ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านพลังงานฯ เดือน มี.ค. 67

เชิญผู้แทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้ข้อมูลสถานการณ์ปัญหาสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมเตรียมจัดประชุมนัดพิเศษจัดทำความคิดเห็นกรณีการปรับค่าเอฟที (Ft) สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2567

เมื่อที่ 12 มีนาคม 2567 ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 3/2567 ได้พิจารณาให้ความเห็นต่อการปรับค่า Ft สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2567 คณะอนุกรรมการด้านพลังงานฯ ไม่เห็นด้วยกับทางเลือกของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เสนอให้ปรับเพิ่มค่า Ft หรือให้คงค่า Ft ไว้เท่าเดิม และเสนอให้ กกพ. ลดค่า Ft และให้คิดค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2567 ในราคาเฉลี่ย 3.99 บาทต่อหน่วย

โดยให้คำนึงถึงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ได้สั่งการให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ดำเนินการโดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ให้เป็นไปตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตที่ต้องมีกำลังการผลิตที่แหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณเพิ่มจาก 300 มาอยู่ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามศักยภาพที่เคยมีอยู่ โดยจะสามารถลดราคาค่าไฟฟ้าได้ 15 – 20 สตางค์ต่อหน่วย และเสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้เองโดยไม่ต้องซื้อผ่าน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เพียงอย่างเดียว เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาเชื้อเพลิง ทั้งนี้ อาจมีการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำที่ กฟผ. ต้องซื้อ LNG จาก ปตท. ไว้ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการต้นทุนระยะยาวได้  

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เชิญ พรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการใช้จ่ายเพื่อการชดเชยราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (LPG) ว่า ฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่ปี 2563 ตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีฐานะกองทุนน้ำมันอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท แต่เมื่อเกิดวิกฤติการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครนปะทุใหญ่ในปี 2565 ส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซ LPG มีความผันผวนอย่างมาก กระทั่งรัฐบาลต้องออกมาตรการใช้เงินกองทุนน้ำมันตรึงราคาน้ำมันและก๊าซ LPG อย่างต่อเนื่อง ทำให้ฐานะของกองทุนน้ำมันติดลบ ยอด ณ วันที่ 10 มีนาคม 2567 ในบัญชีน้ำมันเท่ากับ – 48,047 ล้านบาท และยอดในบัญชีก๊าซ LPG เท่ากับ – 46,836 ล้านบาท และมีฐานะสุทธิที่ – 94,883 ล้านบาท

ส่วนอัตราเงินชดเชยน้ำมันกลุ่มดีเซลที่มีความผันผวน ส่งผลให้การเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนลดอย่างรวดเร็วโดยหยุดอยู่ที่ราคา 1.8 บาทต่อลิตรในเดือนกรกฎาคม 2566 จนกลายเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยที่อัตรา 6.80 บาทต่อลิตรในเดือนกันยายน 2566 และในช่วงสองเดือนแรกของปี 2567 มีการจ่ายเงินชดเชยอยู่ที่อัตรา 4.60 บาทต่อลิตร ส่วนอัตราเงินชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กองทุนเริ่มจ่ายชดเชยก๊าซ LPG ที่อัตรา 5.00 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนมกราคม 2563 และในช่วงปลายปี 2566 ต้องจ่ายเงินชดเชยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงเดือนตุลาคม 2566 มีอัตราจ่ายชดเชยมากถึง 9.00 บาทต่อกิโลกรัม และกลับมาลดลงอยู่ที่ 5.00 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนกุมภาพันธ์ 2567