สภาผู้บริโภคร่วมเสริมภูมิคุ้มกันผู้บริโภคในการรู้เท่าทันปัญหาซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ในงาน 1212 ETDA Workshop
ในวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2566 โดยมีการแนะนำการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้บริโภคให้กับผู้เข้าร่วมงาน รวมทั้งการให้ความรู้และการแนะนำวิธีการร้องเรียนให้กับผู้ที่อาจมีปัญหาในฐานะผู้บริโภค โดยที่สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เข้าร่วมเสวนาในประเด็น “เมื่อภัยออนไลน์มา รัฐช่วยได้”
สุภาพร กล่าวว่า แม้สภาผู้บริโภคจะไม่ใช่หน่วยงานของภาครัฐ แต่ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมมือกับภาครัฐมาโดยตลอด โดยทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาผู้บริโภคทั่วประเทศ รวมทั้งการเสนอแนะนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือการประสานความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาผู้บริโภค โดยในปี 2565 ผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภคถึง 15,470 เรื่อง ซึ่งปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาเป็นอันดับที่ 1 คือเรื่องการเงินและการธนาคาร เนื่องจากปีที่แล้ว Covid-19 แพร่ระบาดอย่างรุนแรง จนทำให้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการซื้อประกันภัยแต่สุดท้ายไม่สามารถเคลมประกันได้ อันดับ 2 เป็นเรื่องสินค้าและบริการทั่วไป โดยปัญหาซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า รวมถึงสั่งซื้อสินค้าแต่ได้รับของไม่ตรงตามที่สั่ง ยังเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก และอันดับ 3 ได้แก่เรื่องการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น เอสเอ็มเอสหลอกลวงหรือปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ระบาดอย่างหนักจนทำให้หลายคนหลงเชื่อและถูกหลอกลวง
“อยากแนะนำผู้บริโภคให้หมั่นสังเกตก่อนที่จะซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก หากเป็นเพจจริง ส่วนมากจะมีเครื่องหมายยืนยันตัวตน (Verified Badge) หรือเครื่องหมายติ๊กถูกสีน้ำเงินที่ได้รับจากเฟซบุ๊ก หรือให้อ่านรีวิว คอมเมนท์ภายในเพจนั้น ๆ ประกอบก่อนตัดสินใจซื้อ” สุภาพร ระบุ
สุภาพร กล่าวอีกว่า สภาผู้บริโภคจะให้คำแนะนำเมื่อมีคนมาร้องเรียนปัญหา ตั้งแต่การแนะนำให้ผู้บริโภคเก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไว้ และเข้ามาร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค รวมถึงการช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ประกอบการ โดยจะส่งหนังสือไปถึงบริษัทที่ถูกร้องเรียน และหากสุดท้ายหากไม่สามารถเจรจาได้ สภาผู้บริโภคจะช่วยผู้บริโภคในการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ได้กล่าวปิดท้ายงานเสวนาในเรื่อง “เมื่อภัยออนไลน์มา รัฐช่วยได้” 3 ข้อ ได้แก่ 1. อย่าช่างมันเถอะ ไม่ว่าเงินของท่านที่ถูกหลอกจะมากจะน้อย เราร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง 2. เราจะร้องทุกข์ได้ แปลว่าเราต้องมีหลักฐาน และ 3. อย่าลืมว่าในวันนี้มีหลายหน่วยงานที่กำลังจับมือและพยายามช่วยเหลือผู้บริโภค ดังนั้นจึงอยากฝากให้ทุกท่านช่วยส่งต่อ เผยแพร่ และสื่อสารให้ผู้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ถึงช่องทางและองค์กรที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผู้บริโภค และสุภาพรทิ้งท้ายไว้อีกว่า เรื่องร้องทุกข์ของท่าน 1 เรื่อง สามารถสร้างผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาให้เกิดผลดีต่อสาธารณะอย่างแน่นอน