ภัยออนไลน์ลามหนัก! ร้องรัฐเร่งแก้ – คืนสิทธิความปลอดภัยให้ประชาชน

สภาผู้บริโภคเร่งรัฐปรับเกม วางแผนรับมือภัยออนไลน์ ด้านเครือข่ายองค์กรสมาชิก เสนอเพิ่มมาตรการป้องกัน – เพิ่มโทษผู้กระทำผิด ที่เป็นรูปธรรม เช่น การหน่วงเงินโอนธุรกรรมเสี่ยง การพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย และการเพิ่มความรับผิดชอบของธนาคาร ฟื้นความเชื่อมั่นในการใช้บริการทางการเงินและสร้างความปลอดภัยบนโลกดิจิทัล

สภาผู้บริโภคเปิดพื้นทีเวทีเพื่อให้ผู้บริโภค และองค์กรสมาชิก ได้ร่วมกันสะท้อนปัญหา และแนวทางแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภัยออนไลน์ ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทรัพย์สินของประชาชนและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล เวทีนี้จัดขึ้นเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความปลอดภัยในโลกดิจิทัล พร้อมทั้งฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในยุคที่เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวัน

ในงานดังกล่าว ยังได้เชิญหน่วยงานกำกับดูแลจากภาครัฐเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นและข้อกังวลจากผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงชี้แจงมาตรการป้องกันภัยออนไลน์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการเยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เพื่อสร้างการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนในการลดความเสี่ยงและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า จากเรื่องร้องเรียนของสภาผู้บริโภคในช่วง 3 ปีกว่า พบปัญหาซื้อขายออนไลน์มีผู้ร้องเรียนเข้ามามากกว่า 12,000 จาก 50,000 กรณี โดยการจัดเวทีสภาผู้บริโภคในประเด็นดังกล่าวเป็นไปเพื่อทำให้องค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภคมีโอกาสติดตามปัญหาสำคัญของประเทศ และร่วมสะท้อนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคแก่หน่วยงานกำกับดูแล อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้มีความพยายามสนับสนุนหรือจัดทำข้อเสนอคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อป้องกันปัญหาภัยออนไลน์ เช่น การจัดทำข้อเสนอเรื่องปรับปรุงการเปิดบัญชีอย่างไร เพื่อลดการเกิดบัญชีม้า และข้อเสนอสำคัญล่าสุดคือการหน่วงเงินก่อนโอน (Delayed Transaction) ในกรณีที่โอนเงินเกิน 10,000 บาท อย่างน้อย 24 ชั่วโมงเพื่อป้องกันมิจฉาชีพ

“เชื่อว่ารัฐบาลเองก็มีความพยายามในการที่จะลดปัญหาเรื่องนี้ ทุกหน่วยงานทำงานกันอย่างหนักเพื่อลดปัญหานี้ แต่ขณะนี้เรายังจัดการไม่ได้ เพราะฉะนั้นองค์กรสมาชิกของเราที่มีอยู่ใน 53 จังหวัด 334 องค์กร ก็มาร่วมกันติดตามความก้าวหน้าการคุ้มครองผู้บริโภคจากภัยมิจฉาชีพออนไลน์ ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ทำเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องและต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือ ทั้งนี้หวังว่าองค์กรสมาชิกจะได้ทั้งข้อมูล ได้ความรู้ เพื่อกลับไปต่อยอดการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจากภัยออนไลน์ต่อไป” สารี ระบุ

ขณะที่ บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค เผยว่า ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวการป้องกันภัยออนไลน์จำนวนมาก แต่ปัญหาคือต่างคนต่างทำ ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรหรือเมื่อเจอปัญหาเช่นนี้ต้องเข้าหาหน่วยงานไหน ทั้งนี้ ทำให้เกิดความท้าทายของสภาผู้บริโภคที่มีหน้าที่ผลักดันให้เกิดกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค คือ การสร้างความร่วมมือกับทุกหน่วยที่ให้เกิดความร่วมมือทุกส่วน เพื่อให้เกิดระบบป้องกันภัยออนไลน์ให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้สภาผู้บริโภคยังได้ทำข้อตกลงสร้างความร่วมมือ (MOU) กับประเทศในอาเซียน 8 ประเทศและมีแผนขยายความร่วมมือเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการหลอกลวงออนไลน์ข้ามประเทศ

“ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่ให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนอย่างเดียวไม่ได้ ปัญหาผู้บริโภคและความท้าทายที่เกิดขึ้นหน่วยงานที่มีอยู่ก็ต้องร่วมกันคุ้มครองผู้บริโภค เพราะฉะนั้นสภาผู้บริโภคจึงพร้อมที่จะสร้างความร่วมมือและเชื่อมโยงทุกหน่วยงาน เพราะความท้าทายคืองานของเรา เพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัยไม่ถูกหลอก และเมื่อมีปัญหาอยู่เฉย ๆ ไม่มีใครช่วยคุณได้ถ้าคุณไม่บอก หากใครพบปัญหาขอให้โทรมาสภาผู้บริโภค 1502” ประธานสภาผู้บริโภค ระบุ

ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนในเวทีสภาผู้บริโภคดังกล่าว ได้แบ่งประเด็นเพื่อสะท้อนเสียงผู้บริโภคและเสนอมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยสรุป ดังนี้

ภัยจากการถูกหลอกลวงในการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์

ผู้บริโภคสะท้อนปัญหาซื้อขายออนไลน์ไร้ความมั่นใจ

ปัญหาการซื้อขายออนไลน์ที่ไม่ได้คุณภาพยังคงสร้างความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง เรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคระบุว่าไม่ได้รับสินค้าหลังจากชำระเงินหรือได้รับสินค้าที่ไม่ตรงกับคำโฆษณา โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และชี้ว่าการร้องเรียนผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมักไม่ได้ผล และการคืนเงินทำได้ยาก เนื่องจากไม่มีการระบุตัวตนผู้ขาย

องค์กรสมาชิกชี้แพลตฟอร์มออนไลน์ยังขาดความโปร่งใส

ขณะที่องค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภคเผยว่า ปัญหาใหญ่คือการที่แพลตฟอร์มออนไลน์ยังไม่มีระบบคัดกรองผู้ขายอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดช่องโหว่สำหรับมิจฉาชีพ อีกทั้งยังไม่มีระบบรับประกันเงินของผู้บริโภคในกรณีที่เกิดการฉ้อโกง รวมทั้งการเสนอแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้ง “ระบบเก็บเงินกลาง” ที่ช่วยคุ้มครองเงินของผู้บริโภคจนกว่าจะได้รับสินค้า พร้อมทั้งเสนอให้แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์เปิดเผยข้อมูลผู้ขายอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความโปร่งใส และสร้างกลไกที่สามารถลงโทษผู้ขายที่มีพฤติกรรมหลอกลวงได้จริง

ดีอี – สพธอ. จับมือพัฒนากฎหมายการค้าออนไลน์

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ) (ETDA) ระบุว่า ปัจจุบันอยู่กำลังร่างกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต้องรับผิดชอบในกรณีที่เกิดการหลอกลวง พร้อมส่งเสริมให้แพลตฟอร์มพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อคัดกรองผู้ค้า และปรับปรุงระบบรับเรื่องร้องเรียนให้รวดเร็วมากขึ้น

ภัยจากการถูกหลอกลวงทางการเงิน

ผู้บริโภคเผยกลโกงการเงินหลากหลายรูปแบบ สร้างความเสียหายใหญ่หลวง

ประชาชนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงทางการเงิน โดยเฉพาะโครงการที่ชักชวนให้ลงทุน เช่น แชร์ลูกโซ่ โครงการปลอมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล หรือสินเชื่อด่วนที่เก็บค่าธรรมเนียมล่วงหน้า ขณะเดียวกันการปลอมแปลงข้อความและอีเมลแอบอ้างเป็นธนาคารก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคสูญเสียเงินจำนวนมหาศาล         

เรียกร้องตรวจสอบบริษัทน่าสงสัย

ปัจจุบันมีผู้เสียหายเพิ่มขึ้นจากการลงทุนผ่านแอปพลิเคชันปลอม โดยมิจฉาชีพมักสร้างแอปพลิเคชันที่ดูเหมือนแพลตฟอร์มการลงทุนจริง พร้อมหลอกให้ผู้บริโภคโอนเงินเป็นจำนวนมาก ดังนั้น องค์กรผู้บริโภคจึงเสนอให้หน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบบริษัทที่น่าสงสัย      

ผลักดันระบบตรวจสอบธุรกรรมการเงินอัตโนมัติ

นอกจากนี้องค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภคมีข้อเสนอให้มีการพัฒนาระบบตรวจสอบธุรกรรมการเงินที่ผิดปกติ โดยเน้นการแจ้งเตือนผู้บริโภคทันทีหากพบพฤติกรรมที่เข้าข่ายหลอกลวง พร้อมเสนอให้มีการบังคับผู้ให้บริการทางการเงิน เช่น ธนาคารและแพลตฟอร์มที่ให้บริการทางการเงินในรูปแบบแอปพลิเคชัน (e-Wallet) ใช้ระบบยืนยันตัวตนแบบหลายชั้นเพื่อเพิ่มความปลอดภัย

ดีอี เดินหน้ากำกับเข้มธุรกรรมออนไลน์

กระทรวงดีอี ระบุ จะเพิ่มการกำกับดูแลธุรกรรมออนไลน์ และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบและแก้ไขกรณีฉ้อโกงการเงิน นอกจากนี้ยังเตรียมจัดทำแคมเปญให้ความรู้เรื่องการเงินออนไลน์ปลอดภัยแก่ประชาชนทั่วประเทศ

ภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์

คอลเซ็นเตอร์ปลอมสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่อง

ผู้บริโภคระบุว่าถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) หลอกลวงในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หน่วยงานรัฐ หรือบริษัทชื่อดัง เช่น กรมสรรพากร ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ DHL Express โดยมักอ้างปัญหาเร่งด่วน เช่น ภาษีค้างชำระ หรือพัสดุติดค้าง เพื่อหลอกให้โอนเงินหรือขโมยข้อมูลส่วนตัว

เรียกร้องพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเบอร์

ระบบตรวจจับและบล็อกเบอร์โทรศัพท์ที่น่าสงสัยยังไม่ครอบคลุมทุกเครือข่าย ทำให้มิจฉาชีพสามารถเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ใหม่ได้ตลอดเวลา องค์กรผู้บริโภคจึงเสนอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บังคับให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมพัฒนาระบบบล็อกเบอร์หลอกลวงและพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีลักษณะคล้ายกับแอปฯ Whoscall ของภาครัฐเอง

ขยายฐานข้อมูลหมายเลขต้องสงสัยและใช้ AI ตรวจจับ

กสทช. ระบุว่า จะมีการจัดทำฐานข้อมูลหมายเลขที่เข้าข่ายหลอกลวงและนำ AI มาช่วยตรวจจับเบอร์ที่น่าสงสัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเตรียมรณรงค์ให้ผู้บริโภครายงานเบอร์โทรศัพท์ที่เข้าข่ายหลอกลวงเพื่อช่วยปิดช่องว่างการหลอกลวงในระยะยาว รวมถึงการพัฒนาแอปฯ รายงานเบอร์ที่น่าสงสัยของภาครัฐ ร่วมกับกระทรวง
ดีอี

ดีอี – กสทช. เร่งปรับแก้กฎหมายเพิ่มบทลงโทษ

กระทรวงดีอี และกสทช. แถลงเตรียมปรับปรุงกฎหมายให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีความรับผิดชอบหากประชาชนได้รับความเสียหายจากการถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง พร้อมเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้อง

ภัยจากการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล

กังวลข้อมูลรั่วไหลกระทบความปลอดภัย

ภัยการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค มีรายงานว่าข้อมูลของผู้บริโภค เช่น หมายเลขโทรศัพท์ เลขประจำตัวประชาชน และข้อมูลบัญชีธนาคาร ถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม สร้างความเสียหายทั้งในรูปแบบการหลอกลวงและการขโมยข้อมูล

องค์กรสมาชิกชี้กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลยังไม่ครอบคลุม

ด้านองค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภค ให้ความเห็นว่าแม้จะมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) แล้ว แต่การบังคับใช้ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ โดยเฉพาะกับองค์กรหรือหน่วยงานเล็ก ๆ ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยต่ำ ทำให้ข้อมูลของประชาชนรั่วไหลได้ง่าย ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มมาตรการป้องกันข้อมูลรั่วไหลที่ต้นทาง เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) บังคับให้หน่วยงานที่เก็บข้อมูลต้องแจ้งประชาชนทันทีที่เกิดการรั่วไหล และเร่งส่งเสริมให้ทุกองค์กรใช้ระบบเข้ารหัสข้อมูลมาตรฐานสากล พร้อมจัดอบรมให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลส่วนตัว

ดีอี – สคส. จับมือยกระดับความปลอดภัยข้อมูล

กระทรวงดีอี และ สคส. ยืนยันจะเพิ่มบทลงโทษผู้ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมบังคับใช้มาตรฐานความปลอดภัยในระดับสูงสำหรับหน่วยงานและองค์กรที่มีการเก็บข้อมูลประชาชน นอกจากนี้ยังเตรียมจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบกรณีข้อมูลรั่วไหลและช่วยเหลือผู้เสียหายโดยตรงอีกด้วย

เสียงสะท้อนขององค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภค หัวข้อ ‘ใครต้องรับผิดชอบ เมื่อผู้บริโภคถูกดูดเงิน หรือ ถูกหลอกให้โอนเงิน’