สภาองค์กรของผู้บริโภค พบ กกพ. ถกปัญหาค่าไฟแพง จี้แก้ไฟฟ้าล้นระบบ เร่งหน่วยงานส่งเสริม-สร้างแรงจูงใจติดตั้งโซลาร์ครัวเรือน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
จากปัญหาราคาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการเก็บค่าไฟฟ้าผันแปรตามสูตรการปรับค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2565 สูงขึ้นเกือบ 1 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวมที่เรียกเก็บจากประชาชนสูงถึง 4 – 5 บาทต่อหน่วยนั้น แม้ประชาชนจะพยายามลดการใช้ไฟฟ้าจนจำนวนหน่วยไฟฟ้าลดลงกว่าเดือนก่อนหน้าแล้ว แต่ค่าไฟฟ้ากลับสูงขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่านอกจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าโดยใช้เงินภาษีของประชาชนแล้วจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนได้อย่างไรนั้น
รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภคเข้าพบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะองค์กรที่มีอำนาจกำกับกิจการพลังงานไฟฟ้า เพื่อประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
โดยในการประชุมดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เสนอข้อเสนอให้ กกพ. นำไปพิจารณา ได้แก่ หนึ่ง ผลักดันระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา สอง เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าหน่วยครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ในเวลากลางวันมาใช้ในเวลากลางคืนได้ สาม มีช่องทางหรือเวทีแลกเปลี่ยน เวทีรับฟังความคิดเห็นก่อนตัดสินใจขึ้นค่า Ft ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น และสี่ เสนอให้ กกพ. เปิดโอกาสให้สภาองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นตัวแทนผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 เข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่จะส่งผลกระทบกับผู้บริโภค ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดนั้น กกพ. เห็นตรงกันกับสภาองค์กรของผู้บริโภคและรับข้อเสนอไปพิจารณาและผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนต่อไป
รสนา กล่าวถึงประเด็นการขึ้นค่า Ft ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้แลกเปลี่ยนในประเด็นนี้กับ กกพ. ว่า การให้เอกชนมาร่วมผลิตไฟและขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) แต่ขณะนี้มีปริมาณการสำรองไฟที่ล้นเกินไปถึงประมาณร้อยละ 54 เมื่อนำมาหักลบตามการสำรองไฟตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น คือ ร้อยละ 15 ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีการสำรองไฟเกินไปเกือบร้อยละ 40 เป็นสาเหตุที่ทำให้ค่า Ft พุ่งสูงขึ้น และอีกสาเหตุ คือ การใช้ก๊าซของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในอ่าวไทยมีสัดส่วนและมีโอกาสได้ใช้ก๊าซธรรมชาติมากกว่าประชาชนทั่ว ๆ ไป โดยอิงราคาในประเทศซึ่งมีราคาถูก ขณะที่ประชาชนกลับได้ใช้ก๊าซ LNGที่นำเข้ามาในราคาแพง จึงทำให้ค่า Ft ราคาสูงขึ้น
“สภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นว่า หากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ได้ประโยชน์จากก๊าซในอ่าวไทยไปทำปิโตรเคมีจนมีกำไรขึ้นมาต้องมีการจัดสรรกำไรกลับคืนมาให้ประเทศ ซึ่งนักวิชาการของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ทำข้อมูลตัวเลขกำไรที่อุตสาหกรรมปิโตรเลียมได้ คือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ที่ทำให้ค่า Ft ลดลงได้ จนประชาชนอาจจะไม่ต้องจ่ายค่า Ft และค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น” รสนา กล่าว
ทั้งนี้ จากเหตุผลการขึ้นค่า Ft ข้างต้น ทำให้เห็นว่ามีความหลากหลายของปัญหาอยู่เต็มไปหมด และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่จำนวนมาก ดังนั้น กกพ. จึงจะเสนอเป็นตัวกลางเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และตัวแทนผู้บริโภคอย่างสภาองค์กรของผู้บริโภค มาร่วมพูด สะท้อนปัญหา และหาแนวทางเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมด
อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นการหารือเรื่องการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อให้ผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตัวเองนั้น กกพ. เห็นตรงกับสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เสนอให้หน่วยงานลดอุปสรรคในการยื่นจดแจ้งหรือยื่นขออนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยขอให้เปลี่ยนจากการมีวิศวกรชำนาญการเซ็นรับรองแบบเป็นการรับรองด้วยตนเอง หรือ ขอให้ยกเว้นไม่ต้องให้มีวิศวกรรับรองแบบบนหลังคาเรือนที่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาดติดตั้งไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ขึ้นไป เนื่องจากจะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนติดโซลาร์เซลล์ด้วยตัวเองได้มากยิ่งขึ้น โดย กกพ. อาจจะออกเอกสารหรือแบบฟอร์มมาและให้ประชาชนเซ็นรับรองและติดตั้งได้ด้วยตัวเอง
“ปัจจุบันการจะติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาเรือนของตัวเองจะต้องอาศัยการเซ็นรับรองความมั่นคงของหลังคาจากวิศวกรชำนาญการตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งส่วนนี้เป็นภาระกับประชาชนในเรื่องค่าใช้จ่ายและความไม่สะดวก” อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค
นอกจากนี้ เมื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้วกลับได้ใช้เพียงแค่ช่วงกลางวัน จึงยังไม่สามารถสร้างแรงจูงใจที่จะให้ประชาชนติดตั้งได้ ดังนั้นสภาองค์กรของผู้บริโภคจึงเสนอให้ภาครัฐต้องเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าหน่วยครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ในเวลากลางวันมาใช้ในเวลากลางคืนได้ (Net Metering) โดยใช้ระบบหักลบกลบหน่วย คือ ครัวเรือนหนึ่งผลิตไฟฟ้าในหนึ่งเดือนได้จำนวนเท่าไร ใช้ไฟฟ้าไปเท่าไร จากนั้นนำมาหักลบกัน เช่น ผลิตได้ 20 หน่วย แต่ใช้ไป 50 หน่วย เมื่อนำมาหักลบกันครัวเรือนจ่ายส่วนที่เหลือ คือ 30 หน่วย
“ที่ผ่านมาประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องราคาพลังงานมามากแล้ว ดังนั้น การร่วมมือกันกับ กกพ. ที่เป็นหน่วยงานกำกับราคาพลังงานให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนและผู้ประกอบการ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงและการส่งเสริม สร้างจูงใจให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาเรือนของตัวเองมากขึ้น เพื่อเป็นตัวช่วยให้ประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายได้” อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวทิ้งท้าย