สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) รวบรวมสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางม้าลายในไทย ที่ถึงแม้จะข้ามถนน ‘บนทางม้าลาย’ แล้ว แต่คนเดินเท้าก็ยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายอยู่ทั้งนั้น
ข้อมูลอุบัติเหตุจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า มีผู้เดินเท้าได้รับอุบัติเหตุถึง 2,500 – 2,900 รายต่อปี โดย 1 ใน 3 เป็นอุบัติเหตุที่เกิดในกรุงเทพฯ หรือเฉลี่ยถึง 900 รายต่อปี
ส่วนข้อมูลจากโครงการส่งเสริมการเข้าถึงระบบคมนาคมที่เป็นธรรมและปลอดภัย (LIMIT 4 LIFE) ที่จัดทำรายงานพิเศษเพื่อขับเคลื่อนการผลักดันนโยบายการลดอัตราการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนโดยพลังของสื่อมวลชน ได้สรุปข้อมูลอุบัติเหตุรถชนคนเดินเท้า ในปี 2556 – 2560 โดยระบุว่า อุบัติเหตุรถชนคนเดินเท้าจัดเป็นอุบัติเหตุที่มีดัชนีความรุนแรงสูงสุด เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 55 รายต่ออุบัติเหตุ 100 ครั้ง และมีคนเดินเท้าที่ถูกรถชนเสียชีวิต เฉลี่ยปีละ 740 คน
ขณะที่ข้อมูลอุบัติเหตุจากกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2559 – 2561 พบว่า คนเดินเท้าเสียชีวิตถึงร้อยละ 6 – 8 หรือในแต่ละปีมีคนเดินเท้าเป็นผู้เสียชีวิตคิดเป็นจำนวน 800 – 1,000 ราย
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนทางม้าลายนั้น ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มองว่าการที่ถนนมีหลายช่องจราจร ทำให้เวลาคนข้ามต้องใช้เวลาอยู่บนถนนนาน และแม้ว่าจะมีบางช่องจราจรหยุดให้คนข้าม แต่ช่องจราจรด้านในมักไม่หยุดจึงทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ อีกทั้งเมื่อมีคนข้ามถนน รถในช่องทางจะชะลอและหยุดเพื่อให้คนข้าม แต่ช่องจราจรขวาสุดที่ขับขี่ด้วยความเร็วมักไม่ชะลอและอาจมองไม่เห็นกันทั้งสองฝ่าย จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
จากข้อมูลข้างต้น สอบ. เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญในการจัดการปัญหา ทั้งการบังคับใช้กฎหมายให้มีความเข้มข้นและจริงจัง รวมทั้งการออกแบบทางม้าลายที่เอื้อสำหรับคนเดินเท้าอย่างแท้จริง เพื่อที่จะทำให้ทางม้าลายกลายเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนข้ามถนน’
ที่มา :