จะกินของดี แต่ได้ของเสีย หมดอายุ ผู้บริโภคร้องเรียนได้ไหม?

จากกรณีที่มีผู้บริโภครายหนึ่งออกมาโพสต์โซเชียลมีเดียถึงการที่ตนเอง ซื้อเครื่องดื่มโอวัลตินแบบกดตู้จากร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น (7 – eleven) หลังจากดื่มเข้าไปแล้วพบว่ามีรสชาติเปรี้ยว เนื่องจากโอวัลตินที่กดมาหมดอายุ ผู้บริโภครายนี้จึงโพสต์ข้อความเตือนภัยจนเกิดเป็น กระแสและทำให้ร้านสะดวกซื้อดังกล่าวติดต่อมาแสดงความขอโทษ แต่ในฐานะผู้บริโภคที่ต้องได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ควรจะได้รับคำตอบจากผู้ประกอบธุรกิจมากกว่าคำว่าขอโทษ ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดมาตรฐานที่ดีในความปลอดภัยด้านสุขอนามัยแก่ผู้บริโภค เนื่องจากอันตรายที่เกิดจากอาหารหรือเครื่องดื่มบูดเสียจากแบคทีเรียที่เกิดจากการหมดอายุของอาหารและเครื่องดื่มที่อาจทำให้ผู้บริโภคป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภควัยเด็กที่นิยมเครื่องดื่มประเภทโอวัลติน

หากพบเหตุการณ์ลักษณะนี้ ให้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

1. เก็บตัวอย่างอาหารที่พบปัญหาไว้ในสภาพที่สมบูรณ์มากที่สุด และถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน รวมถึงเก็บข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ไว้ ได้แก่ ชื่อสินค้า ชื่อ – ที่อยู่ผู้ผลิต วันเวลาที่ซื้อ สินค้า สถานที่ซื้อสินค้า และใบเสร็จของสินค้า

2. หากได้รับความเสียหายจากการบริโภคอาหารนั้น ๆ ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์

3. รีบนำตัวอย่างอาหารและหลักฐานทั้งหมดแจ้งไปที่ร้านอาหารหรือแหล่งที่ซื้ออาหารมา และหากร้านไม่แก้ไขให้แจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือหากไม่มีความคืบหน้าสามารถร้องเรียนกับหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เบอร์สายด่วน 1556 โดยต้องระบุปัญหาและความต้องการให้ชัดเจน เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอคืนเงิน หรือให้ชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นต้น

*หมายเหตุ : หลักฐานตัวจริงทั้งหมดให้เก็บไว้ที่ตนเอง ห้ามให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ วิธีสังเกตง่าย ๆ โดยทั่วไปที่ผลิตภัณฑ์ จะมีวันหมดอายุ ตัวย่อ EXP (Expiry Date / Expiration Date) คือวันที่อาหารหมดอายุ หลังจากวันนั้น ไม่ควรรับประทาน เพราะอาหารนั้นจะเน่า เสีย หรือบูดแล้ว จึงห้ามรับประทานเพราะอาจเกิดปัญหาสุขภาพ หรือ อีกตัวย่อที่มีการระบุไว้ที่ผลิตภัณฑ์ คือ BBE (Best Before / Best Before End) แปลว่า ควรบริโภคก่อน หมายถึง อาหารจะมีรสชาติดี ยังคงคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ตามที่ระบุไว้บนฉลากอาหารจนถึงวันนั้น หลังจากวันนั้นไปรสชาติจะเปลี่ยนแปลง คุณภาพและคุณค่าทางอาหารจะลดลง แต่จะไม่มีปัญหาในเชิงความปลอดภัย จึงยังสามารถบริโภคได้โดยไม่มีอันตราย แต่อาจไม่ได้ประโยชน์จากอาหารนั้นตามที่ระบุไว้บนฉลากอาหารได้

ทั้งนี้หากพบฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่แสดงวันเดือนปีที่ผลิตหรือวันเดือนปีที่หมดอายุ ผู้ประกอบการจะมีความผิดตามมาตรา 6(10) ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ต้องระวางโทษปรับถึง 30,000 บาท ตามบทกำหนดโทษตามมาตรา 51 และหากร้านค้าที่จำหน่ายอาหารหมดอายุ มีความผิดทางกฎหมายตามมาตรา 25(4) ประกอบมาตรา 29 มีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับถึง 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากร้านค้าจำหน่ายอาหารเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ มีความผิดทางกฎหมายตามมาตรา 25(1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือแจ้งหน่วยงานกำกับดูแลให้เข้าตรวจสอบแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า สามารถร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค ตามสิทธิผู้บริโภคตามช่องทางดังต่อไปนี้ โดยเฉพาะการร้องเรียน ร้องทุกข์ ออนไลน์ ซึ่งทำได้ง่าย

• ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public

• ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U

• โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1, 081 134 9215 หรือ 081 134 9216

• อีเมล : [email protected]

• อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค