สภาผู้บริโภค จี้หน่วยงานรัฐทบทวนมาตรการกำกับค่ารักษาพยาบาลเพื่อแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง ย้ำผู้ป่วยมีสิทธิทราบค่ารักษาพยาบาลก่อนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ส่วนกรณีป่วย ฉุกเฉินวิกฤต ยังโดนเรียกเก็บ ทั้งที่โรงพยาบาลไม่มีสิทธิ
จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความในกลุ่ม ‘พวกเราคือผู้บริโภค’ กรณีพาแฟนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ด้วยอาการเวียนหัว ปวดศีรษะ แต่กลับถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในอัตราที่สูง โดยไม่แจ้งรายละเอียดและค่าบริการให้ทราบก่อนเข้ารับการรักษา โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้แจ้งเนื่องจากผู้ป่วยอยู่ในอาการวิกฤตนั้น
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบัน ปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง รวมทั้งการถูกเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลเป็นปัญหาที่ผู้ป่วยบางรายต้องเผชิญ ซึ่งจากสถิติข้อร้องเรียนของสภาผู้บริโภค ในปี 2566 ที่ผ่านมาพบกรณีค่ารักษาพยาบาลแพงเกินจริงจำนวนมากกว่า 20 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการจัดการและการแก้ปัญหาของหน่วยงานทุกภาคส่วนยังไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นปัญหาที่หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งแก้ไข
สำหรับกรณีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลที่แพงเกินจริงของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ สุรีรัตน์ แสดงความเห็นว่าเป็นความล้มเหลวในการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล ถึงแม้จะมีประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2566 ซึ่งได้กำหนดให้ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ และบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรคเป็นสินค้าและบริการควบคุมแล้วนั้น แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ายังไม่สามารถควบคุมราคาได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการได้ออกประกาศโดยกำหนดให้โรงพยาบาลแสดงราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ผ่าน คิวอาร์โค้ด (QR Code) ภายในโรงพยาบาลในลักษณะที่เห็นชัดเจน ทั้งยังกำหนดให้มีการประเมินค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นให้ผู้ป่วยทราบก่อนทุกครั้ง ถึงแม้ว่าจะมีประกาศดังกล่าวทั้งสองฉบับ แต่ปัจจุบันยังพบปัญหาการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงอยู่บ่อยครั้ง
ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการดำเนินการแก้ปัญหาของภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายยังคงอ่อนอยู่มาก และยังไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจน เมื่อเกิดปัญหาเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ มักจะมีการแก้ไขเป็นรายบุคคล ทั้งที่ภาครัฐควรแก้ในเชิงระบบมากกว่า
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคเคยส่งหนังสือข้อเสนอนโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเสนอให้กรมการค้าภายในกำกับราคาค่ารักษาพยาบาลให้ชัดเจน มีมาตรฐาน และเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และเสนอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์พัฒนาระบบคลังข้อมูล โดยควรกำหนดให้มีการแสดงรายละเอียดของรายการที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนค่าบริการรักษาพยาบาลในงบกำไรขาดทุนของโรงพยาบาลเอกชน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับชี้แจงว่า ไม่สามารถควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลได้เนื่องจากต้องคำนึงถึงการแข่งขันของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละโรงพยาบาลจึงส่งผลให้ต้นทุนด้านให้บริการแตกต่างกัน
ส่วนกรณีที่โรงพยาบาลอ้างว่าไม่ได้แจ้งค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากผู้ป่วยอยู่ในอาการวิกฤตนั้น สุรีรัตน์ ย้ำว่า หากผู้ป่วยอยู่ในภาวะฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะในปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) หากผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต ได้แก่ 1) หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2) หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง 3) ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 4) เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5) แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6) อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต จนกว่าจะพ้นภาวะวิกฤตฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง แต่ผู้ป่วยยังถูกเรียกเก็บเงินอยู่ เนื่องมาจากปัญหาเรื่องเกณฑ์ประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉินยังมีความคลุมเครือ เช่น โรงพยาบาลไม่ประเมินเกณฑ์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลประเมินไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลประเมินเข้าเกณฑ์ฉุกเฉิน หรือโรงพยาบาลประเมินเกณฑ์ฉุกเฉิน แต่พ้นวิกฤต 72 ชั่วโมง ซึ่งล้วนแต่ทำให้ผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเงิน
ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องดำเนินการคือเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสถานพยาบาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉิน และทบทวนมาตรการกำกับค่ารักษาพยาบาลที่แพงเกินจริง รวมทั้งกรณีวิกฤตฉุกเฉิน และไม่ควรปล่อยให้เกิดการแข่งขันทางการค้าของโรงพยาบาล เพราะจะกลายเป็นช่องโหว่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคเกิดขึ้น และให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้
สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการร้องเรียนกรณีถูกเรียกเก็บค่ารักษาแพงเกินจริง สามารถร้องเรียนได้ที่
• ร้องเรียนออนไลน์ : https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain
• Line Official : @tccthailand ลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
• เฟซบุ๊กอินบ็อกซ์ :สภาองค์กรของผู้บริโภค
• โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1
• อีเมล : [email protected]