สินค้าไม่ดี – สินค้าชำรุด แก้ได้ด้วย ‘Lemon Law’

ซื้อสินค้าใหม่ทั้งที ใคร ๆ ก็อยากได้ของที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน เช่นเดียวกับกรณีผู้บริโภครายหนึ่งที่เรียกร้องความเป็นธรรม เพื่อให้ตัวเองได้สินค้าที่มีคุณภาพกลับมา หลังเพิ่งซื้อรถมาได้ไม่นานแต่รถก็มีปัญหาสารพัด จึงนำรถไปตรวจเช็กที่ศูนย์บริการของบริษัทรถยนต์และได้คำตอบกลับมาว่ารถปกติดี ขณะที่เมื่อนำรถไปใช้ก็พบอาการอีกจึงยืนยันให้บริษัทฯ ต้องเปลี่ยนรถคันใหม่และจะจ่ายเงินเพิ่มให้ด้วย แต่กลับถูกปฏิเสธ ร้องเรียนไปที่หน่วยงานเรื่องก็เงียบ

เมื่อเจอแบบนี้ ใครต่อใครก็อยากให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนสินค้าให้ลูกค้า ลดราคาสินค้า หรือคืนเงินให้ลูกค้าสักทางก็เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อแสดงความรับผิดชอบ แล้วจะเป็นเรื่องที่ดีไหมหากเราควรต้องมีกฎหมายส่งคืนสินค้าชำรุด

‘Lemon Law’ เป็นกฎหมายที่จะเข้ามาช่วยผู้บริโภคให้ได้รับการเยียวยาหากได้รับสินค้าที่ชำรุดได้ ซึ่งยังสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคที่จะต้องได้รับการชดเชยเยียวยาหากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้สินค้าและบริการด้วย

ดังนั้น วันนี้สภาองค์กรของผู้บริโภค อยากชวนไปรู้จัก และตามติดเส้นทางของ พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้านี้ว่าคืออะไร แล้วผู้บริโภคไทยจะได้ใช้กฎหมายฉบับนี้เมื่อไร ตามไปดูกัน

ปี 2553 – 2558 สถานการณ์ปัญหาการชำรุดบกพร่องของสินค้า โดยเฉพาะกรณีรถยนต์ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นและได้รับความสนใจจากสาธารณะมากขึ้น เมื่อกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับเสียหายจากความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ได้รวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องให้บริษัทรถยนต์รับผิดชอบแก้ไขซ่อมแซมให้รถยนต์ใช้งานได้ตามปกติ แม้บริษัทฯ จะซ่อมตามที่แจ้งหลายครั้งแล้ว แต่เมื่อนำรถยนต์มาใช้งานยังพบอาการผิดปกติเหมือนเดิม

ขณะที่ผู้บริโภคได้เข้าร้องเรียน กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนำรถยนต์ที่เกิดปัญหาไปการทดสอบ และพบว่ารถยนต์มีปัญหาจริง เมื่อบริษัทฯ ทราบจึงรับซื้อรถคืนเพียง 3 คัน จากทั้งหมด 12 คัน ดังนั้น ผู้เสียหายที่เหลือจึงฟ้องคดีเนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นธรรม

กรณีผู้บริโภคฟ้องบริษัทรถยนต์กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการยกร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสินค้าใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้สิทธิซ่อมแซม เปลี่ยนสินค้า หรือขอลดราคาสินค้าได้ กรณีได้รับสินค้าชำรุดบกพร่อง

ขณะที่เดิมมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.472 ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องอยู่แล้ว แต่กฎหมายที่มีอยู่ยังมีปัญหาหลายส่วนในการพิจารณาคดี เช่น การกำหนดขอบเขตความรับผิดของผู้ขายที่ไม่ชัดเจน สิทธิของผู้ซื้อที่ยังคลุมเครือ หรือคำว่า “ความชำรุดบกพร่อง” ยังไม่มีการนิยาม

และที่สำคัญคือผู้บริโภคที่ใช้สิทธิฟ้องคดีเองมักตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อรถกับไฟแนนซ์จึงไม่สามารถเรียกร้องกับบริษัทรถได้โดยตรง และมักเกิดข้อสงสัยในความเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง ทำให้การพิสูจน์ความชำรุดบกพร่องทำได้ยาก

ต่อมาในปี 2557 สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณากฎหมายที่ให้ความคุ้มครองและเยียวยาผู้บริโภคเมื่อได้รับสินค้าชำรุด จนสุดท้ายออกมาเป็น (ร่าง) พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า

หรืออีกชื่อเรียกว่า Lemon Law คำสแลงที่หมายถึง ชำรุดเสียหาย หรือมีข้อบกพร่องจึงนำคำนี้มาใช้เป็นชื่อเรียกกฎหมายเพื่อให้ผู้ซื้อสินค้าได้รับการชดเชยเยียวยา หากได้รับสินค้าไม่มีคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นสมาคมผู้บริโภคสิงคโปร์ได้ผลักดัน Lemon Law ออกมาเมื่อปี 2555 โดยมองว่าการบังคับใช้กฎหมายนี้จะช่วยให้สิงคโปร์ได้รับการยอมรับในระดับสากล สร้างความมั่นใจให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวว่าสินค้าที่ซื้อไปเป็นสินค้ามีคุณภาพ

โดยหนึ่งในสาระสำคัญระบุว่า หากภายใน 6 เดือน ผู้บริโภคพบความชำรุดของสินค้าซึ่งเป็นความบกพร่องที่เกิดขึ้นก่อนการซื้อขาย ก็สามารถแจ้งให้ผู้ขายซ่อมแซม หรือเปลี่ยนเป็นสินค้าตัวใหม่ได้ทันที นอกจากนี้สินค้ามือสองก็ได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นกัน แต่ต้องตรวจสอบจากฐานของสิ่งที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว อายุและราคาสินค้านั้น ๆ ก็จะถูกพิจารณาร่วมกับจุดชำรุดบกพร่องที่สมเหตุสมผลประกอบด้วย

สาระสำคัญของกฎหมาย Lemon Law ของไทยที่กำลังปรับแก้ไขอยู่ตอนนี้ เป็นไปเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งหากผู้บริโภคได้รับสินค้าชำรุด บกพร่อง สามารถใช้สิทธิซ่อม เปลี่ยนคืน หรือขอลดราคาสินค้าได้ โดยจะมีการกำหนดลักษณะความชำรุดบกพร่องของสินค้า สิทธิของผู้ซื้อสินค้าเมื่อเกิดความชำรุดบกพร่อง และความรับผิดของผู้ขายสินค้าในกรณีที่สินค้าเกิดความชำรุดบกพร่องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค

สาระสำคัญของกฎหมาย Lemon Law ของไทยที่กำลังปรับแก้ไขอยู่ตอนนี้ เป็นไปเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งหากผู้บริโภคได้รับสินค้าชำรุด บกพร่อง สามารถใช้สิทธิซ่อม เปลี่ยนคืน หรือขอลดราคาสินค้าได้ โดยจะมีการกำหนดลักษณะความชำรุดบกพร่องของสินค้า สิทธิของผู้ซื้อสินค้าเมื่อเกิดความชำรุดบกพร่อง และความรับผิดของผู้ขายสินค้าในกรณีที่สินค้าเกิดความชำรุดบกพร่องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค

อีกไม่นานนี้ เราคงได้เห็นกฎหมายฉบับนี้ และผู้บริโภคคงจะได้รับการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมขึ้นนั่นเอง

สภาองค์กรของผู้บริโภค ชวนทุกคนส่งเสียง ร่วมกันแสดงออก เรียกร้อง รวมถึงส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ไทยมีกฎหมายคุ้มครองผู้ซื้อสินค้าให้ได้รับการเยียวยา กรณีได้รับสินค้าชำรุดหรือบกพร่อง

ทั้งนี้ หากพบปัญหาบริษัทไม่ให้เคลมรถที่ชำรุด บกพร่อง อย่าลืมเก็บหลักฐานการซื้อที่ผู้ขายออกให้ โดยเฉพาะใบเสร็จ และร้องเรียนออนไลน์กับ สคบ. หรือที่เบอร์สายด่วน 1166 และสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ที่

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
  • อีเมล : [email protected]
  • โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1, 081 134 3215 หรือ 081 134 3216
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค

ที่มา :
https://bit.ly/3SvytF9
https://bit.ly/3dzAfqj
https://bit.ly/3r2ykxj

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค