สภาองค์กรของผู้บริโภคหรือสภาผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสาธารณะในหัวข้อ “มุมมองนักวิชาการต่อนโยบายเศรษฐากับการจัดการระบบรัฐสวัสดิการ”ที่โรงแรม ทีเค พาเลซ คอนเวนชั่น โดยมี นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคหรือสภาผู้บริโภค ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และรศ.ดร.ชัยรัตน์ เอี่ยมกุลวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมการเสวนา
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สวัสดิการทางสังคมหรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจของผู้สูงวัยควรจะเป็นสิทธิของทุกคน ไม่ใช่สิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบัน อย่างเช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นอกจากไม่ได้ทำให้เป็นสิทธิแล้ว ประกาศของกระทรวงมหาดไทยล่าสุดก็ทำให้เรื่องบำนาญเป็นเรื่องเฉพาะคนจนซึ่งจริง ๆ แล้วหลักการควรเป็นเรื่องของทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ควรมีหลักประกันเรื่องรายได้เมื่อสูงวัย เรียกว่ามีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเมื่อสูงวัย เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากเทียบเคียงกับเหตุการณ์เรื่องอิสราเอลที่ช่วงแรกมีคนไทยจำนวนมากที่ไม่อยากกลับบ้าน จริงๆ เราเชื่อว่า ไม่ใช่เขาไม่อยากกลับ เขาอยากกลับ แต่คิดว่าการอยู่ที่โน้นน่าจะดีกว่า อย่างน้อยก็มีรายได้
นอกจากนี้ เราไปเจอชาวบ้านที่จังหวัดอุดรธานี สามีไปทำงานที่ประเทศซีเรีย สุดท้ายเจอสงครามแล้วกลับมาเป็นหนี้ก้อนโตทั้งครอบครัว แต่ก็สู้มากและเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย แต่ก็ต้องเดินทางกลับมาประเทศไทยเนื่องจากปัญหาสุขภาพ หรือ ชุมชนพระราม 2 คนที่อยู่ในชุมชนอายุ 70-80 ปียังต้องทำกับข้าวขาย เพราะถ้าไม่ทำขายก็ไม่มีอะไรกิน จะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิมีหลักประกันทางสังคมโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจเมื่อสูงวัย เราต้องเชื่อร่วมกันด้วย นอกจากเชื่อแล้ว เราต้องมีจินตนาการว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ ขณะนี้ยังไม่ได้ทำเท่านั้นเอง เราก็ควรจะมีอุดมคติว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำได้และสามารถทำได้จริงภายใต้กรอบงบประมาณ
งานวิจัยของ รศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น่าสนใจมาก ถ้าเราจ่ายเงินผู้สูงอายุ 3,000 บาทใน 5 ปีใช้เงินประมาณ 400,000 กว่าล้านและพอถึง 5 ปี เงินนี้ก็จะเพิ่มเป็น 5 แสนกว่าล้านนั่นเท่ากับ จีดีพีที่เพิ่มขึ้นประมาณ 6 เปอร์เซนต์ เพราะฉะนั้นเราคิดว่ามีความคุ้มค่ามากมายมหาศาล
ขณะนี้ทางเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ We Fair และสภาองค์กรผู้บริโภคได้ยื่นริเริ่มการลงลายมือชื่อและกำลังรอได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ริเริ่มลงลายมือชื่อเรื่องนี้ ถ้าได้รับอนุญาตสามารถลงลายมือชื่อลงกฎหมายฉบับนี้ก็จะเดินหน้าทำกฎหมายฉบับนี้
สภาองค์กรผู้บริโภค We Fair และเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการซึ่งทำเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง วันนี้เป็นโอกาสสำคัญที่เราจะมาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ตนได้โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อคืนนี้ที่ผ่านมาโดยได้ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่เอา 560,000 ล้านบาทไปทำเรื่องดิจิทัล จะเอาไปทำอะไรได้บ้าง อยากระดมความคิดว่าจริง ๆ แล้วมีวิธีใช้เงินที่มีประโยชน์มากกว่านี้หรือไม่ เพราะว่า ส่วนหนึ่งที่โพสต์อย่างนั้นเพราะว่า ช่วงหลังมีเรื่องการโต้แย้งกันว่าควรหรือไม่ควรทำโครงการนี้ แล้วฝ่ายที่สนับสนุนว่าควรจะทำไม่ว่าจะนักวิชาการหรือนักการเมืองเองก็ตามจะบอกว่าเป็นประโยชน์ของประชาชน เป็นเรื่องที่หาเสียงก็ต้องเคารพสิ่งที่หาเสียงไว้ ประชาชนเลือกมาก็ต้องทำตามนั้น แล้วถ้าไปถามประชาชนว่าจะเอาหรือไม่เอา
คนส่วนใหญ่ก็คงจะเอา ก็เลยรู้สึกว่าพูดอย่างนั้นได้หรือ ควรจะมองไกลกว่านั้นไหม ประชาธิปไตยควรจะมีคุณภาพมากกว่านี้ ก็คือต้องใช้เงินเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริง เพราะฉะนั้นวิธีถามประชาชนว่าจะเอาเงิน 10,000 บาทไหม เป็นผมคงตอบว่าเอา แต่ต้องถามต่อว่าถ้าได้ 10,000 บาทต้องเสียอะไรไป สิ่งที่เสียไปยังจะเอาไหม เช่นเรื่องของเบี้ยยังชีพ 3,000 บาท ต้องถามว่าจะได้ไหม เพราะถ้าอยู่ ๆ แล้วเงินหายไป 560,000 ล้านบาทแล้วเงิน 3,000 บาทยังจะได้ไหม
ในเรื่องของการบ้านรัฐบาล ผมคิดไปคิดมาผมไม่กล้าให้การบ้านรัฐบาล ผมไม่แน่ใจว่า ท่านอยากจะฟังหรือพูดไปอาจจะไม่ทำอยู่ดี
ผมขอวิเคราะห์ท่าทีของรัฐบาลเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่มีอายุ 20 กว่าปีแล้วตั้งแต่พรรคไทยรักไทยและมีอิทธิพลสูงมากในทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นรัฐบาล ซึ่งท่าทีหรือวิธีคิดตั้งแต่สมัยไทยรักไทยน่าจะยังใช้ได้ในตอนนี้ เพราะว่าถ้าไปดูเบื้องหลังแนวคิดต่าง ๆ น่าจะเป็นชุดเดิม เพราะฉะนั้นต้องการวิเคราะห์ตรงนี้เพื่อจะโยงเรื่องของการคาดเดาของผมต่อท่าทีนโยบายสวัสดิการของพรรคเพื่อไทยน่าจะเป็นแบบไหน
เริ่มจากภาพกว้างผมคิดว่าความเข้าใจผมเกี่ยวกับแนวทางการบริหารประเทศของพรรคเพื่อไทยน่าจะแบ่งย่อยเป็น 3 เรื่อการบริหารเศรษฐกิจ การบริหารการเมือง และสังคม
ในเรื่องเศรษฐกิจ ค่อนข้างที่จะชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและถ้าดูย้อนหลังไปจะเป็นอย่างนั้นมาตลอด อาจจะมีรายละเอียดต่างไปบ้าง ซึ่งนั้นสมัยคุณทักษิณก็แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจเป็นแบบ Dual Track ก็คือการพยายามส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งจากนอกประเทศและในประเทศ โดยจากนอกประเทศคือพยายามส่งเสริมการค้าให้การลงทุนเข้ามา ส่วนในประเทศพยายามกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ด้วยชุดนโยบายประชานิยม โดยสองเรื่องนี้ในปัจจุบันส่วนตัวคิดว่ายังทำอยู่ ทางด้านเรื่องต่างประเทศ ส่วนตัวเชียร์ด้วยซ้ำ เพราะเป็นสิ่งที่หายไปในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลที่ผ่านไม่ค่อยสนใจเรื่องการส่งเสริมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ไม่ค่อยดีด้วย การส่งเสริมการค้าและการลงทุนเชื่อว่าเพื่อไทยน่าจะทำได้ดีกว่าและทำให้เศรษฐกิจโตได้จริงอย่างที่คาดหวัง ถ้าเศรษฐกิจโต เงินก็จะมีมากขึ้นและจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ต่อให้ต้องใช้ 560,0000 ล้านบาทหรือหมดไปกับ 560,000 ล้านบาทก็ตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจจะโตได้แค่ไหน
ส่วนในประเทศ ส่วนตัวคิดว่ายังทำอยู่ จริง ๆ เรื่องดิจิทัล เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน พรรคเพื่อไทยมีความเชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศเฟื่องฟูขึ้น มีการพูดกันในหลายเวทีว่านักเศรษฐศาสตร์เกือบร้อยละ 90 ไม่เชื่อว่าจะเป็นแบบนั้น
วิธีที่สองทางด้านเศรษฐกิจก็คือว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะให้ความสำคัญกับกลุ่มทุนมาก ๆ ให้กลุ่มทุน เป็นตัวนำเศรษฐกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หมายความว่า พรรคเพื่อไทยก็จะไม่แตะกลุ่มทุนมากเช่นกันเพราะถือว่าเป็นพันธมิตรกัน ไม่ได้บอกว่าดีไม่ดี กลุ่มทุนก็สามารถมีบทบาทในการผลักดันเศรษฐกิจได้จริง
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นซิกเนเจอร์ของพรรคเพื่อไทยหรือไทยรักไทยก็คือว่ามักคิดอะไรใหม่ ๆ นอกกรอบ ไม่ตามตำรา แน่นอนเรื่องดิจิทัลที่มีการถกเถียงกันก็คือบอกว่าคนที่คัดค้านไปดูตำรามากไปซึ่งที่กำลังทำอยู่เป็นเรื่องที่นอกกรอบ นอกตำรา ไม่เคยมีการทำ อย่ามาบอกว่าไม่ได้ผล เพราะตำราเคยทำไม่ได้ผล ก็มันไม่เหมือนของเก่า
ส่วนเรื่องการเมือง ส่วนตัวมองว่า การบริหารการเมืองของพรรคเพื่อไทยอยู่ในลักษณะที่ประนีประนอมกับทุกฝ่าย ถ้าเป็นไปได้ ซึ่งสะท้อนจากปรากฎการณ์สลายขั้วข้ามขั้ว ถามว่าเป็นเรื่องดีไหม ก็ดีในแง่มีทางออกทำให้เดินหน้าได้ แต่ต้องดูว่าต้นทุนของการประนีประนอมมันมีข้อเสียเชิงลบอย่างไรหรือไม่ แต่ก็มีคำถามว่า แล้วความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยคืออะไร ผมคิดว่าเริ่มตอบยังไม่ได้ สมัยก่อนอาจจะตอบชัดเจนว่าเป็นเรื่องของประชาธิปไตย ส่งเสริมการเลือกตั้ง แต่ผมคิดว่าตอนนี้ภาพมันเบลอมากขึ้น ผมคิดว่ายุทธศาสตร์อะไรตัวเองชนะการเลือกตั้ง อะไรที่ทำให้ตัวเองอยู่ในอำนาจ เชื่อว่าเขาน่าจะไปได้หมด
ทางด้านสังคม พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับฐานเสียงมาก เหตุผลหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จทางการเมืองมาต่อเนื่อง ก็คือเป็นพรรคที่มีเซนส์ค่อนข้างดีในการดูว่าฐานเสียงคิดอะไรอยู่และตัวเองจะต้องทำอะไร จะพูดอะไรเพื่อให้ฐานเสียงชอบแล้วก็เลือก ทั้งนี้แม้พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับฐานเสียงซึ่งมีลักษณะรากหญ้า ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทิ้งกลุ่มทุน ฉะนั้นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยพยายามทำมาตลอด 20 ปีคือพยายามหาบาลานซ์ระหว่างอยู่กับกลุ่มทุนและฐานเสียง ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จพอสมควร ขณะเดียวกันก็มีความคิดว่าฐานเสียงเริ่มหายไปไหม เพราะว่าเรื่องของการสลายขั้ว แต่พรรคเพื่อไทยก็พร้อมทำทุกอย่างเพื่อดึงฐานเสียงกลับมาให้ได้ จริงๆ ดิจิทัลวอลเลต เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ผมมองดิจิทัลไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจ ผมมองดิจิทัลวอลเลตเป็นนโยบายการเมือง ผมมองว่า 90 เปอร์เซนต์เป็นนโยบายการเมือง 10 เปอร์เซนต์เป็นนโยบายเศรษฐกิจ ผมไม่แน่ใจว่าเขาเชื่อจริง ๆ ไหมว่ามันกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่ผมเชื่อว่าเขาเชื่อว่า 100 เปอร์เซนต์ทำให้เขาได้คะแนนเสียง เพราะฉะนั้นมันเป็นนโยายการเมืองมากกว่า นี้คือการดึงคะแนนเสียงกลับเข้ามาจากที่คิดว่ามันจะเสียไป
พรรคเพื่อไทยชอบคิดอะไรนอกกรอบ แต่การนอกกรอบรอบนี้กับรอบพรรคตอนที่เป็นไทยรักไทย ผมคิดว่าครั้งนี้ลุ่มลึกน้อยกว่าและไม่ค่อยมีฐานรองรับความคิดเท่ากับสมัยโน้น อย่างเรื่องบัตรทองที่มีงานวิชาการรองรับ มีการผลักดันและพรรคเพื่อไทยก็คิดว่าเป็นไอเดียที่ดีก็เลยมีผลักดันแล้วทำเป็นนโยบาย มันมีงานวิชาการรองรับและมีความคิดที่น่าจะตกผลึกและทำเป็นนโยบาย แต่ ครั้งนี้ฉาบฉวยกว่าเยอะ แม้คิดอะไรนอกกรอบแต่นอกจริง ๆ คือ นอกเกินไป เพราะฉะนั้นก็มีความเสี่ยงต่อตัวพรรค ต่อระบบเศรษฐกิจ ต่องบปะรมาณ
ในส่วนนโยบายสวัสดิการ ผมคิดว่านโยบายสวัสดิการไม่ใช่นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย จะเห็นได้ว่าในช่วงการเลือกตั้งแต่ละพรรคมีการหาเสียงด้วยนโยบายสวัสดิการเยอะ แต่ของพรรคเพื่อไทยมีดีกรีน้อยกว่าพรรคอื่นในการดูเรื่องสวัสดิการ เทียบไม่ได้กับพรรคก้าวไกลที่มีความชัดเจนในเรื่องนโยบายสวัดิการ ซึ่งเข้าใจได้เพราะพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจ โดยมีความคิดว่า ถ้าเศรษฐกิจดีทุกคนดูแลตัวเองได้ ซึ่งคล้ายกับแนวคิดของธนาคารโลก เพราะถ้าทำให้เศรษฐกิจดี สุดท้ายความจำเป็นในเรื่องของการให้เงินสนับสนุนสวัสดิการก็จะลดลง เพราะทุกคนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น
เพราะฉะนั้นถ้าอ่านเกมแบบนี้ นโยบายสวัสดิการจะไปทางไหนขึ้นอยู่กับว่า นโยบายเศรษฐกิจจะไปทางไหนก่อน ถ้าไปได้ดี อาจจะลดดีกรีตรงนี้ลง แต่ถ้าไปได้ไม่ดีและมีความเสี่ยงว่าฐานเสียงจะหายไปจะเทน้ำหนักมาทางสวัสดิการมากขึ้น แต่เนื่องจากยังไม่เห็นตอนนี้ก็อาจจะต้องรอดูสัก 1 ปี
ในส่วนมิติย่อยของระบบสวัสดิการว่าควรเป็นถ้วนหน้าหรือเจาะจง ซึ่งมีถกเถียงกันเยอะ แต่พรรคเพื่อไทยมีมุมมองเรื่องนี้อย่างไร บางคนอาจคิดว่าเพื่อไทยสนับสนุนเรื่องถ้วนหน้า แต่เห็นเฉพาะเรื่องบัตรทอง แต่ถ้าดูจริง ๆ ก็จะเห็นว่าบัตรทองเป็นเรื่องเดียวที่ทำแบบถ้วนหน้า เรื่องอื่นยังไม่เห็น ผมยังไม่คิดว่าเขามีจุดยืนที่ชัดเจนในสองเรื่องนี้ ผมคิดว่าเขาดูจังหวะว่าเมื่อไหร่ควรจะเป็นถ้วนหน้า เมื่อไหร่ควรจะเป็นเจาะจงขึ้นอยู่กับว่าผลตอบแทนทางการเมือง อะไรได้ผลประโยชน์สูงสุดสำหรับเขา จะสังเกตว่านโยบายเลือกตั้งไม่มีการระบุว่าจะไปทางไหนกันแน่ กระทั่งเรื่องเบี้ยยังชีพก็ยังไม่ชัดเจนเพราะยังไม่ได้บอกจะไปแบบไหน มีการระบุตัวเลขงบประมาณที่จัดไว้น้อยกว่า 3,000 บาท พรรคเพื่อไทยไม่ได้สัญญา 3 พันบาท สัญญาน้อยกว่านั้น พอถึงวันนี้เป็นรัฐบาลแล้วเข้าใจว่าไม่พูดแล้ว
อย่างน้อยปีหรือสองปีนี้อาจจะไม่พูดเพราะว่าไม่มีเงินแล้ว และที่สำคัญถ้าไม่มีเงิน ถ้าเป็นรัฐบาลอื่นหรือที่อื่นอาจจะคิดถึงเรื่องการปฏิรูปภาษีเพื่อหาเงินให้ได้มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยอยู่ในภาวะสังคมผู้สูงอายุที่ต้องคิดอย่างจริงจังเรื่องการปฏิรูปภาษี แต่เชื่อว่า เพื่อไทยไม่ทำเพราะกระทบกลุ่มทุน พยายามคิดนอกกรอบโดยที่ภาษีไม่ต้องขึ้น พยายามหาเงินแล้วก็เพิ่มภาษี ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโตซึ่งพรรคเพื่อไทยท่องในใจมาตลอดว่าเศรษฐกิจต้องโตเพราะถ้าเศรษฐกิจโตสามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง ภาษีก็ไม่ต้องขึ้น ถ้าเศรษฐกิจโต เงินก็จะเข้ามามากขึ้นโดยตัวมันเองโดยอัตโนมัติซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็ตอบโจทย์ทุกเรื่องได้ ผมเชื่อว่านี้คือจุดยืน แต่ ถ้าไม่เป็นไปตามที่คิดว่าพรรคเพื่อไทยจะกล้าขึ้นภาษีไหม ผมคิดว่าไม่กล้าอยู่ดี ถ้าไม่กล้าอยู่ดีก็ต้องถึงจุดที่ต้องตัดสินใจระหว่างถ้วนหน้าและเจาะจง ผมเชื่อว่าเพื่อไทยจะไปทางเจาะจง หมายถึงนโยบายใหม่ แต่ถ้าเป็นนโยบายเก่าอะไรที่ถ้วนหน้าไปแล้วอย่างเช่น เบี้ยยังชีพ ก็ไม่คิดว่าจะทำตามประยุทธ์ เพราะเสียฐานเสียงเยอะมาก
แต่ก็มีประเด็นว่าที่สัญญาว่าจะเพิ่มเงินให้ ก็อาจจะไม่ เพราะตรงนั้นถ้วนหน้าไปแล้วและไม่ได้ผิดสัญญา แต่ว่าถ้าเพิ่มเงินก็ต้องใช้เงินเยอะ อาจจะทำหรือไม่ทำ ขึ้นอยู่กับว่าประเมินฐานเสียงว่าเป็นอย่างไร เพราะถ้าเกิดทำแล้ว เพิ่มแล้ว อาจจะไม่เพิ่มไม่ถึง 3,000 บาท อาจจะเพิ่ม 2,000 บาทแล้วได้คะแนนเสียงก็อาจจะทำก็ได้ อย่างที่บอกว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ประเมินเรื่องฐานเสียง แล้วคนแก่เป็นกลุ่มที่มีฐานเสียงเป็นกอบเป็นกำมากที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าดูตามกลุ่มเป้าหมายในเรื่องของสวัสดิการคิดว่าถ้าจำเป็นที่ต้องเพิ่มคนแก่น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้ก่อนกลุ่มอื่น กลุ่มเด็กเล็กอาจจะอยู่ท้าย ๆ ถ้ายังไม่มีเงิน แน่นอนถ้ามีเงินทำทุกเรื่อง แต่ผมก็ไม่เชื่อว่าเขาจะมีเงิน เพราะฉะนั้นควรจะต้องเลือกทำ
