มหกรรมการชอปปิ้งออนไลน์กลับมาอีกครั้งในช่วง 12.12 ซึ่งแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ทั้งหลายต่างจัดโปรโมชันเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้าในช่องทางของตัวเอง ทั้งการลดราคา ให้ของแถม รวมถึงการแจกโค้ดส่วนลดและให้โค้ดส่งฟรีเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แม้การซื้อขายสินค้าทางออนไลน์จะทำให้ทุกคนสะดวก แต่สิ่งที่ตามมาด้วยคือปัญหาการไม่ได้รับสินค้าที่สั่งไป ได้รับสินค้าที่ไม่ตรงกับที่สั่ง หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการรับประกันสินค้า เป็นต้น
สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จึงมาแนะนำหลัก 4 ต. เพื่อให้ผู้บริโภคสายชอปปิ้งออนไลน์ใช้เป็นแนวทางในการประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์ ดังนี้
ต.ที่ 1 – ต้องสังเกต
- สังเกตและระมัดระวังสินค้าที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือสินค้าจำพวกอาหาร ยา หรืออาหารเสริมที่ถูกถอดถอนเลขทะเบียนของ อย. ไปแล้วแต่ยังนำมาขายอยู่ จากข้อมูลการเฝ้าระวังของสภาองค์กรของผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมาพบว่า มีการวางจำหน่ายสินค้าที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เช่น การใส่ส่วนประกอบที่เป็นอันตรายลงในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ยาน้ำสมุนไพร เป็นต้น เบื้องต้นจึงแนะนำว่าผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนซื้อสินค้าในกลุ่มดังกล่าว โดยสามารถนำชื่อและเลขทะเบียนของผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ที่ oryor.com
- สังเกตการลดราคา ร้านค้าจำนวนมากจะมีช่วงลดราคาพิเศษ โดยแต่ละร้านจะแข่งขันกันว่าร้านไหนลดราคามากกว่าเพื่อเพิ่มยอดขายของร้าน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วราคาที่ตั้งว่าลดแล้วอาจเป็นราคาที่สูงกว่าปกติ หรือเป็นการลดราคาปลอม ดังนั้น ผู้บริโภคควรตรวจสอบราคาสินค้าที่วางขายในแอปพลิเคชันอื่นหรือราคาที่ขายตามท้องตลาดประกอบการตัดสินใจด้วย
ต.ที่ 2 – ตรวจสอบ
- การตรวจสอบร้านค้าหรือผู้ขายว่ามีประวัติการฉ้อโกงมาก่อนหรือไม่ เป็นสิ่งที่จำเป็นในการซื้อสินค้าออนไลน์ในยุคนี้เป็นอย่างมาก เพราะมีกรณีที่ผู้บริโภคหลายรายโดนหลอกลวงหรือถูกโกงจากมิจฉาชีพเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น จึงควรเช็กว่าผู้ขายหรือร้านค้านั้นมีประวัติการฉ้อโกงหรือไม่ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า โดยสามารถเข้าตรวจสอบรายชื่อคนโกงได้ที่เว็บไซต์ www.blacklistseller.com นอกจากนี้ยังสามารถการตรวจสอบผู้ขายรายนั้น ๆ ว่ามีการลงทะเบียนการค้าขายออนไลน์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือไม่ ได้ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th เพื่อลดความเสี่ยงในการซื้อสินค้าจากช่องทางออนไลน์ได้อีกทางหนึ่ง
- อย่าลืมตรวจสอบเงื่อนไขการรับประกันสินค้าหรือบริการหลังการขาย และระยะเวลาในการรับประกันว่ามีมากน้อยเพียงใด (ทั้งนี้ ตามกฎหมายผู้ซื้อมีสิทธิขอคืนสินค้าได้ภายใน 7 วัน ไม่ว่ากรณีใด ๆ)
ต.ที่ 3 – เตรียมหลักฐาน
ควรเก็บหลักฐานในการซื้อขายเพื่อใช้ประกอบการดำเนินคดีในกรณีที่โดนโกง หรือ ถูกหลอกลวง ไว้กับตัวด้วย หลักฐานที่ควรเก็บไว้ มีดังนี้
- เก็บหรือขออีเมลของร้านค้าไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี
- รูปสินค้าและโฆษณาที่แสดงรายละเอียดของสินค้า
- ข้อความการสนทนาระหว่างการซื้อ – การขายไว้เป็นหลักฐาน
- สลิปการโอนเงินและเลขที่บัญชีร้านค้า
- เก็บหลักฐานอื่น ๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขายไว้ (ถ้ามี)
ต.ที่ 4 – เตือนภัย
หากผู้บริโภคเป็นผู้ได้รับความเสียหายหลังจากทำการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ขอความร่วมมือให้นำหลักฐานที่มีแจ้งเตือนภัยและเผยแพร่ลงช่องทางสื่อออนไลน์เพื่อเป็นการแจ้งเตือนภัยไม่ให้ผู้บริโภคคนอื่นตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพเหล่านี้อีก
ทั้งนี้ หากได้รับความเสียหายจากซื้อขายสินค้าออนไลน์ สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจในพื้นที่โดยเร็วที่สุด หรือแจ้งความออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com หรือโทร 1441 หรือสามารถแจ้งเบาะแสมายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ตามช่องทางด้านล่าง ดังต่อไปนี้
- ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
- อีเมล : [email protected]
- โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1, 081 134 3215 หรือ 081 134 3216
- ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
- อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค