สิทธิผู้บริโภคสากล 8 ประการ เกราะคุ้มกันผู้บริโภค

‘สิทธิผู้บริโภคสากล 8 ประการ’ มีอะไรบ้าง แตกต่างจากสิทธิผู้บริโภคของไทยอย่างไร ?

สิทธิผู้บริโภค 5 ประการที่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีสิทธิผู้บริโภคสากลขั้นพื้นฐาน 8 ประการที่ถูกบัญญัติโดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลด้วย ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคที่ต้องได้รับ ส่วนจะพูดถึงสิทธิเรื่องอะไร และแตกต่างจากสิทธิผู้บริโภคไทยอย่างไรบ้างไปดูกันเลย

1. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ (The right to safety) ไม่ว่าเป็นจากส่วนประกอบ กรรมวิธีผลิต การบรรจุหีบห่อ รวมไปถึงการให้บริการต้องปลอดภัยและได้มาตรฐาน

2. สิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นและถูกต้อง เพื่อประกอบการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ (The right to be informed) นอกจากนี้ ยังมีสิทธิที่จะได้รับคุ้มครองจากโฆษณาหลอกลวง หรือประกาศที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดด้วย

3. สิทธิที่จะเลือกซื้อหาสินค้าและบริการ (The right to choose) ในราคายุติธรรม หรือในราคาที่เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี และในกรณีที่มีการผูกขาดสินค้าก็จะวางใจได้ว่า จะได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเป็นที่พอใจ และในราคายุติธรรม

4. สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนผู้บริโภค (The right to be heard) เพื่อให้ได้รับประโยชน์ที่พึงได้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกับรัฐบาลในการบริหารจัดการ

5. สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต (The right to satisfaction of basic needs) ได้แก่ อาหารปลอดภัย ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงบริการการศึกษาและสาธารณสุข

6. สิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาเมื่อถูกละเมิดสิทธิ์ (The right to redress) ได้รับความเป็นธรรมในการตัดสินเรื่องราวที่ร้องเรียนอย่างถูกต้อง ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการชดใช้เมื่อได้รับสินค้าและบริการที่บกพร่อง เสียหาย การช่วยเหลือ หรือการชดใช้อื่น ๆ

7. สิทธิที่จะได้รับความรู้และไหวพริบที่จำเป็นต่อการบริโภคอย่างเท่าทัน (The right to consumer education) เป็นสิทธิที่จะได้รับความรู้ที่ควรรู้ ควรมี ในการใช้ต่อสู้สิ่งต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค

8. สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและยังชีพได้อย่างปลอดภัย (The right to a healthy environment) เป็นสิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการป้องกันจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคแต่ละคนไม่สามารถควบคุมได้เอง สิทธินี้ต้องยอมรับถึงความต้องการที่จะได้รับการคุ้มครองและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ตลอดชั่วอายุเราไปจนชั่วอายุลูกหลานอีกด้วย

ข้อที่แตกต่างจากสิทธิผู้บริโภคของไทยคือข้อที่ 4, 5 ,7 และ 8 คือ สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนผู้บริโภค สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สิทธิที่จะได้รับความรู้ที่จำเป็นต่อการบริโภคอย่างเท่าทัน และสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและยังชีพได้อย่างปลอดภัย ตามลำดับ ส่วนข้อที่สิทธิผู้บริโภคไทยขยายเพิ่มเติมจากสิทธิผู้บริโภคสากล คือ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา

#ผู้บริโภค #สิทธิผู้บริโภค #สิทธิผู้บริโภคสากล #สภาองค์กรของผู้บริโภค