ใส่ใจ ใส่บาตร เพื่อสุขภาพของพระสงฆ์

“โยมสะดวก แต่พระอาจไม่สบาย” เป็นหนึ่งในประเด็นที่โครงการสงฆ์ไทยไกลโรคนำมาใช้เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ญาติโยมหรือฆราวาสให้เห็นถึงความสำคัญต่อการ “ใส่ใจ ใส่บาตร” ในการทำอาหาร เลือกซื้ออาหารอาหารสำเร็จรูป สำหรับนำไปถวายแก่พระสงฆ์และสามเณร เพราะในปัจจุบันเราต่างเลือกอาหารด้วยการเน้นไปที่ความสะดวกสบายมากกว่าการคำนึงถึงอาหารที่มีคุณค่า มีโภชนาการสูง และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

เราในฐานะญาติโยมจะใส่บาตรหรือถวายอาหารอย่างไรเพื่อให้ได้ทั้งความสะดวกสบายและมาคู่กับความใส่ใจสุขภาพ สภาผู้บริโภคชวนทุกคนเลือกสรรอาหาร และอาหารสำเร็จรูปที่ดีและเหมาะสม ถวายแด่พระสงฆ์และสามเณรเพื่อให้ได้บุญไปพร้อม ๆ กับช่วยให้พระสงฆ์และสามเณรมีสุขภาพดีด้วย

เลือกได้ เลือกดี ช่วยพระสงฆ์ปลอดภัย สุขภาพดี

4 เลือก

  1. เสริมข้าวกล้อง ข้าวสวย เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้สำหรับการตักบาตร การเสริมข้าวกล้องจะช่วยเพิ่มใยอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ ที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพของพระสงฆ์ให้ดียิ่งขึ้น อย่าลืมมองหาร้านขายอาหารที่มีข้าวกล้องจำหน่ายทุกครั้งที่ซื้ออาหารใส่บาตร
  2. เสริมเมนูผัก ไม่ว่าจะเป็นเมนูผักต่าง ๆ หรือผัดสด ผักลวกที่จัดจำหน่ายคู่กับน้ำพริก ก็เป็นตัวเลือกสุขภาพที่ดีสำหรับการใส่บาตรให้กับพระสงฆ์ ลองมองหาผักทุกครั้งก่อนใส่บาตร
  3. เสริมเมนูปลา ปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีและย่อยง่าย จึงแนะนำให้เลือกซื้อเมนูอาหารที่มีปลาเป็นส่วนประกอบ
  4. เสริมนมวัว หากเลือกซื้อเครื่องดื่มสำหรับใส่บาตรควรพิจารณาเลือกนมวัวเพื่อผลดีต่อสุขภาพของพระสงฆ์และสามเณร เพราะนมวัวอุดมไปด้วยโปรตีนและแคลเซียม

2 เลี่ยง

  1. หลีกเลี่ยงเมนูทอด หรือ ผัดที่ใส่น้ำมันเยิ้ม ซึ่งมีไขมันค่อนข้างสูง
  2. หลีกเลี่ยงเมนูแกงกะทิ หรือ ใช้สูตร นมครึ่ง – กะทิครึ่ง เมนูแกงกะทิมีไขมันอิ่มตัวสูงและไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ หรืออาจลองเลือกใช้นมวัวแทนกะทิ สูตร นมครึ่ง กะทิครึ่ง จะช่วยให้พระสงฆ์และสามเณรได้รับอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ

ดูฉลากก่อนเลือกของ

นอกจากนี้ ก่อนเลือกซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำผลไม้ หรืออาหารที่อยู่ในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่ายอื่น ๆ ต้องดูปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ที่ระบุไว้บนฉลาก หวาน มัน เค็ม (ฉลากจีดีเอ : GDA) ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ โดยวิธีนี้สามารถใช้กับการเลือกของไปบริจาคหรือซื้อเพื่อเก็บไว้กินที่บ้านได้ด้วย

สำหรับปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมที่คนทั่ว ๆ ไปควรได้รับ มีดังนี้

จำนวนพลังงานที่ต้องการใช้ใน 1 วัน ผู้ชาย ประมาณ 1,800 – 2,000 แคลอรี่ (Kcal) ส่วนผู้หญิง = ประมาณ 1,500 – 1,800 แคลอรี่

น้ำตาล ควรบริโภคไม่เกินวันละ 24 กรัมหรือ 6 ช้อนชา

ไขมัน ควรบริโภคไม่เกินวันละ 24 กรัมหรือ 6 ช้อนชา

เกลือ ควรได้รับไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา 5 กรัม หรือปริมาณโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม

สังเกตวันหมดอายุร่วมด้วย

วันหมดอายุก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องสังเกตก่อนจะซื้อ โดยอาหารที่เราจะนำไปใส่บาตรต้องเก็บได้นาน 3 เดือนเป็นอย่างน้อย หรือถ้าจะให้ดีควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บได้นานกว่า 6 เดือน หรือสังเกตสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) เพื่อเป็นตัวช่วยสำคัญให้เราเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสารอาหารเหมาะสม ลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้กับพระสงฆ์ได้ด้วย

ฉลากสีสัญญาณไฟจราจร

หลายคนอาจสังเกตว่า ฉลากจีดีเอ ที่อยู่ในภาพอินโฟกราฟิกจะมีสีไม่เหมือนกับที่เราเห็นทั่วไป นั่นเป็นเพราะการแสดงฉลากแบบนี้เรียกว่า ‘ฉลากสีสัญญาณไฟจราจร’ ซึ่งเป็นสิ่งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รวมถึงองค์กรผู้บริโภคได้ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถอ่านฉลากได้ง่าย ๆ จากสีว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมเกินมาตรฐานหรือไม่ โดยสีเขียว หมายถึง มีปริมาณสารอาหารอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด สีเหลือง หมายถึง มีปริมาณสารอาหารสูงปานกลาง และ สีแดง หมายถึง มีปริมาณสารอาหารสูงเกินกว่า 2 เท่าของเกณฑ์ที่กำหนด (ชวนอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร ได้ที่ลิงก์ https://www.consumerthai.org/campaign/menutrafficlightlabelling/3950-trafficlightlabelling.html)

อ้างอิงเนื้อหา : เว็บไซต์สงฆ์ไทยไกลโรค

ผู้บริโภค สภาผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค