกการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างกว้างขวาง
รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลได้ประกาศลดค่าไฟฟ้าลงไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม โดยมีเงื่อนไขให้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้แบกรับภาระหนี้จากการแบกรับภาระค่าไฟฟ้าผันเเปรที่เปลี่ยนเเปลงไปจากค่าเชื้อเพลิงที่กำหนดไว้ หรือที่เรียกว่าค่าเอฟที (Ft) ไว้แทนประชาชนก่อน
“การประกาศลดค่าไฟฟ้าข้างต้นนั้นจะกลายเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น และสุดท้ายหากมาตรการสิ้นสุด ประชาชนจะเป็นผู้แบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นผ่านบิลค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนทุกเดือน ที่ประกอบไปด้วยค่าเอฟทีซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น” รศ.ดร.ชาลี กล่าว
รศ.ดร.ชาลี จึงเสนอให้มีการแก้ไขโครงสร้างต้นทุนเชื้อเพลิงที่ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องใช้ไฟฟ้าในราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น จากที่ปัจจุบันผู้ผลิตไฟฟ้าต้องใช้ต้นทุนก๊าซที่มีราคาแพงกว่าในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือก๊าซแอลเอ็นจี (LNG) ที่นําเข้าและอิงราคาตลาดโลก รัฐบาลจึงต้องปรับโครงสร้างให้ผู้ผลิตไฟฟ้าได้ใช้ก๊าซในราคาที่เท่ากับกลุ่มปิโตรเคมี คือ ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่คิดต้นทุนจากแหล่งก๊าซที่มีราคาถูกกว่า ได้แก่ ก๊าซอ่าวไทย และก๊าซจากเมียนมาร์ ซึ่งจะทำให้ลดค่าไฟฟ้าลดลงได้ถึงปีละ 40,000 – 80,000 ล้านบาท และเป็นวิธีนี้จะทำให้เกิดราคาค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมและยั่งยืน
นอกจากนี้ นโยบายเร่งด่วนที่ควรเกิดขึ้นทันที คือการไม่เซ็นสัญญาแบบข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าขึ้นมากับโรงไฟฟ้าใหม่ ทั้งขนาดใกญ่และขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า PPA (Power Purchasing Agreement) ซึ่งสัญญาดังกล่าวจะผูกมัดประชาชนยาวนานราว 20 – 30 ปี เมื่อมีการเซ็นสัญญาจะเกิด “ค่าความพร้อมจ่าย” ซึ่งหมายถึงสิ่งที่รัฐจะต้องจ่ายให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนแม้ว่าเอกชนจะไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ที่ผ่านมาแม้ไทยจะมีไฟฟ้าสำรองมากกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดให้ควรมีไฟฟ้าสำรองเพียงร้อยละ 51 จนโรงไฟฟ้าหลายแห่งต้องหยุดเดินเครื่อง เพราะไฟฟ้าล้น แต่โรงไฟฟ้าเหล่านั้นกลับได้รับเงินจากประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ผ่านบิลค่าไฟฟ้า โดยที่ค่าความพร้อมจ่ายนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของค่าเอฟทีที่เรียกเก็บในบิลค่าไฟฟ้าตามที่กล่าวไปข้างต้น
ด้าน กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวถึงความกังวลในประเด็นนี้ว่าปัญหาค่าไฟที่ไม่เป็นธรรมนั้นสัมพันธ์กับปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศของ UN และ IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) โดยในแต่ละประเทศได้ทำแผนปรับลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงาน อาทิ อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า อุตสาหกรรมถ่านหิน อุตสาหกรรมปิโตรเลียม เป็นต้น ถึงร้อยละ 60 โดยร้อยละ 30 จากจำนวนข้างต้นมาจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล ทั้งก๊าซ น้ำมัน หรือถ่านหิน ดังนั้น จึงเห็นว่าแผนด้านพลังงานที่รัฐบาลเสนอในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างเป็นสัญญาณที่ดี แต่ควรมีความชัดเจนขึ้น โดยต้องการเห็นการลดการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่ภาคพลังงานหมุนเวียน เช่น การสนับสนุนให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงาน เป็นต้น
ส่วน วีรภัทร ฤทธาภิรมย์ นักรณรงค์ด้านพลังงานหมุนเวียน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่รัฐบาลตอบรับและทราบปัญหาแล้ว แต่สิ่งที่ต้องการเรียกร้องมากที่สุดคือต้องการให้รัฐบาลหยุดการใช้ถ่านหินให้ด่วนที่สุด และประกาศใช้ระบบการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบหน่วยไฟฟ้า (Net Metering) ในหลักการเป็นการคิดค่าไฟฟ้า โดยคำนวณจากจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์ในบ้าน หักลบกับจำนวนที่ใช้ไปเพื่อเป็นเครดิตสำหรับรอบบิลไฟฟ้าเดือนถัดไป ให้เร็วที่สุด โดยการคิดค่าไฟฟ้าข้างต้นจะทำให้ประชาชนสามารถฝากไฟฟ้าไว้ได้ในช่วงที่มีกำลังการผลิตสูงกว่าความต้องการ และสามารถนำไฟฟ้าถอนกลับมาใช้ในช่วงที่ไม่มีแสงอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้การผลิตไฟฟ้าบนหลังคาเกิดขึ้นได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงทำให้ประเทศไทยปลดล็อกการใช้พลังงานหมุนเวียน และทำให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลลดน้อยลง รวมทั้งการทำให้ค่าไฟถูกลงได้อีกด้วย
ขณะที่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังหาทางแก้ไข แต่ปัญหาคือโครงสร้างที่เห็นกันอยู่นั้นใช้มานาน ซึ่งปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหลายชุดเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในแนวทางกับที่ประชาชนเสนอ ทั้งนี้ พีระพันธุ์ระบุทิ้งท้ายว่าได้มีความตั้งใจเข้ามาแก้ไขปัญหา ขอให้เชื่อใจ และให้เวลาในการทำงานเพื่อประชาชน
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคและเครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ได้ยื่น 5 ข้อเสนอเพื่อเกิดนโยบายพลังงานที่นำไปสู่ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมและสร้างความยั่งยืน ดังนี้
1. หยุดเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งใหม่ รวมถึงซื้อไฟจากประเทศเพื่อนบ้าน จนกว่าไฟฟ้าสำรองจะลดลงสู่มาตรฐาน
2. ปลดล็อกพลังงานหมุนเวียนด้วยการประกาศใช้ระบบคิดค่าไฟแบบหักลบกลบหน่วยหรือ Net Metering
3. เขียนแผนพลังงานงานแห่งชาติ ด้วยการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน
4. พัฒนาระบบซื้อขายไฟฟ้าที่สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ควบคู่กับเจรจาลดภาระที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาของโรงไฟฟ้าปัจจุบัน
5. นำราคาก๊าซที่ต้นทุนถูกกว่าไปคิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้า
นอกจากนี้ ได้เสนอ 6 ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันสำเร็จรูปและราคาก๊าซหุงต้ม ดังนี้
1. ให้ยกเลิกการคิดราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันของประเทศไทยด้วยการอิงราคาตลาดน้ำมันสำเร็จรูปของตลาดสิงคโปร์ บวกค่าพรีเมียม โดยให้อ้างอิงเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูปของตลาดสิงคโปร์เท่านั้น
2. ให้กระทรวงพลังงานเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เสนอให้กระทรวงการคลังออกประกาศลดฐานภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจาก 3.67 บาทต่อลิตร เหลือไม่เกิน 1 บาท ต่อลิตร และลดฐานภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก๊ซโซฮอล 95 จาก 5.85 บาทต่อลิตร ให้เหลือไม่เกิน 2.50 บาทต่อลิตร เพื่อให้ส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ 95 และน้ำมันดีเซลต่างกันไม่เกิน 5 บาทต่อลิตร
3. ให้กระทรวงพลังงงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณากำกับให้มีการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อชดเชยในกรณีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นทั้งเบนซินและดีเซลตามที่ พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 บัญญัติไว้ ไม่ควรนำเงินสะสมในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้ใช้เบนซินไปชดเชยให้เฉพาะผู้ใช้น้ำมันดีเซลฝ่ายเดียว หรือมีการชดเชยข้ามผลิตภัณฑ์ โดยให้แยกบัญชีกองทุนน้ำมันออกเป็นสองบัญชี คือ บัญชีน้ำมันกลุ่มเบนซิน และบัญชีกลุ่มดีเซล เพื่อให้การบริหารกองทุนน้ำมันเกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันในแต่ละกลุ่ม
4. ให้ควบคุมค่าการตลาดน้ำมันเบนซินและดีเซล ซึ่งปัจจุบันสูงถึง 3 – 5 บาทต่อลิตร ให้เหลือตามมติ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 คือมีค่าการตลาดเฉลี่ยที่ 1.85 บาทต่อลิตร โดยแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ไม่เกิน 1.85 บาทต่อลิตรและดีเซลไม่เกิน 1.50 บาทต่อลิตร โดยให้กระทรวงพลังงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ความเห็นชอบ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีสั่งการไปยังคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติดำเนินการตามมาตรา 25(1) ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการควบคุมและกำกับราคาสินค้า พ.ศ. 2542
5. ขอให้ทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับภาคครัวเรือนหรือก๊าซหุงต้มใหม่
ส่วนผู้ใช้กลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคปิโตรเคมี ให้ใช้การเฉลี่ยต้นทุน ราคาที่แท้จริงแบบถ่วงน้ำหนักจากก๊าซ LPG สามแหล่ง ได้แก่ ราคา LPG จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ในประเทศ ส่วนที่เหลือใช้จากภาคครัวเรือน ราคา LPG จากโรงกลั่นน้ำมัน ราคา LPG จากการนำเข้า ให้เป็นไปตามวิสัยของการแข่งขันทางธุรกิจทั่วไป
และ 6. การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เสนอต่อสาธารณะว่า การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากประเทศอื่นนั้น เห็นว่า อาจพบอุปสรรคสำคัญหลายประการภายในประเทศ
1) การกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันสำเร็จรูปที่จะจำหน่ายในประเทศ ที่ทำให้น้ำมันสำเร็จรูปนำเข้าที่มีมาตรฐานแตกต่าง ไม่สามารถจำหน่ายในประเทศได้
2) ผู้ค้าน้ำมันสำเร็จรูปรายใหม่ที่คิดจะนำเข้าจากต่างประเทศจึงยากที่จะแข่งขันในประเทศไทยได้ เนื่องจากในกระบวนการจัดหาไบโอดีเซลและเอทานอล ตกอยู่ในธุรกิจเครือข่ายโรงกลั่นภายในประเทศเกือบทั้งหมด
3) เครือข่ายปั๊มน้ำมันภายในประเทศมีลักษณะกึ่งผูกขาดอยู่เพียงสามรายใหญ่
4) ในเมื่อรัฐมีบทบาทและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ของ ปตท. และบางจาก จึงควรเป็นกลไกสำคัญในการลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และควรปรับโครงสร้างราคาทั้งระบบ
5) เสนอให้กระทรวงพลังงานควรทุ่มเท ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ของครัวเรือนให้เร็วที่สุด