‘สิทธิ UCEP’ หรือรู้จักกันในชื่อ สิทธิ ‘เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่’ (Universal Coverage for Emergency Patients) เป็นสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ มีขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยที่ฉุกเฉินวิกฤต หรือผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเข้าข่ายฉุกเฉินสีแดงที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนกระทั่งพ้นวิกฤตไม่เกิน 72 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที
อาการแบบไหนบ้างที่เข่าข่ายฉุกเฉินวิกฤต เสี่ยงต่อชีวิต
– หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
– หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
– ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
– เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
– แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
– อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง
“ถ้าเข้าข่ายอาการฉุกเฉิน รีบไปเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนโดยเร็วที่สุด”
หากแจ้งใช้สิทธิ UCEP แล้ว โรงพยาบาลจะมีขั้นตอนอะไรบ้างนะ?
1. ผู้บริโภคแจ้งใช้สิทธิ UCEP
2. โรงพยาบาลประเมินภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตามแนวทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
3. โรงพยาบาล แจ้งผลการประเมินให้ผู้ป่วยหรือญาติทราบ
4. เข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินและเข้ารับการรักษาตามสิทธิ UCEP โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาเอง
การทราบข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิ UCEP ทั้งในแง่เกณฑ์การประเมินคัดแยกภาวะฉุกเฉินและขั้นตอนการใช้สิทธิ จะมีความสำคัญและเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ไม่เพียงเป็นนโยบายที่มุ่งรักษาชีวิตได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังช่วยทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องประสบกับภาวะล้มละลายที่เกิดขึ้นจากความเจ็บป่วย จนกลายเป็นภาระหนี้สินของผู้บริโภคในภายหลังอีกด้วย