ใช้แอปเรียกรถ แล้วได้รับอันตราย ต้องทำอย่างไร?

เพื่อความปลอดภัยเมื่อต้องใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ที่เรียกผ่านแอปพลิเคชัน ผู้โดยสารควรสังเกตอะไร แสดงไว้ตรงไหน และหากไม่ได้รับความปลอดภัยควรทำอย่างไร แจ้งใครได้บ้าง?

จากกรณีเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้บริโภคหลายรายออกมา ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ บอกเล่าเหตุการณ์ที่ถูกคุกคาม หรือได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ ‘โบลท์’ (Bolt) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันให้บริการรถขนส่งสาธารณะ โดยมีทั้งเหตุการณ์ที่คนขับรถข่มขู่ให้จ่ายค่าบริการซ้ำ ทั้งที่ได้มีการตัดเงินที่จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเรียบร้อยแล้ว บางรายโดนจี้ชิงทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย หรือพบป้ายทะเบียนและชื่อคนขับที่แจ้งในแอปพลิเคชันไม่ตรงกับความเป็นจริง และบางรายโดนคุกคามทางเพศทั้งทางคำพูดและการกระทำ รวมทั้งบางรายถูกคนขับติดต่อมาทางเบอร์โทรศัพท์และไลน์ส่วนตัว ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเกิดความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการใช้บริการนี้

คำถามคือ แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ารถคันไหนปลอดภัย?

สภาผู้บริโภคมีข้อแนะนำเบื้องต้นดังนี้

ผู้บริโภคสามารถสังเกตตัวรถที่นำรถยนต์มาให้บริการว่าเป็นรถที่จดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ โดยหากเป็นรถแท็กซี่ ต้องจดทะเบียนรถเป็นรถยนต์สาธารณะ (ป้ายเหลือง) ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลที่รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน ต้องจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็น “รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์” และติดสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ ตามที่แสดงนี้

ทั้งด้านหน้าและด้านหลังรถที่เห็นได้ชัดเจน สำหรับรถจักรยานยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันที่ถูกต้องตามกฎหมายต้องเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะ (ป้ายเหลือง) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 กรกฎาคม 2565 และคนขับจะต้องใส่เสื้อคลุมของแอปพลิเคชันเมื่อให้บริการด้วย

แต่ในกรณีที่ถูกคุกคาม หรือเจอปัญหาและไม่ได้รับความปลอดภัยจากการใช้บริการขนส่งแนะนำให้ทำตามขั้นตอนดังนี้

1) เก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น จดป้ายทะเบียนรถ ชื่อคนขับ สีและยี่ห้อของรถยนต์ และหากมีภาพประกอบอื่น ๆ ก็สามารถนำไปเป็นหลักฐานได้

2) ร้องเรียนผ่านแอปฯ ที่ใช้บริการ เช่น Bolt, Grab หรือ Lineman เป็นต้น

3) หากไม่ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม สามารร้องเรียนได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ สายด่วน 1584 หรือร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค ตามช่องทางดังต่อไปนี้

• ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public

• ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U

• อีเมล : [email protected]

• โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1, 081 134 9215 หรือ 081 134 9216

• อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค

           ทั้งนี้ เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน สภาผู้บริโภคจะทำหนังสือช่วยติดตามกับหน่วยงานที่กำกับดูแล แอปพลิเคชันที่ให้บริการขนส่ง เพื่อให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด และมีบทกำหนดโทษที่ชัดเจนเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค