ไซบูทรามีน สารอันตรายแฝงในอาหารเสริม ผอมชั่วคราว สุขภาพพังยาวนาน

หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง เสี่ยงต่อโรคหัวใจ ท้องผูก ปากแห้ง นอนไม่หลับ คลื่นไส้ คือ อาการที่เป็นผลข้างเคียง จากการกินอาหารเสริมผสมสารชนิดนี้

ในส่วนของคนผลิต – คนขาย มีความผิดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น

  • ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 149 วรรคสอง (1) ฐานจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ที่กระทำเพื่อการค้าโทษจำคุก 1 – 10 ปี ปรับถึง 1 ล้านบาท
  • พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522
    มาตรา 25 (1) ผลิต/จำหน่ายอาหารผสมสารต้องห้าม โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับถึง 2 สองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    มาตรา 6 (10) เข้าข่ายจำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โทษปรับถึง 3 หมื่นบาท
    มาตรา 40 โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ โทษจำคุกถึง 3 ปี หรือปรับถึง 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • กรณีมีการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) นำข้อมูลที่บิดเบือนเข้าสู่คอมพิวเตอร์ โทษจำคุกถึง 5 ปี หรือปรับถึง 1 แสนบาท

ข้อเท็จจริง คือ สารตัวนี้ถูกยกเลิกห้ามใช้มาตั้งแต่ปี 2553 เพราะมีรายงานถึงผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด จนเกิดผลเสียร้ายแรง บางรายถึงแก่ชีวิต แสดงให้เห็นว่าการสุ่มตรวจสอบสินค้าหลังวางจำหน่าย หรือหลังการขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งจำเป็นที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจสอบและเพื่อไม่ให้เกิดการลักลอบผสมสารอันตราย อย่างเช่นข่าวที่ปรากฏในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการแก้ไขกฎหมาย เพิ่มโทษให้หนักขึ้นและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง นอกจากนี้ การแจ้งเตือนภัยและการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคจะทำให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลและสามารถป้องกันตัวเองได้

สภาผู้บริโภคชวนทุกคนลดน้ำหนักอย่างปลอดภัยเลือกวิธีลดน้ำหนักที่ถูกต้อง อย่าแลกสุขภาพกับสารอันตรายเหล่านี้กันเลยนะ

ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือพบผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายวางขาย แจ้งเบาะแส ร้องเรียนไปที่สายด่วน อย. 1556 หรือสภาผู้บริโภค ที่เบอร์ 1502 ในวันและเวลาทำการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น. หรือเว็บไซต์ tcc.or.th

อ้างอิงข้อมูล :

เว็บไซต์ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา, เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ


#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค