‘พลังงานหมุนเวียน’ มีพลังงานอะไรบ้าง

พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) คือ พลังงานที่ใช้ไม่หมด สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ มีแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ

ปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานทางเลือก สะอาด ไม่ก่อมลพิษ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่นำมาใช้ทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้

แล้วพลังงานหมุนเวียนมีอะไรบ้าง ?

พลังงานน้ำ (Hydropower) เป็นแหล่งพลังงานธรรรมชาติที่มีให้หมุนเวียนใช้อย่างไม่มีวันหมด

การผลิตพลังงานไฟฟ้าอาศัยหลักการเปลี่ยนรูปของพลังงานจากน้ำที่เก็บกักในเขื่อน (พลังงานศักย์) ไหลผ่านท่อส่งน้ำ (พลังงานจลน์) ปั่นเครื่องกังหันน้ำ (พลังงานกล) และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งพลังงานที่ได้จะขึ้นอยู่กับความสูงของน้ำและอัตราการไหลของน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า

พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) เป็นพลังงานสะอาดที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย

ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตมาจากสารกึ่งตัวนำประเภทซิลิคอน โดยเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง และไฟฟ้าที่เซลล์แสงอาทิตย์ผลิตได้จะเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC)

พลังงานลม (Wind Energy) พลังงานจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิและความกดอากาศในแต่ละตำแหน่ง

การนำลมมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าทำได้โดยใช้เทคโนโลยีกังหันลม เมื่อกระแสลมพัดมาปะทะกับใบพัดของกังหันลมจะทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานลมที่อยู่ในรูปของพลังงานจลน์ไปเป็นพลังงานกล จากนั้นจึงนำพลังงานกลจากการหมุนไปใช้งาน
ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขึ้นอยู่กับความเร็วของลม ความยาวของใบพัด และสถานที่ติดตั้งกังหันลม

พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy) พลังงานความร้อนที่อยู่ใต้ผิวโลก เช่นเดียวกับน้ำมันปิโตรเลียม แต่เก็บอยู่ในรูปของน้ำร้อนหรือไอน้ำร้อน

การนำพลังงานความร้อนใต้พิภพมาใช้ผลิตไฟฟ้าทำได้โดยนำน้ำร้อนที่ได้ไปถ่ายเทความร้อนให้กับของเหลวหรือสารทำงานที่มีจุดเดือดต่ำ จนกระทั่งเดือดเป็นไอ แล้วนำไอนี้ไปหมุนกังหันที่ต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้า

พลังงานชีวมวล (Biomass) พลังงานจากธรรมชาติที่กักเก็บในรูปของสารอินทรีย์ ได้จากกากหรือเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรหรือกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมและพืชพลังงาน เช่น แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย เศษไม้ ขยะมูลฝอย น้ำเสียจากโรงงาน หรือแม้กระทั่งมูลสัตว์

การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลแบ่งได้เป็น

  • การเผาไหม้เชื้อเพลิงชีวมวลโดยตรง (Direct Combustion)
  • กระบวนการเคมีความร้อน (Thermochemical Conversion) จนได้ก๊าซชีวภาพ (Biogas)

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ชวนติดตามกิจกรรมสำหรับผู้บริโภค ตลอดทั้งเดือนมีนาคมนี้ กับวันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) ภายใต้หัวข้อ ล้านหลังคา ล้านโซลาร์เซลล์ : ‘สานพลังผู้บริโภค สู่พลังงานหมุนเวียน’ ได้ทางเว็บไซต์ tcc.or.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจสภาองค์กรของผู้บริโภค


ที่มาข้อมูล : https://www.egat.co.th/home/renewables/

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค