5 อันดับ ผู้ประกอบการ ถูกร้องเรียนสูงสุดปี 67

เปิดชื่อผู้ประกอบการถูกร้องเรียนมากที่สุดจากเรื่องร้องเรียนของสภาผู้บริโภค และหน่วยประจำจังหวัด

สำหรับปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านพ้นไป (ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 – เดือนกันยายน 2567) สภาผู้บริโภคได้ทำหน้าที่เป็นปาก เป็นเสียง พร้อมแก้ปัญหาผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม และในปีนี้ปัญหาความเดือดร้อนที่ผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนมากถึง 17,028 กรณี จำนวนนี้ได้สะท้อนถึงประเด็นที่ผู้บริโภคกำลังเดือดร้อนและต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน สภาผู้บริโภคจะมาเปิดเผยผู้ประกอบการที่ถูกร้องเรียนเข้ามามากที่สุด มีดังนี้

ร้องเรียนผู้ประกอบการ

อันดับหนึ่ง “ซัมซุง” ร้องเรียนพุ่งเกือบพันรายในปีเดียว

เริ่มต้นด้วยอันดับหนึ่งที่ผู้บริโภคเกือบพันรายร้องเรียน บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กับปัญหาหน้าจอโทรศัพท์เกิดเส้นสีเขียวหรือสีชมพู ในบางรายมีอาการเครื่องร้อนผิดปกติหรือหน้าจอดับร่วมด้วยหลังอัปเดตระบบปฏิบัติการเวอร์ชันวัน ยูไอ (One UI) ในปี 2567 ปัญหานี้ทำให้มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามา จำนวน 818 ราย

กรณีนี้ สภาผู้บริโภคได้ร่วมกับตัวแทนผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีนี้เป็นคดีกลุ่ม กับบริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (ประเทศเกาหลีใต้) และ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (ประเทศไทย) ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกันได้รับการชดเชยเยียวยาทั้งหมด ทั้งนี้ อยู่ระหว่างศาลนัดสืบพยานประกอบการรับเป็นคดีกลุ่มในเดือนมกราคม 2568 ที่จะถึงนี้

MG Connext “ยกเลิกจัดงาน” คืนค่าบัตร ไม่คืนค่าธรรมเนียม

ผู้ประกอบการรายที่สองที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือ บริษัท เอ็ม จี คอนเน็กซ์ จำกัด (MG Connext) กับประเด็นประกาศยกเลิกการจัดงาน “The 1st Blue Dragon Music Awards in Bangkok” ก่อนวันงาน 15 วัน ที่ให้เหตุผลว่า “เนื่องจากสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” และบริษัทได้ออกมาชี้แจงวิธีขอรับเงินคืนค่าบัตร แต่ไม่รวมค่าบริการบัตรและค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม จากเรื่องนี้ทำให้ผู้บริโภคมองว่าการชดเชยครั้งนี้เป็นสิ่งที่ ไม่สมน้ำสมเนื้อกับความเสียหาย และเข้าร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค จำนวน 394 ราย

แม้เบื้องต้นบริษัทผู้จำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตได้คืนเงินค่าบัตรให้ผู้เสียหายแล้ว แต่กลับไม่ได้คืนในส่วนของค่าบริการหรือค่าธรรมเนียม เนื่องจากว่าในเงื่อนไขมีแจ้งให้ทราบไว้แล้ว หากต้องการเรียกคืนให้ติดต่อเจรจากับบริษัทผู้จัด แต่เมื่อผู้บริโภคติดต่อหาผู้จัดเพื่อให้ทำเรื่องคืนเงินค่าบริการ กลับบ่ายเบี่ยงและให้ไปเรียกเก็บจากบริษัทผู้จำหน่ายบัตรแทน ต่างฝ่ายต่างบ่ายเบี่ยงและนิ่งเฉยปฏิเสธความรับผิดชอบ ด้านสภาผู้บริโภคจึงเตรียมยื่นไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ สิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภค

อ้วนผอมจอมเที่ยว ทัวร์ล่มแต่ไม่คืนเงิน

ตามมาติด ๆ กับประเด็นอันดับสาม “ทัวร์ญี่ปุ่นราคาสุดคุ้ม” หรือ “แพ็กเกจยุโรปในฝัน” ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นการท่องเที่ยวโลกแห่งความทุกข์ใจของผู้บริโภค ที่บริษัททัวร์ อ้วน ผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด หลอกให้ผู้เสียหาย จำนวน 391 ราย จองทัวร์ท่องเที่ยวในหลายประเทศทั่วโลก แต่บริษัทเลื่อนการเดินทางออกไปหรือยกเลิกการเดินทางโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าและไม่คืนเงินแก่ผู้บริโภค 

การดำเนินการของสภาผู้บริโภคที่ผ่านมา ได้ส่งหนังสือไปยังบริษัท อ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด เพื่อให้ชี้แจงแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน พร้อมกับเข้าพบกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเพื่อยื่นแจ้งความดำเนินคดีทางอาญากับบริษัททัวร์ดังกล่าว นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาในเบื้องต้น สภาผู้บริโภคได้ประสานงานข้อมูลผู้ร้องเรียนกับกรมการท่องเที่ยวเพื่อให้ได้รับการเยียวยาตามกฎหมายต่อไป และล่าสุดเรื่องนี้ได้อยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และอยู่ระหว่างการยื่นฟ้องคดี 

ผูกขาดโทรคมนาคม ผู้บริโภคไร้อำนาจต่อรอง

ต่อมา อันดับที่สี่และห้า คือ บริการของสองยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคมอย่าง เอไอเอส และทรู ที่ผู้บริโภคต้องทน เพราะไร้อำนาจต่อรอง ด้าน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามา จำนวน 245 ราย ส่วน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามา จำนวน 146 ราย

ส่วนประเด็นที่ร้องเรียนเข้ามามีตั้งแต่เรื่องคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี การบริการไม่ตรงตามแพ็กเกจที่โฆษณา ค่าบริการที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงการถูกเรียกเก็บเงิน แต่ไม่ได้ใช้บริการ รวมถึงปัญหาข้อความสั้น (SMS) หลอกลวง เรียกได้ว่าการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมไทยที่ผูกขาดเพียงไม่กี่เจ้า ทำให้การแข่งขันในตลาดลดลง ผู้บริโภคไร้อำนาจต่อรอง ซ้ำร้ายหน่วยงานกำกับดูแลอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่ได้ออกมาทำหน้าที่หรือกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจให้ดำเนินการตามมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้ผู้บริโภคยังได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคยังคงติดตามประเด็นปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งรายงานละเลยการทำหน้าที่ถึงรัฐสภาและเรียกร้อง กสทช. ให้รายงานความคืบหน้าการกำกับมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะหลังควบรวมกิจการ ทั้งเน็ตบ้าน AIS กับ 3BB และค่ายมือถือ ทรู กับ ดีแทค รวมถึงการแก้ไขปัญหาคุณภาพสัญญาณ และราคาแพ็กเกจ

อย่าให้ปัญหาเหล่านี้เป็นความธรรมดาของชีวิต

เมื่อผู้ประกอบการละเมิดสิทธิผู้บริโภค หน่วยงานรัฐไม่เข้มงวด สะท้อนถึงช่องว่างการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในประเทศไทย และทำให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคในฐานะผู้แทนผู้บริโภค จะเดินหน้าทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค และผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

สภาผู้บริโภคขอชวนผู้บริโภคทั่วประเทศมาร่วมกันสร้างสังคมที่เป็นธรรม อย่าปล่อยให้การละเมิดสิทธิเป็นเรื่องที่มองข้ามได้ หรือทำให้เป็นธรรมดาของชีวิต แต่ผู้บริโภคควรช่วยกันเปลี่ยนเสียงบ่นเป็นเสียงร้องเรียนที่เรียกร้องความเป็นธรรม หากพบปัญหาและไม่ได้รับความเป็นธรรม ร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค โทร 1502 ในวันและเวลาทำการ หรือร้องเรียนออนไลน์ที่เว็บไซต์ tcc.or.th