‘ผู้บริโภค’ จะเป็นอย่างไร ถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP

เมื่อไม่นานมานี้ เราอาจจะเคยเห็นการออกมาคัดค้านรัฐบาลไม่ให้นำประเทศไทยเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือที่เรียกกันว่า CPTPP ในสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย กระทั่งแฮชแท็ก #NoCPTPP ติดเทรนด์ของทวิตเตอร์หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเหตุผลในการคัดค้านจากคนส่วนใหญ่มองว่าการเข้าร่วมดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย รวมถึงความคิดเห็นจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษา CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร ยังระบุว่า การเข้าร่วมความตกลงฯ นี้ของประเทศไทยอาจจะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เนื่องจากรัฐบาลก็ยังไม่มีความพร้อมและไม่มีแผนในการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงผู้บริโภค ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังไม่มีความพร้อมที่จะเข้าร่วม CPTPP

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคหลายคนอาจจะเกิดข้อสงสัยว่า ‘เอ๊ะ… การเข้าร่วม CPTPP จะเกิดผลกระทบกับเราจริงเหรอ ก็ดูเหมือนว่าถ้าเข้าร่วมแล้วประเทศจะไปเพิ่มการลงทุนจากประเทศสมาชิกได้นะ’ วันนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค จะชวนผู้บริโภคไปดูเหตุผลที่ว่าทำไมประเทศไทยถึงไม่ควรเร่งรีบที่จะเข้าร่วมกับ CPTPP และเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเราในฐานะผู้บริโภคถึงจะต้องออกมาคัดค้านการเข้าร่วมครั้งนี้

| การซื้อสินค้าออนไลน์ มีความเสี่ยงมากขึ้น |

ความตกลง CPTPP กำหนดไม่ให้หน่วยงานรัฐบังคับบริษัทที่จัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ต้องขึ้นทะเบียนสินค้าและบริการในประเทศ ทำให้การติดตาม ความรับผิดต่อสินค้าและบริการที่เป็นอันตรายทำได้ยากยิ่งขึ้น หรือการชดเชยความเสียหายต่อผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ไม่อาจทำได้

ทุกวันนี้เราคงจะเห็น หรืออ่านข่าวเวลาที่มีผู้บริโภคซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ บ้างก็ไม่ได้รับสินค้า บ้างก็ได้รับสินค้าที่ชำรุด เสียหาย ร้านค้าไม่คืนเงินให้ พอจะไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็มีระยะเวลานานอีก ในขณะที่ ผู้ที่ทำผิดก็ยังขายของได้ต่อไป เนื่องจากไม่ถูกดำเนินคดีสักที ส่วนตัวผู้บริโภคเองก็จะต้องคอยไปเตือนภัยกันเอง

ถ้าหากสมมติว่า ประเทศไทยเข้าไปร่วมความตกลงนี้ล่ะก็… ผู้ขายสินค้าไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องขึ้นทะเบียนสินค้าด้วย เป็นความสมัครใจของผู้ขายเอง หากมีผู้ขายที่ขายสินค้าที่อาจจะเป็นอันตราย แล้วเวลาที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์นั้นมาและเกิดปัญหา ก็อาจจะติดตามตัวได้ยากยิ่งขึ้น รวมทั้งการขอชดเชยความเสียหายก็จะยากยิ่งขึ้นไปด้วยนั่นเอง

| ผู้บริโภคจะได้รับความเสี่ยงจากเครื่องสำอางด้อยคุณภาพ |

ความตกลง CPTPP กำหนดไม่ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุเลขที่จดแจ้งบนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตาม ตรวจสอบ และคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าเครื่องสำอางที่ไม่มีคุณภาพ

หลายคนอาจจะเพิ่งทราบว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่หากเข้าร่วม CPTPP แล้วจะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคอย่างเรา ๆ เป็นอย่างมาก ซึ่งประเด็นของเครื่องสำอางจะคล้ายกับประเด็นของสินค้าบนออนไลน์ คือ การระบุเลขจดแจ้งบนผลิตภัณฑ์ก็จะเป็นความสมัครใจของผู้ประกอบการด้วยเช่นเดียวกัน และ อย. จะไปบังคับผู้ประกอบการไม่ได้เลย จากเดิมที่ อย. ต้องกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องจดแจ้งเลขก่อนที่จะวางขาย

สมมติว่าผู้ประกอบการอาจจะนำเครื่องสำอางไม่มีคุณภาพมาขาย โดยที่ไม่ได้จดแจ้งเลขผลิตภัณฑ์ด้วย แล้วเราใช้ผลิตภัณฑ์นั้น จนเกิดมีผื่นขึ้น แต่สุดท้ายไม่สามารถติดตามตัวผู้ขายให้มาชดใช้ค่าเสียหายให้เราได้ แล้วเราจะทำอย่างไร? บางคนอาจจะบอกว่า เวลาซื้อผลิตภัณฑ์ก็ซื้อที่มีเลขจดแจ้ง เวลามีปัญหาก็ตรวจสอบได้ แต่หากเข้าร่วม CPTPP แล้ว อย. จะไปบังคับผู้ประกอบการไม่ได้เลย

| ถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่ใช้แล้ว |

ความตกลง CPTPP ระบุว่า ประเทศสมาชิกต้องยอมให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้ว ที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำหรือผลิตใหม่ (Re – manufactured Medical Devices)

สมมติว่าประเทศไทยเข้าร่วมความตกลงฯ นี้ เราจะต้องแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตให้มีการนำเข้าและส่งผลให้บางโรงพยาบาลที่ต้องการลดต้นทุนอาจหาเครื่องมือแพทย์ที่ใช้งานแล้วมาใช้ แทนที่จะลงทุนซื้อเครื่องใหม่

ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญที่จะดูแลมาตรฐานคุณภาพของเครื่องมือแพทย์ที่ใช้แล้ว อาจจะส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและการรักษาโรคผิดพลาด หรือไม่ได้มาตรฐานได้

เครื่องมือแพทย์ ‘มือสอง’ เหล่านี้ก่อปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น เพราะเครื่องมือเหล่านี้จะมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าเครื่องมือแพทย์ใหม่ อีกทั้งประเทศไทยยังขาดระบบจัดการและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย

| อันตรายจากผลิตภัณฑ์ GMO และการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูและเครื่องในหมู |

ตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety Protocol) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนั้น ประเทศผู้ส่งออกมีหน้าที่ต้องแจ้งแก่ประเทศผู้นำเข้าหากเป็นสินค้าจีเอ็มโอ และผู้นำเข้าสามารถปฏิเสธการรับผลิตภัณฑ์นั้นได้ตามมาตรการป้องกันเอาไว้ก่อน หรือการคำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจสังคม ถึงผลกระทบต่อความปลอดภัยทางชีวภาพและสุขภาพ

แต่หากเข้าร่วม CPTPP จะไม่สามารถปฏิเสธผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอได้ โดยในข้อ 8 ของความตกลงฯ บทที่ว่าด้วยการค้าสินค้าที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ภายใต้มาตรา Article 2.27: Trade of Products of Modern Biotechnology นั้น ระบุว่า กรณีที่มีจีเอ็มโอปนเปื้อน (Low Level Presence) ให้ผู้ส่งออกดำเนินการต่าง ๆ ตามระเบียบและกฎหมายภายในของประเทศผู้ส่งออก และให้เป็นไปตามการประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยด้านอาหารของ CODEX ซึ่งประเทศไทยอาจจะไม่มีอำนาจปฏิเสธและไม่สามารถจัดการปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมเหล่านี้ได้

ส่วนการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูและเครื่องในหมูนั้น ประเทศสมาชิกความตกลงฯ บางประเทศใช้สารเร่งเนื้อแดงในระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ จึงมีความเป็นไปได้ที่สินค้าปศุสัตว์ที่ปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงจะถูกส่งออกมายังประเทศไทย และอาจมีการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดงในปริมาณที่อาจก่ออันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้

| ฐานทรัพยากรด้านสมุนไพรของไทย ที่สามารถพัฒนาเป็นยาได้ อาจถูกยึดครองโดยบริษัทต่างชาติ |

ประเทศสมาชิกความตกลง CPTPP ต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามอนุสัญญา UPOV 1991 ทำให้ประเทศต้องตัดข้อกำหนดกลไกการขออนุญาตล่วงหน้า (Prior Informed Consent) และแบ่งปันผลประโยชน์ (Benefit Sharing) ซึ่งเปิดช่องให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ไม่ต้องแจ้งที่มาของพันธุ์พืช ทำให้บริษัทต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชสมุนไพรของไทยไปปรับปรุงพันธุ์และขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้

ประเทศไทยจะสูญเสียรายได้จากทรัพยากรชีวภาพเหล่านี้ ในขณะเดียวกันการขยายการคุ้มครองส่วนขยายพันธุ์ไปครอบคลุมถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์ และการขยายการคุ้มครองไปยังอนุพันธุ์ของสายพันธุ์พืชใหม่ จะส่งผลกระทบต่อการคัดเลือกปรับปรุงสายพันธุ์พืชยาบางชนิดมาปลูกต่อ รวมถึงส่งผลกระทบต่อผลิตผลและผลิตภัณฑ์ยาซึ่งเกิดจากการใช้สายพันธุ์ดังกล่าวด้วย

| เกษตรกรที่ซื้อพันธุ์พืชใหม่มาปลูก จะต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ในราคาสูงขึ้นถึง 2 – 6 เท่า |

การขยายสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์และบริษัทเมล็ดพันธุ์
ภายใต้อนุสัญญา UPOV 1991 ริดรอนสิทธิของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อในฤดูถัดไป และบริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ยังมีแนวโน้มรวมศูนย์ ทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ทุกฤดูปลูก

รายงานการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2556 พบว่า ในระยะยาวหากเกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชใหม่จากบริษัทเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรจะต้องซื้อสูงขึ้นประมาณ 2 – 6 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 28,538 ล้านบาท เป็น 80,721 – 142,932 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 52,183 – 114,394 ล้านบาท/ปี

จะเห็นว่า การเข้าร่วมความตกลงฯ นั้นส่งผลกระทบกับทุกคน การจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชในราคาสูงขึ้นนั้นส่งผลกระทบกับเกษตรกรเป็นอย่างมาก และที่ตามมาก็คือผู้บริโภคก็อาจจะต้องจ่ายค่าอาหารแพงขึ้นอีกก็เป็นได้

| ยาจะมีราคาแพง เพราะมาตรการ ‘Patent Linkage’ |

มาตรการ Patent Linkage ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติยา เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหน้าที่เพิ่มเติมที่ต้องประกาศหรือแจ้งให้บริษัทยาต้นแบบทราบ เมื่อมีบริษัทยาชื่อสามัญมาขอขึ้นทะเบียนตำรับยาที่บริษัทยาต้นแบบจดสิทธิบัตรไว้ เพื่อให้บริษัทยาต้นแบบจัดการกับบริษัทยาชื่อสามัญเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิบัตรจนแล้วเสร็จก่อน อย. จึงจะสามารถอนุมัติทะเบียนยาให้กับบริษัทยาชื่อสามัญนั้นได้

ทำไม ‘ยาถึงจะมีราคาแพง’ ล่ะ ?

ปัจจุบันนี้ หากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิบัตรยาและฟ้องร้องเป็นคดีความ จะใช้เวลานานหลายปีกว่าจะสิ้นสุด แต่บริษัทยาชื่อสามัญยังสามารถจำหน่ายยาที่ได้รับการอนุมัติจาก อย. ได้ ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาในราคาถูก แต่หากเข้าร่วม CPTPP แล้ว จะต้องรอให้คดีสิ้นสุดก่อน ดังนั้น บริษัทยาชื่อสามัญจะไม่สามารถจำหน่ายยาได้ในระหว่างการดำเนินคดีนี้ และแน่นอนว่ายาที่มีจำหน่ายอยู่ในระบบจะเป็นของบริษัทยาต้นแบบ ซึ่งเป็นยาที่ติดสิทธิบัตรและมีราคาสูง เพราะรัฐไม่สามารถควบคุมราคาได้ เท่ากับว่าหากยอมรับเงื่อนไขนี้จะเป็นการตัดโอกาสการผลิตยาและการพัฒนาเทคนิคการผลิตยาใหม่ ๆ ของอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นบริษัทขนาดกลางและเล็กที่ไม่มีศักยภาพต่อรองกับบริษัทยาต้นแบบ ที่เป็นบริษัทยาข้ามชาติขนาดใหญ่ จนอาจจะทำให้บริษัทยาชื่อสามัญในประเทศต้องยอมแพ้และยกเลิกการขอขึ้นทะเบียนยากับ อย. ไปเอง ท้ายสุด ทำให้โอกาสที่ประเทศจะมีศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านยาลดลงและยามีราคาแพงมากขึ้น

| ประเทศไทยจะถูกจำกัดการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อการเข้าถึงยาที่จำเป็น พิทักษ์และคุ้มครองสุขภาพของประชาชน เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องจากการคุ้มครองการลงทุน |

ความตกลง CPTPP จะมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไทยในการประกาศใช้มาตรการต่าง ๆ ซึ่งมาตรการเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชน เพราะอาจถูกภาคเอกชนฟ้องร้องรัฐในอนุญาโตตุลาการให้ชดใช้ค่าเสียหายและยกเลิกมาตรการ ทั้ง ๆ ที่เป็นนโยบายเพื่อสาธารณะ

ตัวอย่างเช่น การประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาโดยรัฐ (Compulsory Licensing) เพื่อเข้าถึงยาที่จำเป็น, การกำหนดข้อความคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์บุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นมาตรการป้องปรามนักสูบและนักดื่มหน้าใหม่ มาตรการที่กำหนดให้ศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการในคดีทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ โฮปเวลล์ และคดีเหมืองทองอัครา ซึ่งล้วนแพ้คดีและต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ถ้าประเทศไทยเข้าร่วมความตกลงฯ จึงมีความสุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะมีภาคเอกชนในประเทศที่เป็นสมาชิกความตกลงฯ ฟ้องคดีต่อรัฐได้ และถึงแม้ประเทศไทยจะยังไม่มีความตกลงแบบทวิภาคี และอ้างว่าจำเป็นต้องออกกฎหมายหรือนโยบายเพื่อประโยชน์สาธารณะนั้น ภาคเอกชนก็อาจจะฟ้องร้องเป็นคดีความและสามารถ ‘ยึดทรัพย์โดยอ้อม’ ได้

| รัฐบาลไทยไม่สามารถสนับสนุนองค์การเภสัชกรรมให้ปฏิบัติพันธกิจส่งเสริมการเข้าถึงยาและความมั่นคงทางยาของประเทศได้อีกต่อไป |

ปัจจุบันกระทรวงการคลังประกาศใช้กฎกระทรวง กำหนดพัสดุ และวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 ข้อ 17 ที่กำหนดให้โรงพยาบาลของรัฐจัดซื้อยาจากยาที่ผลิตจาก อภ. สภากาชาดไทย หรือโรงงานเภสัชกรรมทหารเป็นลำดับแรก เพื่อสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางยาและรายได้จากการจำหน่ายยาจะนำไปใช้พัฒนาศึกษาวิจัยยาใหม่ของหน่วยงานเหล่านี้

หากประเทศไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP ก็จะต้องยกเลิกมาตรการสนับสนุนในลักษณะข้างต้น เนื่องจากในบทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐจะไม่อนุญาตให้รัฐให้สิทธิพิเศษกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรืออุตสาหกรรมภายในประเทศในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และต้องเปิดโอกาสให้เอกชนต่างชาติเข้ามาดำเนินการแข่งขันอย่างเสมอภาค

| ประชาชนเข้าถึงอบายมุขได้ง่ายขึ้น |

การเข้าร่วม CPTPP กำหนดให้ต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาสูบ ทำให้ประชาชนเข้าถึงอบายมุขเหล่านี้ได้มากยิ่งขึ้น ผลที่ตามมาคือ อาจจะทำให้จำนวนประชาชนที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพเพิ่มขึ้น และใช้งบประมาณด้านสุขภาพที่มากขึ้น เนื่องจากอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาสูบ นอกจากนี้ ภาครัฐอาจถูกธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือบริษัทบุหรี่ข้ามชาติแทรกแซงนโยบาย หรือมาตรการควบคุมสินค้าดังกล่าวได้