ขายทองอย่างไร ไม่ถูกกดราคา

ทองคำเป็นเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยม เนื่องจากหาซื้อได้ง่าย หากต้องการขายก็ทำได้สะดวก ปัจจุบันคนนิยมลงทุนกับทองคำเพื่อเก็งกำไร เมื่อทองคำปรับราคาขึ้น ผู้บริโภคก็มีความต้องการขายออก อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่นำทองคำไปขายคืนกลับพบปัญหาการรับซื้อคืนในราคาที่ไม่เป็นธรรม สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) อยากชวนไปดูวิธีการคำนวณราคาทองคำ ว่าเราควรขายได้ราคาเท่าไร และหากร้านรับซื้อในราคาต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด เราจะทำอย่างไรได้บ้าง

ก่อนอื่น เราต้องรู้จักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขายทองคำ ก็คือ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง แนวทางปฏิบัติการค้าของผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าทองที่เป็นธรรม ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20 เมษายน 2565 ข้อ 3 ระบุไว้ว่า การปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าทอง โดย ‘ราคาที่เป็นธรรม’ คือ ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับราคาจำหน่ายหรือราคารับซื้อคืนทองคำในบริเวณที่เห็นได้ชัดเจน ในอัตราที่กำหนดตามประกาศฯ ไม่ต่ำกว่าราคาที่แสดงไว้บนหน้าร้าน สามารถคำนวณได้จากสูตร ดังต่อไปนี้ 

1) ทองคำแท่ง หนัก 1 บาท ราคารับซื้อคืน คือ ราคาขายทองคำแท่งหนัก 1 บาท หักด้วยจำนวนเงิน 100 บาท

2) ทองรูปพรรณ หนัก 1 บาท ราคารับซื้อคืน จะเท่ากับ ราคารับซื้อคืนทองคำแท่ง 1 บาท หักด้วยค่าเสียหายจากการหลอมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่เกิน 5% ของมูลค่าซื้อคืนทองคำแท่ง 1 บาท นับจากวันที่ทำการซื้อขาย ตามราคาที่สมาคมค้าทองคำประกาศ (ตรวจสอบราคาได้ที่ เว็บไซต์สมาคมค้าทองคำ) ทั้งนี้ เฉพาะทองรูปพรรณที่ซื้อไปจากร้านค้าทองที่รับซื้อคืน

ตัวอย่างการคิดคำนวณทองรูปพรรณตามประกาศฯ  
หากราคารับซื้อคืนทองคำแท่ง 1 บาท ตามที่สมาคมค้าทองคำประกาศ = 40,000 บาท ดังนั้น 5% ของ 40,000 = 2,000  บาท ถ้าเรานำทองรูปพรรณ 1 บาท ไปขาย ต้องได้เงินไม่ต่ำกว่า 40,000 – 2,000 (5% ของ 40,000) = 38,000 บาท

นั่นแปลว่า หากผู้ประกอบการร้านทองรับซื้อทองคำในราคาต่ำกว่าที่ประกาศฯ กำหนด หรือตามตัวอย่างคือ 28,500 บาท ผู้บริโภคก็ไม่ควรขายทอง เพราะเท่ากับเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบการร้านทองอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่กำหนดโทษทางอาญาไว้ตามมาตรา 37 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการตามมาตรา 25 (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ 

ทำอย่างไรดี เมื่อเกิดปัญหาซื้อขายทองคำได้ราคาต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด

  • หากผู้บริโภคต้องการขายทองคำคืน ให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนด ควรขายร้านเดียวกับร้านที่ซื้อมา
  • ก่อนขายคืน ผู้บริโภคควรตรวจสอบราคาตลาด สอบถามราคาจากทางร้าน รวมถึงการหักค่าแรงหรือค่ากำเหน็จให้แน่ชัดก่อน (ค่ากำเหน็จ คือ ค่าผลิตทองคำรูปพรรณให้เป็นแบบลวดลายต่าง ๆ รวมทั้ง ค่าการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจร้านทอง ราคาจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการผลิตชิ้นงานรูปพรรณนั้น ๆ)
  • รวบรวมหลักฐานใช้ในการขายคืน ได้แก่ ใบรับประกันทอง ใบรับรอง หรือสัญญาซื้อขายทองที่ทางร้านออกให้แก่ผู้ซื้อในวันซื้อขาย เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าได้ซื้อจากร้านดังกล่าว และแสดงถึงมาตรฐานของทองคำนั้น
  • หากผู้บริโภคถูกปฏิเสธถึงสิทธิที่จะได้รับการขายคืนในอัตราที่กำหนดข้างต้น ถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาซื้อขายตามที่กฎหมายกำหนด สามารถแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภค เพื่อให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยได้

ที่มา : https://bit.ly/3LFOs05