รศ.ดร.ชัยรัตน์ เอี่ยมกุลวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐบาลเศรษฐาใช้แนวคิดของไทยรักไทย ซึ่งสถานการณ์ของเศรษฐกิจก่อนรัฐบาลเศรษฐาเหมือนรถยนต์คันนึงที่ติด ๆ ดับ ๆ เพราะว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ถ้าดูอัตราการขยายตัวในอาเซียนจะพบว่าประเทศไทยต่ำสุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีเศรษฐกิจคล้ายกับไทยซึ่งโตไม่ถึง 2 เปอร์เซนต์ และหากดูสองทศวรรษก็จะพบว่าประเทศไทยก็ยังโตต่ำสุดในอาเซียนเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีเศรษฐกิจคล้ายกัน
ประเทศไทยเหมือนรถที่สตาร์ทที่ติด ๆ ดับ ๆ หมายความว่าบางธุรกิจดี บางธุรกิจไม่ดี ในภาพรวมดี สู้ประเทศอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงเศรษฐกิจก็ต้องกลับมาดูนโยบายรัฐบาลที่จะทำอะไรใหม่และแปลก จะได้ผลไม่ได้ผล ในความคิดของตนเอง เนื่องจากรถมันติด ๆ ดับ ๆ จะแจกคนละหมื่นบาท ลองดู ตนเองยอม ทำอะไรก็ได้ให้รถมันสตาร์ทขึ้นมาแล้ววิ่งได้
สิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้เป็นรถยนต์ติด ๆ ดับ ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นเปลี่ยนเครื่องเป็นไทยรักไทยแล้ว เป็นรัฐบาลเศรษฐาแล้ว ผมก็สงสัยว่าเครื่องใหม่ดีไม่ดี ต้องให้เขาลองดู ผลลัพธ์ออกมาอย่างไรแล้วมาดูกัน ถ้าเกิดเรากระตุ้นโดยให้ทุกคนอายุมากกว่า 16 ปี คนละหนึ่งหมื่นบาทผมว่าเป็นแนวคิดที่ต้องทำ
ในส่วนแนวคิดเรื่องสวัสดิการ รัฐบาลชุดนี้หรือรัฐบาลที่มาจากไทยรักไทยไม่ชัดเจนเรื่องนโยบายสวัสดิการเลย ไม่เคยได้ยินให้สวัสดิการผู้สูงอายุ 3,000 บาทถ้วนหน้าและไม่เคยได้ยินว่าจะแจกให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบหรือ 5 ขวบที่ยากจนและต้องการเงินช่วยเหลือจากรัฐ
ผมว่าการช่วยเหลือเด็กและการช่วยเหลือผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้ประเทศไทยโตในอัตราที่ต่ำ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะว่าเป็นเรื่องช่วยเหลือคนที่เปราะบางหรือค่อนข้างที่จะมีรายได้ต่ำ ตรงนี้ต้องทำ
ดังนั้นหากมองอีกมุมหนึ่ง หากมีงบประมาณ 560,000 ล้านจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งสามารถนำเอามาแจกให้กับผู้สูงอายุและเด็กเท่านั้น เพราะในกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีออมกว่าต่ำค่าเฉลี่ยของคนในประเทศ รายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคนในประเทศ ถ้ากลุ่มนี้ได้เงินไปโดยใช้งบประมาณ 450,000 ล้านบาทแจกให้กับผู้สูงอายุ 1 ปีซึ่งได้แค่ 1 ปี ไม่ใช่ได้ทุกปี คิดว่าเศรษฐกิจจะมีการเติบโตมากกว่าการแจกถ้วนหน้า เพราะว่าคนที่รายได้ค่อนข้างต่ำ แนวโน้นจะบริโภคในสัดส่วนที่สูงมาก และถ้าไปแจกเด็กแล้วให้เขาใช้จ่ายในเรื่องของที่จะทำให้เด็กมีสวัสดิการดีขึ้น อย่างเช่น ไปซื้ออาหาร ซื้อนมที่มีประโยชน์กับเด็ก ส่วนตัวคิดว่าตรงนี้ก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าแจกคนละหนึ่งหมื่นบาทแล้วก็จะได้กลุ่มที่เดือดร้อนจริง ๆ
ในส่วนเรื่องสวัสดิการ ถ้าเกิดเราต้องการมีเบี้ยคนชรา 3,000 บาทถ้วนหน้า แต่ละปีต้องใช้งบประมาณ 450,000 ล้านบาท แต่ถ้าทำทุกปี ประเทศไทยจะเอาเงินจากไหน ในช่วงแรกคงสามารถกู้เงินได้ แต่ปีต่อไปก็ต้องคิดหนักว่าจะเอาเงินจากไหน แล้วถ้าคิดต่อว่าจะเอาเงินจากไหน ง่ายที่สุดก็ต้องมีการเก็บภาษีซึ่งตรงนี้ในภาวะที่รถยนต์ตอนนี้แม้เปลี่ยนเครื่องยนต์แล้วก็ยังติด ๆ ดับ ๆ เศรษฐกิจโตแค่ค่อนข้างต่ำ ประมาณ 2.8 เปอร์เซนต์ปีนี้ ปีหน้าตัวเลขก็จะออกมาสูงต้นปี พอปลายปีก็จะต่ำกว่าต้นปีเกือบทุกปี
ปีหน้ารัฐบาลเศรษฐาบอกเดี๋ยวมีดิจิทัลเราจะโต 5 เปอร์เซนต์หรือ 6 เปอร์เซนต์ ผมก็อยากให้เขาลองดูด้วยมาตรการเศรษฐกิจที่เขาตั้งใจเป็นเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาทหรือเป็นแนวทางอื่นช่วยเฉพาะกลุ่ม แต่ถ้าช่วยเฉพาะกลุ่ม ผมก็เสนอไอเดียว่าจะช่วยกลุ่มไหน ผมเชื่อว่าการใช้กลุ่มผู้สูงอายุและเด็กกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าให้เงินดิจิทัลอีก
เมื่อถามว่า ขณะเดียวกันสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันกำลังเผชิญกับภาวะสงครามต่าง ๆ ทั้งสงครามเก่าและสงครามใหม่ซึ่งมีแนวโน้นว่าจะขยายตัวเป็นสงครามที่ใหญ่ในระดับภูมิภาค แน่นอนเรื่องของพลังงานที่อาจขยับราคาที่สูงขึ้น เรื่องของดอกเบี้ยที่มีแนวโน้นว่าจะลากยาวออกไปในระดับที่สูงกว่านี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำก่อน
มุมมองนักวิชาการต่อนโยบายเศรษฐากับการจัดการระบบรัฐสวัสดิการ (ช่วงที่2 )
แม้รัฐบาลเศรษฐาจะมองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยโตต่ำที่สุดในภูมิภาคและก็เผชิญปัญหาหลายเรื่องมาก นอกจากเหตุการณ์สงครามเก่าก็ยังไม่จบ ขณะที่ผลกระทบของสงครามใหม่ก็มีแนวโน้มจะขยายตัวและกลายเป็นสงครามใหญ่ในระดับภูมิภาค นอกจากนี้เรื่องของพลังงาน ราคาพลังงานที่สูงขึ้น เรื่องของดอกเบี้ยซึ่งตอนแรกมีแนวโน้มจะชะลอ แต่ก็อาจจะลากยาวออกไปในระดับที่สูงแบบนี้ ในมุมของนักวิชาการทั้งสองมองว่าอะไรที่รัฐบาลควรทำก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสวัสดิการซึ่งอาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้และเป็นหลักพิงได้ แต่ในภาวะ 1-2 ปีที่สงครามอาจจะยืดเยื้อไปแบบนี้ยังจะใช่คำตอบอยู่หรือไม่ ในขณะเดียวกันการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะแบบนี้จะมีความเสี่ยงอะไรหรือไม่
ดร.สมชัย กล่าวว่า ผลกระทบของสงครามเพิ่มเกิดไม่กี่วัน เพิ่งเกิดไม่กี่วัน เป็นการคาดเดาอยู่ อย่างเช่น ราคาน้ำมัน เพราะในระยะสั้นส่วนใหญ่ราคาน้ำมันจะขึ้น แต่ก็ไม่แน่เสมอไปขึ้นอยู่กับซัพพลายของน้ำมันจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าราคาขึ้นจริงแน่นอนเงินเฟ้อที่ทำท่าจะลงก็อาจจะขึ้น เพียงแต่ว่าธรรมชาติของเงินเฟ้อจะเปลี่ยน จะคล้าย ๆ ช่วงต้นเมื่อสองปีที่แล้วที่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครนซึ่งเป็นเงินเฟ้อที่มาจากด้านอุปทาน แต่หลังจากนั้นผ่านไปหนึ่งปีก็เปลี่ยนมาเป็นเงินเฟ้อทางด้านอุปสงค์โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐอเมริกา ของไทยก็จะคล้าย ๆ กันเพียงแต่สเกลต่ำกว่าของสหรัฐอเมริกา
แต่ถ้าเกิดขึ้นรอบใหม่เมื่อเส้นกราฟลงแล้วจะขึ้นรอบใหม่ไหม ถ้าขึ้นใหม่ ถ้าเป็นซัพพลายไซด์ยังไงก็ต้องขึ้น เพราะว่าน้ำมันแพงขึ้นซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะแพง เพียงแต่ว่าที่น่าสนใจว่าเส้นกราฟหลักครึ่งหลังของตัวใหม่ยังจะดีมานด์เข้ามาผสมโรงด้วยไหม ถ้าทั้งคู่มาผสมโรงจะน่ากลัว และจะเริ่มคุมเงินเฟ้อยาก ซึ่งจะโยงว่า ถ้ามีการกระตุ้นเศรษฐกิจแรง ๆ หมายความว่าในส่วนของโครงการ 560,000 ล้านมีข้อถกเถียงตัวคูณทางการคลัง ถ้าเชื่อรัฐบาลอย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์ ถ้าอย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์ จีดีพีจะไม่ใช่แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่จะบวกไปอีก 3 เปอร์เซ็นต์เพราะฉะนั้นจะขึ้นไปอีก 6 เปอร์เซ็นต์ ถ้าตัวคูณถึง 1 เปอร์เซ็นต์จริงอย่างที่รัฐบาลพูด แต่ทางแบงก์ชาติลงมาที่ 4.4 เปอร์เซ็นต์เพราะเชื่อว่าตัวคูณไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็น 1 เปอร์เซ็นต์จริงอย่างที่รัฐบาลคาดหวังต่อให้ระยะสั้น ดีมานด์จะเข้ามาในจังหวะที่ของจะแพงขึ้นเนื่องจากแพงอยู่แล้ว และพอผสมกันก็จะเริ่มยาก และอย่าลืมว่ามีนโยบายอื่นที่รัฐบาลประกาศไว้แล้ว อย่างเช่น ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องดี เพราะเป็นเรื่องการดูแลประชาชน แต่ว่าในขณะเดียวกันก็มีผลกระทบตามมาอาจทำให้เกิดการคาดการณ์เงินเฟ้อ ทุกคนในเกมทั้งแรงงาน ทั้งผู้ประกอบการ ทั้งคนขายของ รู้หมดว่า
สุดท้ายใน 3-4 ปีข้างหน้าค่าแรงจะขึ้นทุกปีไปจนถึง 600 บาท เมื่อเป็นการคาดการณ์อย่างนี้ แรงงานก็จะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการก็รู้สึกว่าต้องใส่เข้าไปในราคาล่วงหน้าไหม ตัวนี้คือตัวที่น่ากลัวที่สุดในเรื่องของการคุมเงินเฟ้อ เมื่อไหร่ก็ตามเรื่องของการคาดการณ์เงินเฟ้อ เริ่มเอาไม่อยู่ เริ่มเตลิดเปิดเปง ทุกประเทศที่เจอมามันเตลิดจริง ๆ ถึงตอนนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น แบงก์ชาติไม่มีทางเลือก
ยังไงต้องขึ้นดอกเบี้ยและจะขึ้นแรงด้วย ผลที่ตามมาก็คือ มีผลตามเยอะ พอขึ้นดอกเบี้ยแรง เศรษฐกิจก็จะซบเซาเนื่องจากต้นทุนเรื่องของดอกเบี้ยก็แพงขึ้น น้ำมันก็แพง สมมติค่าแรงก็แพง ดอกเบี้ยก็แพง เพราะฉะนั้นธุรกิจจะซบเซาลง ในช่วงวูบแรก ๆ สัก 3 เปอร์เซ็นต์ บางทีเผื่อว่าไปเป็น 1 เป็น 6 เปอร์เซ็นต์จริงปีหน้า ปีถัดไปอาจจะลงเร็วมาก อาจจะเหลือ 1 หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ เครื่องยนต์จะดับทันทีอาจจะไม่ถึงหนัก แต่อาจจะชะลอลงแรง เพราะทุกอย่างจะลงแรง อีกตัวหนึ่งก็คือ แล้วหนี้ที่มีอยู่จะจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้นทันที เพราะว่าถ้าดอกเบี้ยขึ้น ทุกวันนี้เข้าใจว่ารัฐบาลต้องเจียดเงิน 1000,000 ล้านถึง 200,000 ล้านในการชำระเงินกู้ทั้งต้นและดอก ถ้าดอกเบี้ยขึ้น จริง ๆ วันนี้ก็ขึ้นไปแล้ว
ถ้าภาพเป็นอย่างนั่นไปเรื่อย ๆ ผนวกกัน มันยิ่งแพงกัน ไม่แน่ใจเลยว่างบประมาณที่ต้องจัดมาเพื่อจ่ายดอกเบี้ยและเงินกู้จะขึ้นอีกสักเท่าไหร่ หมายความว่าจะเบียดบังงบประมาณ อย่าลืมว่าปีถัดไปหลังจากที่โต 6 เปอร์เซ็นต์และลงมาแรง ๆ รายได้ภาษีก็จะลงด้วยตัวเอง ภาพการคลังจะน่ากลัวมากตอนนั้น ไม่ใช่ปีหน้าแต่ปีถัดไป นี้เป็นการวาดภาพให้มันดูแย่ มันอาจจะไม่ได้แย่ขนาดนั้น
แต่คำถามก็คือว่าแล้วสวัสดิการจะยังอยู่ไหม ซึ่งเริ่มมองยาวแล้ว มองว่ายังไงการลงทุนในเด็กเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด ที่ผ่านมา 20 ปีเศรษฐกิจไม่ดีเป็นเพราะลงทุนในคนน้อยไป ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย ควรเอาเงิน 560,000 ล้านบาทไปกระตุ้นการสร้างคนซึ่งต้องค่อย ๆ สร้าง ตรงนี้อย่างไรเป็นเรื่องต้องทำ ต่อให้มีเรื่องวิกฤตเข้ามากต้องเจียดเงินมาทำส่วนนี้ ถ้าจำเป็นต้องตัดก็ต้องตัดส่วนอื่นก่อน แต่ว่าส่วนนี้น่าจะยังเก็บเอาไว้
รศ.ดร.ชัยรัตน์ กล่าวว่า ในส่วนการลงทุนที่ได้ไปดูข้อมูล 10 ปีที่ผ่าน มีเรื่องที่แปลกประหลาดเกิดขึ้นคือปกติต่างชาติจะขนเงินมาลงทุนประเทศไทย ญี่ปุ่นขนเงินมาประเทศไทย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นใน 10 ปีที่ผ่านมาคนไทยได้ขนเงินออกไปลงทุนต่างประเทศและถ้าเกิดเราเอาเครื่องยนต์กระตุ้นให้คนไทยเปลี่ยนใจจากการไปลงทุนต่างประเทศแล้วเอาเงินไว้ เราจ้างคนไทยขึ้นมา จะไม่ดีกว่าหรือ มีการลงทุน outflow ในต่างประเทศของคนไทยและก็มี inflow ก็คือการลงทุนของคนต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศไทย ถ้าบวกลบกันแล้วบวกรวมกันแล้วเป็น direct investment เป็นการลงทุน เราก็ติดลบ หมายความว่าเงินเราออกไปต่างประเทศค่อนข้างเยอะ นี่พูดถึงการลงทุนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก็เลยอยากให้แนวคิดว่าเราควรที่จะหาวิธีที่มีการลงทุนในประเทศไทยเยอะขึ้นซึ่งตรงนี้ก็เป็นหน้าที่โจทย์รัฐบาล
โจทก์ที่ถามว่าถ้าสงครามเกิดขึ้น ผมมองระยะสั้นกับระยะยาว ในระยะสั้น ราคาน้ำมันยังไม่ขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าดูวันไหน ถ้าดูวันนี้ก็ 83 เหรียญต่อบาเรลแล้ว ถ้า 3-4 วันก่อน 90 เหรียญต่อบาเรลก่อนสงคราม ซึ่งยังไม่รู้ว่าสงครามนี้จะมีผลกระทบอะไรกับโลกบ้าง ถ้ามองในระยะสั้นก็ตอบไม่ได้ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร
ทำไมถึงพูดราคาน้ำมัน ถ้าเกิดประเทศไทยโชคดีในอีก หนึ่งปีหรือสองปีข้างหน้า ราคาน้ำมันไม่สูงขึ้น ถ้าเราโชคดี ปัญหาเงินเฟ้อก็จะไม่รุนแรง แม้มีการขึ้นค่าแรงเท่าไหร่ คงเป็นนโยบายรัฐบาล แต่คิดว่าขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปดีที่สุดเพราะว่าการขึ้นไปถึง 600 บาทในขณะที่เครื่องยนต์ติด ๆ ดับ ๆ จะไปเอาการลงทุนจากไหน เพราะว่าพอได้มา ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าประเทศไทยไม่ได้จ่ายค่าแรงขั้นต่ำคนไทยอย่างเดียว ต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำในอัตราเท่ากันกับแรงงานต่างด้าวด้วย แล้วก็ตั้งโจทย์ว่าข้างบ้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามเราหรือไม่ เช่น ลาว เมียนมา ขึ้นตามเราหรือไม่ ฉะนั้นก็เป็นโจทย์ที่รัฐบาลและพวกเราต้องช่วยกันคิด
ในส่วนระยะยาว เราก็เจอปัญหาราคาน้ำมันที่ขึ้นสูงมาก เนื่องจากเกิดสงคราม ในภาพนั้นก็ การบริหารประเทศก็จะลำบากขึ้น รถยนต์เราก็คงจะติด ๆ ดับ ๆ ไม่ค่อยติด เงินก็ไม่รู้จะเอามาจากไหน ถ้าเกิดรถไม่ติด ภาษ็ไม่รู้จะเอามาจากไหน เงินสวัสดิการก็ไม่รู้ว่าจะเอามาจากไหน มองในระยะ 4 ปีข้างหน้า ผมว่า 4 ปีข้างหน้ายังโอเค แต่ถ้า 10 ปีข้างหน้าถ้ายังใช้จ่ายสวัสดิการเยอะ ๆ แล้วถ้าเกิดเศรษฐกิจติด ๆ ดับ ๆ ก็จะเหนื่อย นี่มองภาพในแง่ลบ สงครามยืดเยื้อ ดอกเบี้ย เงินเฟ้ออยู่ในอัตราสูง แล้วดอกเบี้ยที่แบงก์ชาติที่ขึ้น
10 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยที่น่าเศร้ามากคืออัตราแลกเปลี่ยน คนอื่นค่าเงินอ่อนตัว อ่อนตัวลงไป 20 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 10 ปี 15 เปอร์เซ็นต์ แปลว่า ของเขาถูกลง 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าดู ณ วันนี้ ของเราอ่อนตัว 5 เปอร์เซ็นต์ แปลว่า ของเวียดนาม ของมาเลเซีย เขาถูกกว่าเราแล้ว เพราะว่าประเทศไทย คนไทยไม่ลงทุน พอไม่ลงทุน ก็เลยไม่ต้องซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ ทั้งหมดเงินบาทเปรียบเทียบ 10 ปีที่ผ่านมาแข็งกว่าคนอื่น และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ส่งออกไม่ค่อยดี ฉะนั้นทำไมถึงเป็นเช่นนั้น หากดูดอกเบี้ยในอดีตของประเทศไทยโดยเฉลี่ยสูงกว่าสหรัฐอเมริกาและเป็นเหตุผลหนึ่งที่มีเงินไหลเข้ามาในประเทศจำนวนมาก
ในส่วนเรื่องสวัสดิการ คิดว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้กลับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเด็กเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า เป็นการกระตุ้นที่เราจะใช้แบบถ้วนหน้า
ชมคลิปวิดีโอย้อนหลัง https://www.facebook.com/100078652075261/videos/1376708749589475
#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สวัสดิการบำนาญ