ผู้ที่จะซื้อรถไฟฟ้า EV มาใช้งาน จำเป็นต้องเข้าใจระบบไฟฟ้าภายในบ้านก่อนติดตั้ง เพื่อความปลอดภัยและป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยมีข้อควรระวังในเรื่องการเตรียมพื้นที่ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ ดังนี้
เครื่องมือและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ควรเตรียม
1. มิเตอร์ไฟฟ้า แนะนำให้เปลี่ยนขนาดมิเตอร์เป็น 30(100) แอมป์ หรือขนาดที่ใหญ่กว่า เพื่อป้องกันการใช้ไฟฟ้าที่มากเกินไป ทั้งนี้ต้องประเมินจากพฤติกรรมและปริมาณการใช้ไฟของคนที่บ้านด้วย *ปกติไฟบ้านทั่วไปจะใช้มิเตอร์ขนาดจะประมาณ 15(45) แอมป์*
2. ตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB) ควรตรวจสอบภายในตู้ว่ามีช่องว่างสำรองเพื่อติดตั้งเบรกเกอร์ลูกย่อยอีก 1 ช่องหรือไม่ เพราะการชาร์จไฟของรถไฟฟ้า EV จะต้องแยกออกจากเครื่องไฟฟ้าอื่น ๆ หรือถ้าหากภายในตู้หลักไม่มีช่องว่าง ต้องเพิ่มตู้ควบคุมย่อยอีก 1 จุด
3. สายไฟหลัก (สายเมน) ต้องใช้สายเมนขนาด 25 ตร.มม.
4. เบรกเกอร์ลูกย่อย หรือลูกเซอร์กิต (Miniature Circuit Breakers : MCB) ขนาด 100 แอมป์
5. อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่ว (Residual-Current Device : RCD) แบบ Type-B : อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่ว เป็นเครื่องมือที่ช่วยตัดวงจรไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเข้าออกมีค่าไม่เท่ากัน ซึ่งจะช่วยป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร และการเกิดเพลิงไหม้ได้ สำหรับอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วแบบ Type – B จะสามารถตัดไฟรั่วสำหรับไฟฟ้าแบบกระแสสลับ (AC) ที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 มิลลิแอมป์ ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้กับที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ ในกรณีที่สายชาร์จไฟฟ้ามีระบบตัดไฟภายในตัวอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องติดตั้งเพิ่ม
6. เต้ารับ (EV Socket) สำหรับการเสียบชาร์จรถไฟฟ้าต้องมีสายดิน (มี 3 รู) และต้องทนกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 16 แอมแปร์ โดยรูปทรงอาจจะปรับตามรูปแบบปลั๊กของรถไฟฟ้า EV แต่ละรุ่น
การเตรียมพื้นที่ติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้า EV
1. จุดติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบติดผนัง (Wall Charger) ควรอยู่ในพื้นที่ร่ม มีหลังคาป้องกันแดด และละอองฝน เช่น โรงจอดรถ หรือที่สถานที่มีหลังคาภายในพื้นที่บ้าน ทั้งนี้ หลังคาควรที่จะครอบคลุมตั้งแต่ตู้ชาร์จไปจนถึงตัวรถ เพื่อลดโอกาสที่จะโดนไฟช็อตหรือไฟดูด
นอกจากการใช้ที่ชาร์จแบบติดผนังแล้ว เรายังสามารถใช้หัวชาร์จที่สามารถชาร์จกับไฟบ้าน (Normal charge) ให้ แต่จะใช้เวลาชาร์จนานกว่าปกติถึง 2 เท่า คือ ที่ชาร์จแบบ wall charger จะใช้เวลาประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง ขณะที่หัวชาร์จที่สามารถชาร์จกับไฟบ้านได้อาจใช้ระยะเวลาในการชาร์จถึง 12 – 16 ชั่วโมง
ส่วนการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วยที่ชาร์จรถไฟฟ้าแบบฉุกเฉิน (Emergency charger) มีข้อจำกัดคือหากใช้บ่อยจะส่งผลให้อายุการใช้งานแบตเตอรีสั้นลง
2. ระยะทางจากจุดติดตั้งเครื่องชาร์จจนถึงตัวรถ ไม่ควรเกิน 5 เมตร เนื่องจากสายเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า โดยทั่วไป มีความยาวประมาณ 5 – 7 เมตร
3. ตู้ชาร์จควรวางใกล้ตู้ควบคุมไฟฟ้า หรือตู้เมนไฟฟ้าในบ้าน (Main Distribution Board : MDB) เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟ
4. เพิ่มสายดินหุ้มฉนวน ขนาดมากกว่า 10 ตารางมิลลิเมตร / หลักดินเส้นผ่านศูนย์กลาง 16 มม. (5/8 นิ้ว)
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก : รถไฟฟ้า EV กับ 5 วิธีชาร์จไฟบ้านอย่างไรให้ประหยัดและปลอดภัย