สภาองค์กรของผู้บริโภคหรือสภาผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “การบ้านรัฐสวัสดิการในรัฐบาลเศรษฐา” ที่โรงแรม ทีเค พาเลซ คอนเวนชั่น โดยมี นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่าย We Fair ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล นายเดโชนุชิต นวลสกุล โฆษกพรรคเป็นธรรมและนายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมการเสวนา
WeFair เรียกร้อง10ข้อรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า
นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่าย WeFair กล่าวว่า ทางเครือข่ายได้ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลมา 10 กว่าวันและเจรจากับนายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีซึ่ง 1ใน 10 ข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) จะมีเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า โดยมีทั้งหมด 9 ประเด็นเรียกว่าชุดข้อเสนอถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
ในส่วนการบ้านรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ได้ไปยื่นทั้งหมด 14 พรรคการเมือง โดยหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมืองออกมารับหนังสือ ซึ่งขณะนี้พรรคการเมืองหลายพรรคกำลังถกเถียงกับแคนดิแดตนายกของตัวเอง เพราะว่าตอนเป็นแคนดิแดตได้หาเสียงไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องรัฐสวัสดิการ แต่พอมาเป็นนโยบายรัฐบาลก็ไม่ได้ระบุชัดเจน พอย้อนไปดูนโยบายรัฐบาลในยุคสมัยยิ่งลักษณ์เปรียบเทียบกับนโยบายปัจจุบันซึ่งนโยบายสมัยยิ่งลักษณ์ได้ระบุเลยว่า 600-1,000 บาทสำหรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและนโยบายค่าแรงก็ระบุเลยว่า 300 บาท แต่รัฐบาลนี้ดูเหมือนไม่ได้ระบุเป็นการผูกมัดใด ๆ ทั้งสิ้น
หากเปรียบเทียบเรื่องสำคัญเวลาพูดถึงรัฐสวัสดิการก็จะพูดว่าเอาเงินมาจากไหน แต่น่าแปลกรัฐบาลลุงตู่พูดถึงการปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณ แต่ว่าในนโยบายของรัฐบาลเศรษฐาไม่มีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้ไว้เลย เรากำลังขับเคลื่อนไปแล้ว และตอนนี้เรากำลังติดตามชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล
ชุดข้อเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนมีทั้งหมด 9 ด้านที่ยื่นต่อรัฐบาล โดยครอบคลุมเรื่องเด็ก การศึกษา สุขภาพ ที่อยู่อาศัย แรงงาน ประกันสังคม บำนาญ สวัสดิการเสมอหน้าเท่าเทียมเกี่ยวกับเรื่องคนพิการ การเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ให้สำหรับคนข้ามเพศ และการปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณ
หากตรวจสอบนโยบายพรรคการเมืองทั้งหมด 10 พรรคซึ่งเป็นทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านพบว่า สวัสดิการผู้สูงอายุซึ่งพรรคเพื่อไทยระบุไว้ 300,000 ล้าน มีบรรทัดเดียวที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพราะฉะนั้นจะไม่รู้ว่างบประมาณ 300,000 ล้านบาทจะเอาไปใช้อะไร และน่าแปลกที่ไม่มีนโยบายเรื่องเงินอุดหนุนเด็กอยู่ในนโยบายพรรคเพื่อไทยเลย ในส่วนบำนาญถ้วนหน้า พรรคพลังประชารัฐระบุไว้ว่าใช้งบประมาณ 500,000 ล้านระบุไว้ในเอกสาร กกต.ชัดเจน แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ระบุอะไรเลย ระบุแต่เพียงว่าให้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่พรรคภูมิใจไทยไม่มีนโยบายเรื่องนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติระบุว่า 600 – 1,000 บาท แต่ขอปรับเป็น 1,000 บาทก่อน พรรคชาติไทยพัฒนาไม่มีนโยบายเรื่องนี้ แต่ว่าได้คุมกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พรรคเพื่อไทยไม่ได้ระบุ พรรคก้าวไกลระบุ 3,000 บาท พรรคประชาชาติระบุ 3,000 บาท ส่วนพรรคเสรีรวมไทยระบุไว้ 3,000 บาท พรรคไทยสร้างไทยเสนอ 3,000 บาท พรรคเป็นธรรมเสนอ 3,000 บาท
โจทย์ที่รัฐบาลควรทำ ข้อแรกวิกฤตความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความเปราะบาง ที่ผ่านมาเราเจอสถานการณ์โควิดแต่เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตซึ่งทำให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำ ความเปราะบาง ความยากจน มีความชัดเจน
คนจนประเทศไทย เวลาที่บอกเป็นคนจนและเป็นข้อเสนอของเรา เราจะไม่ต้องให้ต่ำกว่าเส้นความยากจนคือ 2,803 บาท เราจึงเสนอที่ 3,000 บาท คนจนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศตอนนี้มีทั้งหมดประมาณ 4.4 ล้าน และมีคนเกือบจนอีก 4.8 ล้าน นี้คือสถานการณ์ที่เป็นจริง เวลาพูดถึงดิจิทัลวอลเลตมักพูดว่าจะแก้ความเหลื่อมล้ำ แต่ดิจิทัลวอลเลตไม่ได้มีเจตจำนงค์ที่จะแก้ความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะฉะนั้นมันอาจจะส่งผลเจือจางไปบ้างเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่ใช่โจกย์ในการแก้ความเหลื่อมล้ำ
ขณะที่หนี้ครัวเรือนมีประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ความเหลื่อมล้ำตอนนี้เรามีเศรษฐี 40ครอบครัว มีทรัพย์สินคิดเป็นจีดีพี 28 เปอร์เซ็นต์ เราปล่อยประเทศนี้เป็นแบบนี้มาได้อย่างไร ก็เพราะนโยบายเศรษฐกิจทุนนิยม แต่ตอนนี้เรือธงของพรรคเพื่อไทยก็คือจะใช้สิ่งที่เป็นความล้มเหลวรวยกระจุกจนกระจายมาผลิตซ้ำ
“ผมคิดว่าเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเป็นปัญหา เราต้องมาดูเศรษฐศาสตร์ที่มันควบคู่กับไปเรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการ”
ลองจินตนาการว่า ถ้าเราได้เบี้ยยังชีพ 3,000 บาท ปีนึงอย่างน้อยต้องใช้ 300,000 กว่าล้านถึง 400,000 กว่าล้าน เราจะกระตุ้นเศรษฐกิจทุกเดือนในรอบเดือนหรือเดือนละประมาณ 30,000 ล้านทันที ขณะที่แรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นลูกหลานซึ่งต้องดูแลผู้สูงอายุเยอะขึ้นไม่ต้องทำงานล่วงเวลา อย่างน้อย 30 ชั่วโมง ถ้าชั่วโมงละ 100 บาท ชีวิตที่มีเวลาดูแลลูกมากขึ้น 1 ชั่วโมงมันเป็นเศรษฐศาสตร์แห่งความสุข นี้คือการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะฉะนั้นเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่มองเฉพาะตัวเลขไม่สอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต
เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำ ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก มีเศรษฐีที่มีมากกว่า 1,000ล้านดอลลาร์ 10 อันดับแรกของเศรษฐีก็ซ้ำ ๆ วน ๆ เวียน นี้คือภาพจริงของประเทศ เราจะขยับประเทศนี้ได้อย่างไร ถ้าไม่มีรัฐสวัสดิการ นี้แหละครับการบ้านของเศรษฐา เราต้องการเป็นเศรษฐีอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ต้องการความมั่งมีในแบบนั้น เราต้องการคุณภาพชีวิต และสิ่งที่เรียกร้อง 3,000 บาทมันเกินเลยใช่ไหม
การบ้านข้อที่ 2 ในส่วนเรื่องเด็ก พรรคการเมืองไม่มีนโยบายด้านเด็ก แต่ได้เป็นรัฐมนตรี เช่นเดียวกับการศึกษา พรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐมนตรีไม่มีนโยบายด้านนี้เลย มีแต่หาเสียง แต่ไม่ผูกมัดและไม่ได้ระบุไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้งคือภูมิใจไทย
ในส่วนผู้สูงอายุก็เช่นเดียวกันโดยมีกระทรวงคลัง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง แต่รัฐมนตรีที่ดูแลไม่ได้มีนโยบายเรื่องนี้ มีแต่ระบุไว้ว่าสวัสดิการผู้สูงอายุ แต่ไม่มีเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
การบ้านข้อที่ 3 ต้องการปรับเพิ่มงบประมาณสวัสดิการสังคมเพราะสภาพจริงโครงสร้างงบประมาณเป็นแบบนี้มาตลอด สวัสดิการประชาชนทั้งหมด 64 ล้านคน 100 บาท มีอยู่ 14บาท สวัสดิการข้าราชการประมาณ 5.2 ล้าน 100 บาทมีอยู่ 15 บาทซึ่งไม่มีความเท่าเทียมเป็นธรรม เพราะฉะนั้นต้องปรับเพิ่มงบสวัสดิการประชาชนต้องไม่ต่ำกว่า
การบ้านข้อที่ 4 การปฏิรูประบบภาษี ถ้ามีเงิน 560,000 ล้านบาทตั้งเป็นหลัก เราจะได้สวัสดิการถ้วนหน้า 3 อย่างทันทีได้แก่ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประมาณ 11 ล้านคน เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า 4.2 ล้านคน สวัสดิการเงินอุดหนุนผู้พิการและเกิดมาได้ 3,000 บาทถ้วนหน้า ตอนนี้อัตราการเกิด 500,000 คนต่ำกว่าอัตราการตาย เพราะฉะนั้นเราต้องให้ความสำคัญ สามกลุ่มนี้ได้ถ้วนหน้าทันที 560,000 ล้าน แต่ถ้าปรับปีแรก 1,000 บาทได้ถ้วนหน้าทุกกลุ่ม และมีเงินเหลืออีก 12,000 ล้านซึ่งอาจนำไปเพิ่มในส่วนงบประมาณรายหัวให้กับบัตรทอง
เพราะฉะนั้นการปฏิรูประบบภาษี ฝ่ายประชาชนต้องมีนโยบายปฏิรูปภาษีเป็นนโยบายเรือธง เราไม่อาจพูดเฉพาะว่ามันมีนโยบายเบี้ยยังชีพแล้วเราอยากได้ 3,000 บาท แต่เราจะปล่อยให้งบประมาณมันไม่เท่าเทียมไม่ได้ มันต้องมีการปฏิรูประบบภาษี ระบบภาษีที่เราเสนอคือภาษีความมั่งคั่ง โดยที่ 100,000,000 ล้านบาทเก็บ 1 บาท ภาษีที่ดินรวมแปลง แต่ข้อเสนอปรับเพิ่มภาษีแวตควรเป็นข้อเสนอท้ายที่สุด เนื่องจากเป็นภาษีถดถอยไม่เป็นธรรม
ในส่วนระยะยาว ความเหลื่อมล้ำมีมิติทางการเมือง นโยบายอาจดีแต่ถ้าไม่เป็นประชาธิปไตยไม่ได้เกิดและไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพบว่าเกือบทุกมาตราผิดรัฐธรรมนูญ อย่างเช่น บัตรทอง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ยากไร้เข้าถึงการรักษาพยาบาลฟรีหรือแม้แต่เรื่องเบี้ยยังชีพ ดีเอ็นเอที่ฝังมา จริง ๆ ฝังเรื่องสงเคราะห์มา ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 ที่จะต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องดึงดีเอ็นเอเหล่านี้ออก แล้วให้สวัสดิการในแบบสิทธิเสมอกันถ้วนหน้าทุกคนได้รับ คนรวยก็เสียภาษี เราจะเก็บภาษีเพิ่มเมื่อรายได้เขามาก ทุกคนก็จะเป็นแบบนี้ ทุกคนก็ได้รับปันจากตัวภาษีที่เป็นสวัสดิการกลับคืนมา คนรวยสละสิทธิได้แล้วเนื่องจากทุกคนใช้ระบบถ้วนหน้า
ตอนนี้กำลังล่ารายชื่อ เรื่อง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ….ไปยื่นเมื่อวันที่ 27 ที่ผ่านมา โดยหลักการคือเปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญประชาชนโดยใช้เกณฑ์ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนและเป็นหลักประกันรายได้ โดยจะไปยื่นที่สภาหลังจากที่สภาเปิดประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 2 เข้าใจว่าเปิดวันที่ 12 ธันวา เราจะไปยื่น 13 ธันวาคม ทันทีที่เปิด อันนี้คือเรื่องแรก
สำหรับเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำอยู่คือ We Fair จะทำอีก 2 เรื่อง คือ เรื่องแรกภาษีความมั่งคั่งเก็บภาษีคนรวยครับถึงเวลาที่จะต้องทำให้การระบบภาษีและงบประมาณสะท้อนเพื่อทำให้การลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเท่าเทียมเป็นธรรมดีขึ้น อันที่สามจะเป็นเรื่องแรงงานประกันสังคมถ้วนหน้า
ในส่วนเงินดิจิทัลวอลเลต 560,000 ล้านจะมากกว่าสวัสดิการประชาชนในปีที่แล้ว 110,000 ล้าน ใน 110,000 ล้าน อย่างที่บอกไปคือสามารถที่จะยกระดับก่อน สมมติว่าเรามอง 3,000 ปลายทาง อีก 3 ปีเป็นต้น เราปรับปีแรก 1,000 บาททำทันที 1,500 หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าที่คำนวณมาถ้าผู้สูงอายุปรับเป็น 1,000 บาทมันจะใช้งบประมาณประมาณ 130,000 ล้าน งบเดิมมีอยู่แล้วครับประมาณ 80,000 ล้าน เพิ่มอีก 50,000 ล้าน เงินอุดหนุนเด็ก 51,000 ล้าน 4 ล้านคน งบเดิมมีอยู่แล้ว 16,000 ล้าน ปรับเพิ่มอีก 34,000 ล้าน เบี้ยความพิการได้ทันที 24,000 ล้าน มีคนพิการ 2 ล้าน ที่ยังไม่มีคือเงินหนุนครรภ์มารดา 9เดือน เดือนละ 3000 บาท หรือ 27,000 บาทต่อปี เพราะฉะนั้นได้หมดแล้ว 1,000 บาททันทีทุกกลุ่ม ก็ยังมีงบประมาณที่จะเอาไว้ใช้สำหรับค่าอาหารกลางวันนักเรียนแล้วก็รายหัว และสำหรับประกันสุขภาพอีก 12,000 ล้านบาท
พรรคก้าวไกลผลักดัน “สวัสดิการถ้วนหน้า”
ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล กล่าวว่า มีสวัสดิการ 3 ด้านอย่างน้อยที่ควรจะต้องเร่งผลักดัน จริง ๆ แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจน แต่ควรจะต้องหาเวทีพูดคุยและผลักดัน
ด้านแรก คือ เด็กซึ่งสถานการณ์เด็กเล็กน่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากสัดส่วนของเด็กที่มีโภชนาการไม่ได้ตามเกณฑ์ที่ควรจะเป็นอย่างเช่น มีสัดส่วนผอมแห้งตอนนี้มีอยู่ 7.2% มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อยู่ 6.7% นี่คือประเทศที่เรียกว่าเป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร เป็นครัวของโลก แต่ว่ายังเจอปัญหาลักษณะแบบนี้อยู่
ถ้ามองเฉพาะเด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่ยากจนที่สุด สัดส่วนที่ผอมแห้งจาก 7.2% ก็จะขึ้นเป็น 8.3% สัดส่วนของน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ถ้าเป็นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6.7 แต่ถ้าอยู่ในครอบครัวที่ยากจนก็จะขึ้นเป็น 9.99% เพราะฉะนั้นภาพนี้มันค่อนข้างเห็นชัดมากกว่าเด็กเล็ก ถ้าปล่อย 9.9% นี้ให้เติบโตในลักษณะที่ไม่สามารถที่จะมีการพัฒนาได้อย่างตามศักยภาพที่ควรจะเป็น ก็จะเกิดปัญหาต่อเนื่องในระยะยาวเมื่อเรามอง 10 ปีข้างหน้า 20 ปีข้างหน้า เราจะเห็นว่าปัญหามันเกิดขึ้นจากวันนี้ที่เราไม่ลงทุนนั่นเอง เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจร้อยละของเด็กที่ต่ำกว่า 5 ปีที่ถูกปล่อยให้อยู่โดยลำพังหรือให้เด็กต่ำกว่า 10 ขวบดูแลในภาพ โดยก่อนสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นั้นตัวเลขอยู่ที่ 4.5 และหลังสถานการณ์โควิดเมื่อปีที่แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 เกือบ 5% ที่ปล่อยแบบนี้และถ้าเป็นเด็กที่อยู่ในครัวเรือนยากจนตัวเลขมันเขยิบขึ้นไปอีก แต่ตัวเลขขยับขึ้นไปอีกจาก 5.0%เป็น 8.2% เพราะฉะนั้นสถานการณ์รุนแรงมาก ถ้ากระเถิบมาที่เด็กโตที่ไม่ได้เรียนก่อนโควิดนั้นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.0% ตอนนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 4.1% ในระดับประถมที่ไม่ได้เรียน เรากลับมามีปัญหาที่เราคิดว่าเราแก้ได้แล้วตั้งแต่ 20 ปีที่แล้วก็คือเราพาเด็กเข้าเรียนประถมจนหมดแต่ตอนนี้เราเริ่มกลับมามีปัญหาเด็กไม่ได้เรียนแล้ว
ถ้าไปดูครัวเรือนยากจนจะพบว่าตัวเลขนั้นก่อนโควิดอยู่ที่ 0.8 ตอนนี้กระเถิบขึ้นมาเป็น 5.7%ที่ไม่ได้เรียน เพราะฉะนั้นเงินจะใช้อย่างที่รัฐบาลเสนออยู่ปัจจุบัน 600 บาทต่อคนต่อเดือนแบบถ้วนหน้าหรือจะใช้แบบพรรคก้าวไกลเสนอ 1,200 บาทต่อคนต่อเดือนก็อยากให้รีบทำ เพราะงบในส่วนนี้ใช้เงินไม่มาก เนื่องจากจำนวนเด็กไม่ได้เยอะ ตัวเลขอาจจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 ถึง 50,000 ล้านบาท ก็อยากจะให้ผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นแบบถ้วนหน้าและในอัตราเพิ่มขึ้นโดยเร็วที่สุด
ด้านที่สอง คือ ผู้สูงอายุ เป็นเรื่องหนึ่งที่เราควรจะต้องไปกับรัฐบาล การกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ลองนึกภาพลักษณะการใช้เงินและแบบที่อยู่ ๆ เหมือนได้เงินมา 10,000 บาทและต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือนลองนึกภาพตามเปรียบเทียบกับได้เงิน 3000 บาททุกเดือน วิธีการใช้ต่างกันไหม และอย่าพึ่งพูดถึงตัวเลขเงิน
แต่ว่าถ้าพูดถึงวิธีการได้เงินแบบนี้การวางแผนใช้เงินก็จะต่างกัน มีโอกาสสูงมากที่ได้รับเงินในระยะสั้นคราวเดียว ก็อาจจะใช้ไปในลักษณะที่เป็นการซื้อสินค้าที่อาจจะไม่ใช่การลงทุนแต่เป็นสินค้าที่ดูเหมือนว่าอาจจะไม่ได้จำเป็นก็ได้ แต่ว่าเราคิดว่าจังหวะนี้มันเหมือนกับลาภลอยและก็รีบใช้แต่ถ้าได้ 3000 บาททุกเดือนและก็เริ่มวางแผนแต่ละเดือนจะมาใช้ในการปรับปรุงและคุณภาพชีวิตหรือลงทุนอย่างไร
ในส่วนของผู้สูงอายุนั้นไม่อยากให้มองเฉพาะเบี้ยชีพไม่ได้แปลไม่สนับสนุน แต่ต้องเพิ่ม ส่วนตัวเลขก็คงไม่ได้รับ 3,000 บาทต่อเดือนแต่ควรจะต้องพยามคุยกับรัฐบาลว่าตัวเลขมันควรจะเขยิบเป็นเท่าไหร่เพราะไม่ได้เขยิบมาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว มันก็ควรจะได้เวลาที่จะกระเถิบขึ้น ซึ่งต้องให้ภาคประชาชนไปคุย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเบี้ยยังชีพที่จะต้องคุยให้ได้ก็คือยืนยันเรื่องหลักการถ้วนหน้าของผู้สูงอายุก็คือผู้สูงอายุทุกคน จะต้องได้รับโดยไม่ได้พิสูจน์ความจนอีก แล้วก็ควรจะต้องคุยกับภาครัฐว่ามันถึงเวลาที่จะออกมาเป็นกฎหมายเฉพาะแล้วหรือยัง ซึ่งพรรคก้าวไกลก็เตรียมที่จะยื่นข้อเสนอกฎหมายในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
แต่ส่วนที่อยากจะเพิ่มเติมอีกสองเรื่องนอกจากเรื่องเบี้ยชีพหรือเรื่องบำนาญ ก็คือเรื่องระบบดูแลผู้สูงอายุซึ่งหมายถึงว่าเราจะมีจำนวนผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และผลที่เกิดขึ้นตอนนี้คือคนที่เป็นวัยแรงงานจำนวนหนึ่งต้องลาออกมาดูงานดูแลผู้สูงอายุเพราะว่าไม่มีคนดูแล จะไปจ้างผู้ดูแลก็จ้างไม่ไหวเพราะค่าจ้างก็อาจจะประมาณ 10,000 บาทต่อเดือนซึ่งอาจจะมากกว่าหรือใกล้เคียงกับเงินที่ได้รับในแต่ละเดือนด้วยซ้ำ
การที่คนที่จะลาออกโดยเฉพาะส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงหรือลูกสาวนั่นต้องลาออกมาดูแลพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่คือการสูญเสียพลังทางเศรษฐกิจ ก็จะคล้าย ๆ กับที่หลายท่านเป็นห่วงเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ แน่นอนระบบสวัสดิการจะช่วยทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้เพราะระบบสวัสดิการเช่นการดูแลผู้สูงอายุจะทำให้ผู้ที่มีความสามารถในการทำงานอยู่ในระบบการจ้างงานต่อไปโดยที่ไม่ต้องลาออกมาเพราะประเทศนี้ไม่มีระบบดูแลผู้สูงอายุ
อีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่าสำคัญมากก็คือการแก้ไขปัญหาหนี้สินของผู้สูงอายุ ถ้าดูตัวเลขในเมืองหนี้สินของผู้สูงอายุอาจจะลดลงเมื่อผ่อนบ้านเสร็จ แต่ถ้าไปดูภาคเกษตรตัวเลขนี่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ก็คือทำการเกษตรแล้วก็ขาดทุนและเป็นหนี้สะสม และไม่ได้ลดลง แถมยังมีโอกาสเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาเรื่องนี้ของผู้สูงอายุก็จะเป็นเรื่องใหญ่
ต่อมาการพักชำระหนี้ที่รัฐบาลกำลังจะทำ ไม่ได้เป็นการทำให้หนี้ลดลง เพียงแต่คล้าย ๆ ทำให้หนึ่งปีไม่จำเป็นต้องไปผ่อนชำระหนี้ แต่สิ่งที่จะทำให้ปัญหาที่ผู้สูงอายุเผชิญอยู่ลดลงได้ก็คือจะต้องมีมาตรการในการที่จะลดแล้วก็ปลดหนี้ออกไป เราต้องมีแผนการทางการเงินที่ชัดเจน ไม่ใช่ยกหนี้ให้เฉย ๆ อย่างนั้นไม่ใช่ แต่ว่ามีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนที่จะมีการปรับโครงสร้างหนี้แล้วก็ไปสู่การปลดหนี้ เราควรจะมีธงว่าคนไทยทุกคนเมื่ออายุ 70 ปีควรที่จะพ้นจากภาระหนี้สินนั่นหมายความว่าเราควรจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่อายุ 60 แน่นอนมีบางคนอายุเกินไปแล้วเป็นหนี้ก็ต้องเข้าไปดำเนินการอีกแบบหนึ่งแต่ว่าถ้าทำได้ก็ควรจะดูแลส่วนนี้แต่ต้น
ส่วนสุดท้ายที่อยากจะย้ำก็คือเรื่องแรงงาน อยากให้มีการเจรจาเรื่องกติกาในการขึ้นค่าแรง ด้วย คือถ้าพูดในมุมของผู้ประกอบการ ถ้าค่าแรงเป็นอะไรบางอย่างที่ต้องลุ้นแล้วต้องรอการเลือกตั้งและก็ต้องดูว่ารัฐบาลแต่ละรัฐบาลจะเคาะก็จะทำให้เกิดปัญหา
“จริง ๆ ตัวเลข 450 บาทที่พรรคก้าวไกลเสนอมันไม่ใช่ตัวเลขอยู่ ๆ หยิบมาเสนอ แต่มาจากกติกาที่ว่าอยากให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติตามจีดีพีที่เติบโตขึ้นหรือตามเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้นและ จีดีพี ก็คือเมื่อมีผลผลิตเพิ่มขึ้น แรงงานก็ควรจะได้ผลผลิตนั้นเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อก็คือเมื่อค่าครองชีพเพิ่มขึ้น แรงงานก็ควรจะได้อำนาจซื้อเท่าเดิม กำลังซื้อเท่าเดิม ก็ควรจะได้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นและเมื่อดำเนินการตามนี้โดยคิดย้อนหลังตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาเนี่ยตัวเลขมันมาจบที่ 450 บาทเพราะฉะนั้นแม้ว่ารัฐบาลปัจจุบันคงไม่ได้ยึดตัวเลข 450 บาท แต่จะยึด 600 บาทหรือไม่ ยังไม่รู้แต่ขอให้ลองได้มีโอกาสนำกติกาไปคุยกับรัฐบาลให้มีการตกลงเรื่องกติกาให้ชัดเจนว่ากติกาการขึ้นค่าแรงจะเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ทำให้ผู้ประกอบการและแรงงานได้รู้ร่วมกัน สามารถคาดการณ์ได้สามารถมองได้อย่างสมเหตุสมผลมากขึ้นว่าแผนการดำเนินการในชีวิตควรจะเป็นอย่างไร”
ถ้าย้อนหลังไป 10 ปีแล้วมองมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่เราน่าเป็นห่วงมากก็คือค่าแรงเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าเงินเฟ้อและเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าผลิตภาพของแรงงานเอง เพราะฉะนั้นเมื่อมองย้อนหลังไปคิดว่าสิ่งที่แรงงานควรจะได้คือกติกาที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย
นอกจากกติกาแล้วก็ยังมี 2 ประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องกติกานอกจากค่าแรง อันดับแรกก็คือเรื่องแรงงานที่ไม่ได้เป็นแรงงานในระบบ อย่างเช่น การจ้างงานแบบที่เป็นแพลตฟอร์มจะมีมากขึ้น ไม่ใช่แค่ส่งอาหาร ส่งของ ต่อไปก็จะเป็นนวด ทำความสะอาดต่าง ๆ กติกาเหล่านี้คืออะไรที่จะเป็น ก็ควรที่จะเรียกร้องให้มีการจัดตั้งและคณะกรรมการหรือร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
อีกเรื่องหนึ่งก็คือผู้พิการ ปัจจุบันมีกฎหมายบังคับให้ภาคเอกชนต้องจ้างผู้พิการตามอัตรา แต่ว่ากติกาข้อนี้ไม่บังคับกับภาครัฐ อันนี้คือหนึ่งในสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ ก็คือให้บังคับใช้กับการจ้างงานของภาครัฐด้วย ไม่จำเป็นต้องมารวมกันอยู่ที่กรุงเทพก็ได้หรือไม่จำเป็นต้องรวมอยู่ที่จังหวัดก็ได้แต่การจ้างงานถ้าคำนวณตัวเลขจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 ตำแหน่งงานของผู้พิการเราสามารถที่จะทำให้เกิดการจ้างงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้และทำให้เกิดผู้ช่วยเหลือผู้พิการด้วยกันเอง
สุดท้ายคือ เรื่องที่อยู่อาศัย เป็นโจทย์สำคัญสำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่มากนักและต้องทำงานในเมือง หลายประเทศมองว่าที่อยู่อาศัยที่ราคาจับต้องได้เป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เมืองนั้นมีความสามารถในการที่จะแข่งขันเพราะว่าถ้าค่าที่อยู่อาศัยแพง แน่นอนค่าแรงก็แพงหรือไม่คนก็ต้องไปอยู่ไกล แล้วเสียเวลาที่จะใช้ในการทำงานหรือพักผ่อน เพราะฉะนั้นเรื่องที่อยู่อาศัยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเน้นไว้
ส่วนถ้าเป็นในภาคชนบท ภาคเกษตรก็เป็นเรื่องความมั่นคงในที่ดินนี่ก็เป็นอีกหนึ่งในประเด็นที่ P-move ก็คงจะเจรจากับรัฐบาลซึ่งเป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ เพราะว่าถ้าไม่มีความมั่นคงในที่ดิน เรื่องอื่น ๆ ก็คงอาจจะไปต่อลำบาก อันนี้ก็คือสิ่งที่อยากจะเชิญชวนว่าอย่าพึ่งหมดความหวังอย่าพึ่งหมดกำลังใจไปชวนเขาคุยร่วมกันแล้วก็ขับเคลื่อนไปพร้อม
ดร.เดชรัต กล่าวเพิ่มเติมช่วงท้ายว่า การเคลื่อนมี 3 เรื่องด้วยกันได้แก่ เรื่องแรกก็คือเรื่องกฎหมายใช้เวลานานพอสมควร อาจจะไปยื่น 13 ธันวาแต่ว่ากว่าที่จะออกก็คงใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เรื่องที่สองก็คือเห็นเห็นด้วยในแง่การรวมเป็นแพกเกจ หมายความว่ารวมเข้าด้วยกันแล้วก็ไปยื่นกับรัฐบาลแล้วก็ไปเจรจา จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ได้มีผลกับรัฐบาลโดยตรงแต่มีผลกับงานส่วนที่สามก็คืองานที่เราทำงานความคิดกับสังคมแล้วว่าการที่เราจะใช้เงินเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจกับการมาทำงานเรื่องสวัสดิการซึ่งเป็นงานระยะยาวแล้วก็ทุกคนได้อย่างถ้วนหน้าตามความจำเป็นที่แต่ละคนต้องการ เพราะมันเป็นช่วงเวลานั้นของชีวิต เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ
ทั้งนี้เชื่อว่าถ้าข้อเสนอนี้ไปพูดคุยกันในสังคมเวลาคุยกันเรื่องดิจิทัลวอลเลตจะยกระดับไปอีกชั้นหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็จะเห็นว่าสังคมมีทางเลือก เพราะว่าอย่าลืมว่า 500,000 กว่าล้านนั้นทั้งหมดจบภายใน 6 เดือน แต่ว่าสิ่งที่เราคุยกันยาวกว่านั้น พรรคก้าวไกลแน่นอนเรื่องกฎหมายช่วยแน่ ๆ ส่วนเรื่องการเจรจากับรัฐบาลก็คิดว่าถ้าประชาชนเจรจาตรงน่าจะดีกว่าแต่ถ้าถามว่าพรรคก้าวไกลจะช่วยได้ไหม คงจะช่วยเรื่องการทำงานความคิดกับสังคมมากกว่า ทำไมเราถึงเสนออย่างนั้นตอนเลือกตั้งแล้วตรงหรือแตกต่างอย่างไรกับรัฐบาลหรือสอดคล้องอย่างไรกับภาคประชาชน
พรรคเป็นธรรม : เดินหน้าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3,000 บาท
นายเดโชนุชิต นวลสกุล โฆษกพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า นโยบายสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้อายุ 3,000 บาทอยู่ในแนวคิดของพรรคเป็นธรรมที่ต้องทำ แต่มองไปไกลว่า หากผู้สูงอายุได้เบี้ยยังชีพ 3,000 บาทแล้วจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุยังมีรายได้ เนื่องจากคนที่มีอายุ 60 ปียังสามารถทำงานได้อยู่ แต่การที่ได้รับรายได้เพียงเดือนละ 3,000 บาท ไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนในกิจการต่าง ๆ ได้ บางคนอาจจะอยากเปิดร้านกาแฟหน้าบ้าน หรือ ขายลูกชิ้นปิ้ง ทำน้ำพริก เป็นต้น ซึ่งพรรคเป็นธรรมก็มีแนวคิดที่จะทำกองทุนตรงนี้ขึ้นมาด้วย โดยอยากให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมาลงทะเบียน แล้วจะดูว่าจะจัดสรรกันอย่างไร
ก่อนอื่นต้องคิดนอกกรอบและเปลี่ยนวิธีคิด ผู้สูงอายุ 60 ปีมารองรับเงิน เป็นวิธีคิดที่ถูกไหม จริง ๆ เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่รัฐต้องจัดสรรมาให้ 3,000 บาทถือว่าน้อยมากแล้วการที่เรามานั่งขอมันไม่พอในทางปฏิบัติอยู่แล้ว ในขณะที่หน่วยงานความมั่นคงมีงบเหมาลำเครื่องบินพาณิชย์ปีละ 100 ล้านบินจากภาคหนึ่งมากรุงเทพ นอกจากนี้ยังมีกองทุนต่าง ๆ อีกมากมาย แต่ก็จัดสรรให้กับเฉพาะพวกตัวเอง ดังนั้นรัฐบาลอย่าบอกว่าไม่มีงบประมาณ งบประมาณมี แต่รัฐบาลต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ถ้าเปลี่ยนแปลงแนวคิดออกนอกกรอบเมื่อไหร่ก็จะเซ็ตระบบใหม่
นอกจากนี้จะต้องเปลี่ยนแนวคิดออกนอกกรอบของผู้บริหารประเทศโดยต้องไม่คิดว่ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นกระทรวงเกรดซีหรือเกรดดี แต่ต้องเป็นกระทรวงเกรดเอ เพราะว่าเป็นเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
เราจะมีโครงสร้างใหญ่โตจะมีอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย แต่ถ้าคนในประเทศเราอ่อนแอ เราจะไปสู้กับประเทศอื่นได้ยังไง เพราะฉะนั้นมันถึงเวลาที่จะทวงสิทธิ์ของเราคืน ช่วยเป็นแรงใจอีกพรรคหนึ่งที่จะช่วยเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่ต่อสู้แล้วก็เชื่อว่าในรัฐบาลนี้อีกสองหรือสามปีคงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากไปกว่านี้
ประชาธิปัตย์ชี้ใช้เงิน5.6หมื่นบาทจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุ
นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความตั้งใจที่อยากจะให้เบี้ยยังชีพ 1,000 บาท ถามว่า 3,000 บาทอยากให้ไหม ก็อยากให้ แต่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคอนุรักษ์นิยม เพราะทุกครั้งที่เสนอก็มักจะถูกถามกลับมาว่าจะเอาเงินมาจากที่ไหน ในส่วนเรื่องเบี้ยยังชีพคนพิการก็มีความตั้งใจที่อยากจะเพิ่มให้จาก 800บาท เป็น 1,000 บาท ตั้งใจว่าอยากจะขยับขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้ตั้งใจที่จะขยับขึ้นไปเป็น 10,000 บาท ส่วนเรื่องที่อยู่อาศัย พรรคประชาธิปัตย์ก็มีแนวคิดที่อยากจะทำบ้านประมาณ 500,000 หลัง และให้คนอยู่ผ่อนเดือนละไม่เกิน 3,900 บาท วันละ 130 บาท และตั้งใจเต็มที่ แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้
ดังนั้นอยากให้รัฐบาลใหม่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดมองกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นกระทรวงสงเคราะห์ไม่ได้ เนื่องจากอีกหน่อยจะมีขนาดใหญ่กว่ากระทรวงมหาดไทยเพราะดูแลประชาชนจำนวนมาก อย่างน้อยผู้สูงอายุมีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนและต้องดูแลตลอด ดังนั้นรัฐบาลควรต้องจัดสรรงบประมาณและสวัสดิการอุดหนุนอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ กระทรวง พม.ต้องจัดลำดับใหม่ได้แล้วว่างบ ควรจะจัดให้มันชัดเจนว่าจะเป็นยังไงแล้วก็เอาให้มันเป็นก้อนเดียวกันอย่างเช่น เงินผู้สูงอายุก็มาให้ พม.ดูให้เรียบร้อยเพราะว่ารับผิดชอบเรื่องผู้สูงอายุอยู่แล้ว ไม่ต้องไปให้กระทรวงมหาดไทยมาจัดการ ส่วนเงิน 560,000ล้านอย่าเอาไปแจก แต่ให้เอามาจัดการกับเรื่องสวัสดิการดีกว่าแล้วลองดูว่าใช้ได้ 1-2 ปีถ้าเป็นวงเงินนี้ มาแบ่งได้ 1-2 ปีก็ยังดี
สารี : ยื่น 10,000 ชื่อเดินหน้ากฎหมายบำนาญ
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคสนับสนุนเรื่องนี้และคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากสิทธิของผู้บริโภคที่สำคัญคือสิทธิที่เข้าถึงการบริการที่จำเป็นในดำรงชีวิต ซึ่งประเทศไทยยังไม่ยอมรับสิทธิเรื่องนี้ของผู้บริโภคซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้หารือว่าจะแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคให้รวมถึงสิทธิที่ผู้บริโภคควรจะได้รับความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัยหรือเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐาน รัฐบาลไทยก็ไปรับรองพันธะสัญญาของสหประชาชาติซึ่งไทยเป็นประเทศสมาชิกและได้รับรองสิทธิพื้นฐานเหล่านี้
สภาองค์กรผู้บิโภคได้ทำงานเบื้องต้นเผยแพร่เรื่องนี้ พยายามชี้ให้เห็นว่า ถ้าผู้สูงอายุอยากจะทำงานก็ทำงาน แต่ไม่ใช่เมื่อสูงอายุแล้ว เรายังจำเป็นต้องทำงาน ถ้าอยากมีสัดส่วนผู้สูงอายุไปทำงานในหน่วยงานก็เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ไปทำงานก็น่าสนใจ แต่ถ้ารู้สึกว่าอายุ 60 แล้วจะไม่ทำงานแล้ว จะขออยู่ที่บ้าน รัฐก็ควรที่จะช่วยสนับสนุนให้มีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ
ย้อนกลับไปในช่วงสถานการณ์โควิดก็มีคำถามเยอะมากเลยว่า ต้องใช้เงินจำนวนมากและการช่วยของรัฐบาลตอนนั้นก็ช่วยแบบเป็นกลุ่ม อย่างเช่น กลุ่มแรกที่เป็นกลุ่มคนยากจนที่ช่วยก่อน 7,000 บาท กลุ่มที่สอง กลุ่มผู้ประกันตนก็ได้ด้วย แล้วกลุ่มที่ 3 ก็เป็นกลุ่มอื่น ๆ
เราก็ตั้งคำถามว่าถ้าจริง ๆ ทุกคนมีหลักประกันด้านรายได้ของตัวเองโดยเฉพาะผู้สูงอายุคนละ 3,000 บาทเลย 2,804 บาทซึ่งเป็นเส้นความยากจน ซึ่งตอนนี้อาจจะเกินเพราะเงินบาทมันถูก เพราะฉะนั้นก็น่าจะเป็นเรียกว่าเซฟตี้เนตของครอบครัว อย่างน้อยเมื่อลูกตกงานกลับไปอยู่กับพ่อแม่ได้ แทนที่เราจะต้องมีโครงการพิเศษหรือการใช้เงินพิเศษ แต่เราใช้ระบบที่รับรองสิทธิของประชาชนแล้วก็สภาองค์กรของผู้บริโภคก็สนับสนุนที่จะให้จัดลำดับการใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญซึ่งจริง ๆ ก็มีคำถามว่า เราควรจะทลายคำถามนี้นะว่า แล้วเราจะเอาเงินมาจากไหน
“บางคนก็บอกว่าอันนี้เป็นหน้าที่เราที่จะคิดไหมว่าเงินมาจากไหน คุณเป็นรัฐบาล คุณจะต้องคิดในเรื่องเหล่านี้ เพราะการสร้างหลักประกันให้คนเป็นเรื่องสำคัญ”
ถ้าย้อนไปตอนปี 2542 ที่ตอนนั้นกำลังจะทำเรื่องบัตรทองที่ทุกคนต่างก็บอกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ที่จะทำเรื่องบัตรทอง รักษาครั้งหนึ่ง 30 บาท แสดงว่ามันต้องแย่มากเลย คุณภาพก็ต้องไม่มีแน่เลยเพราะจะเป็นไปได้ยังไงที่ 30 บาทเท่านั้น พอทำความเข้าใจและสุดท้ายก็ต้องบอกว่าความกล้าหาญทางการเมือง การทำงานข้อมูล ความร่วมมือกันทำให้เราเกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ แต่น่าเสียดายที่ครั้งนี้เพื่อไทยไม่มีนโยบายเรื่องเหล่านี้เลย ถ้าทำเรื่องนี้ก็จะทำให้เห็นว่าเราสามารถที่จะทำให้เกิดหลักประกันของคนทางด้านสังคมได้ ซึ่งก็คิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ
ขณะนี้ We Fair และเครือข่ายรัฐสวัสดิการได้เริ่มไปแล้วก็คงไม่ต้องรอ เพราะได้ยื่นรายชื่อไปแล้ว รายชื่อนั้นก็เป็นรายชื่อของผู้ริเริ่มและถ้าสมมติว่าการเข้าชื่อซึ่งคิดว่าก็เข้าในหมวดของสิทธิของประชาชนแน่นอนก็เป็นเรื่องของการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย
ถ้าดูพัฒนาการของกฎหมายฉบับนี้เราก็จะเห็นว่าในรัฐบาลที่แล้วได้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาซึ่งก็มีคุณวีรากร คำประกอบซึ่งเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญ ขณะที่กรรมาธิการเองก็เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ เรียกว่าเป็นเอกฉันท์ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะเดินหน้าได้ก็น่าเสียดาย
ซึ่งมีหลายพรรคการเมืองที่สนับสนุนเรื่องนี้ซึ่งสภาองค์กรผู้บริโภคได้ทำข้อมูลไว้ อย่างเช่น พรรคก้าวไกลระบุว่าจะทำเรื่องนี้ในปี 2570 พรรคประชาชาติ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรครวมไทยสร้างให้ 1,000 บาท พรรคไทยสร้างไทยให้ 3,000บาท พรรคชาติไทยพัฒนาให้ 3,000 บาท พรรคพลังประชารัฐให้ 3,000 พรรคไทยศรีวิไลให้ 5,000 บาท พรรคพลังประชารัฐระบุว่าจะให้ 3,000–5,000 บาท พรรคภูมิใจไทยบอกว่าจะให้ทำประกันชีวิตผู้สูงอายุ 100,000 บาทและหรือกู้ 20,000 บาท พรรคประชาธิปัตย์ให้ชมรมผู้สูงอายุชมรมละ 30,000 บาท พรรคชาติพัฒนากล้าให้งบประมาณทำอารยสถาปัตย์ 50,000 บาทต่อครัวเรือนก็ต้องถือว่าเป็นงบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุโดยตรงที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รวบรวม
“เราต้องไม่จำนนต่อคำถามที่จะถามพวกเราตลอดเวลาว่าแล้วเราจะเอาเงินจากไหนซึ่ง 3.3 ล้านล้านนะเรามีงบประมาณแผ่นดินประมาณ 3.3 ล้านล้านซึ่งถ้าใน 3.3 ล้านล้าน จริง ๆ ใช้ประมาณ 4 แสนล้าน ถ้าขณะนี้มีผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน เราใช้ 3,000 บาท จริง ๆ ก็ใช้ ประมาณ 4 แสนล้าน เรามีงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท จริง ๆ ต้องเป็นงบประมาณประมาณ 10% ของงบประมาณแผ่นดินทุกปี”
นางสาวสารี กล่าวว่า บางคนก็บอกว่าผู้บริโภคจริง ๆ ภาษีทางตรงที่เราจ่ายกันทุกคนและจ่ายเท่ากันแบบไม่เป็นธรรม ก็คือภาษีมูลค่าเพิ่ม หลายคนก็บอกว่าจริง ๆ ก็อาจจะยอมจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้แต่หมายความว่าจะต้องไม่เอาภาษีมูลค่าเพิ่มไปทำอย่างอื่นต้องทำเฉพาะระบบบำนาญประชาชนเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วคิดว่า 10% ของงบประมาณแผ่นดิน 3.3 ล้านล้านบาท แน่นอนงบประมาณแผ่นดินเราจำนวนมากก็เป็นงบเงินเดือนเพราะฉะนั้นจะเอา 10 กว่าเปอร์เซ็นต์มาเป็นงบที่จะสร้างหลักประกัน แล้วเราก็จะใช้เงินในส่วนอื่น ๆ อีกอย่างจำกัด
ขณะนี้จะเห็นเลยว่าเชิญคนมาท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ เราจะเห็นเลยว่ามันไม่ได้มีความยั่งยืนไม่ได้ทำให้เกิดความต่อเนื่องในเชิงของการบริโภคหรืองานวิจัยของอาจารย์นพนันท์ที่พูดเมื่อเช้าว่าเราจ่าย 4 แสนกว่าล้าน พออีก 5 ปีก็จะมากขึ้นประมาณ 6% ของจีดีพี สิ่งเหล่านี้คือมันเป็นมูลค่าทางตรงแล้วก็มีความต่อเนื่อง เกิดความยั่งยืนเพราะฉะนั้นเราอาจจะต้องผลักดันและคิดว่าแน่นอนถึงแม้จะบอกจะเอาเงินมาจากไหน ก็ต้องต่อสู้ ถ้าเราจะใช้เงินประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมดเพื่อใช้ในการทำหลักประกันด้านรายได้ของผู้สูงอายุก็เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและเราก็ต้องเรียกว่าความมุ่งมั่นในเรื่องนี้ร่วมกัน
ขณะนี้เราได้ยื่นรายชื่อไปแล้ว ถ้าได้รายชื่อมา เราก็จะหา 10,000 ชื่อเพื่อที่จะเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้พวกเราก็ในที่นี้ก็คงต้องช่วยกันทุกทาง เพราะว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของใครคนหนึ่งแต่เป็นเรื่องของทุกคนที่เราควรจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการที่จะมีหลักประกันด้านรายได้เมื่อเราสูงวัย มันควรจะเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนเรื่องการขนส่งสาธารณะ ก็ต้องถือว่าขนาดนี้เราลำบากกันถ้วนหน้าทุกเรื่องเพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรที่ทำให้เราเหมือนอย่างที่เราพูดเรื่องอาหาร เราควรจะเป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร แต่เราก็ยังมีคนที่ขาดอาหาร ดังนั้นคิดว่างบประมาณที่เรามีอยู่ในปัจจุบันเนี่ย 3.3 ล้านล้าน จริง เราควรจะมีคุณภาพชีวิตได้มากกว่านี้ ซึ่งคือสิ่งที่เราต้องยืนยันว่าเรามีคุณภาพชีวิตได้มากกว่านี้ แล้วก็ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทจริง ๆ ทำได้จริง ๆ จากข้อศึกจากการศึกษาของสภาผู้บริโภคเพราะว่าตอนแรก เราก็ไปดูแต่ว่าแน่นอน เรื่องขนส่ง ประชาชนไม่ควรที่จะต้องจ่ายเงินทั้งหมดเรื่องโครงสร้างแต่ว่าถ้าประชาชนจ่ายเงินเฉพาะในส่วนบริการเดินรถเพียง 20 บาทจริง ๆ ก็กำไรและบริการขนส่งมีมรดกบาปในอดีตมาก จนกระทั่งทำให้แล้วก็ซับซ้อนจนกระทั่งทำอะไรได้ลำบาก
ชมคลิปวิดีโอย้อนหลัง https://www.facebook.com/100078652075261/videos/1376708749589475
#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สวัสดิการบำนาญ