เอไอใกล้ตัว

ปัจจุบันในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคล้วนมีเอไอ หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาในชีวิตประจำวันอย่างไม่รู้ตัว แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าเอไอมีส่วนที่เสมือนเป็นสมองของเอไอ เรียกว่า แมชชีนเลิร์นนิ่ง (Machine Learning) โดยมนุษย์มีหน้าที่เขียนโปรแกรมให้เอไอเรียนรู้จากข้อมูลเท่านั้น แมชชีนเลิร์นนิ่งเรียนรู้จากสิ่งที่เราส่งเข้าไปกระตุ้น แล้วจดจำเอาไว้ สามารถเอาไปใช้งานได้หลายรูปแบบ ต้องอาศัยกลไกที่เป็นโปรแกรม หรือเรียกว่า อัลกอริทึม (Algorithm) ที่มีหลากหลายแบบ บอกได้เลยว่าเอไออยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างแนบเนียนมากๆ

ดังนั้น วันนี้สภาผู้บริโภคจึงได้ยกตัวอย่างเอไอในชีวิตประจำวันที่มีเจ้าแมชชีนเลิร์นนิ่งมาให้ผู้บริโภคทราบข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้เอไอและรู้เท่าทันเอไอ (สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/photo/?fbid=387089400589459&set=a.236384655659935) เพราะฉะนั้นผู้บริโภคจึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเอไอ เพื่อเป็นเกราะป้องกันมิจฉาชีพที่อาจพลิกแพลงรูปแบบใหม่ ๆ มาหลอกลวงเรา

การสแกนและตรวจจับใบหน้า (Face ID)

นำเอไอมาใช้ในการระบุตัวตน และการพิสูจน์ตัวผู้ใช้ โดยใช้เทคนิคการแปรค่าเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล เพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบความแตกต่าง จากการจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลเปรียบเทียบจากข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งการสแกนใบหน้า ช่วยปกป้องข้อมูลทำให้สามารถเข้าถึงได้เพียงผู้ใช้งานที่ต้องการและเป็นการป้อนข้อมูลที่ยากต่อการเลียนแบบ จึงเป็นการประยุกต์ใช้เอไอกับข้อมูลความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ เช่นการสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันกับแอปธนาคาร หรือการสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อกโทรศัพท์

การส่งอีเมล

มีเครื่องมือ เช่น เว็บไซต์ Grammarly ที่ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของคำและไวยากรณ์บนอีเมล หรือใน จีเมล ที่มีการแนะนำคำและไวยากรณ์ที่ถูกต้องให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ได้นำเทคโนโลยีเอไอและการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) มาใช้งาน หรือในการคัดกรองอีเมลที่ใช้เทคโนโลยีเอไอในการบล็อกอีเมลที่อาจเป็นอีเมลสแปม รวมถึงโปรแกรมแอนตี้ไวรัสยังได้นำเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิ่งมาช่วยในการป้องกันความปลอดภัยให้กับอีเมลของคุณอีกด้วย

การแสดงเนื้อหาและโฆษณาตามความสนใจ

การนำเทคโนโลยีเอไอเข้ามาใช้ในแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) ติกตอก (TikTok) เอ็กซ์ (X (Twitter)) และ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภค จากนั้นนำมาวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อดูความสนใจ การมีปฏิสัมพันธ์ ของผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคกำลังคุยกับเพื่อนเกี่ยวกับกระทะไฟฟ้า ต่อจากนั้นผู้บริโภคเข้าใช้สื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก (Facebook) ผู้บริโภคจะเห็นการแจ้งเตือนเกี่ยวกับร้านค้ากระทะไฟฟ้า 

การค้นหาบน กูเกิล (Google)

มีการนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ในการรวบรวมข้อมูลการค้นหาในอดีต แล้วนำเสนอในสิ่งที่ผู้ใช้งานแต่ละคนสนใจ เช่น เคยค้นหา วิธีการทำต้มยำ ในครั้งถัดไปเมื่อพิมพ์ วิธี ก็จะขึ้น วิธีการทำต้มยำ มาอันดับแรก ๆ

การทำงานของผู้ช่วยอัจฉริยะ

เช่น สิริบนไอโฟน Siri แอป Google Assistant หรือแอปชาแซม (Shazam) มีการนำเทคโนโลยีเอไอมาวิเคราะห์และประมวลผลภาษาธรรมชาติ และตอบคำถามให้กับผู้บริโภค เช่น หากต้องการสอบถามสภาพอากาศ เพียงเรียก หรือกดปุ่ม แล้วถามผู้ช่วยอัจฉริยะก็จะได้คำตอบ

ระบบเดาคำในคีย์บอร์ดของโทรศัพท์

เอไอช่วยให้เขียนข้อความที่สะกดได้อย่างถูกต้อง เช่น เอไอจะสแกนข้อความเพื่อหาข้อผิดพลาด และแนะนำการแก้ไข

ระบบแนะนำเส้นทาง เช่น กูเกิลแมพ

ใช้เอไอในการติดตามการจราจร เพื่อแจ้งข้อมูลการจราจร และสภาพอากาศแบบทันที รวมถึงแนะนำเส้นทางที่สามารถเลี่ยงการจราจรที่หนาแน่นได้

กล้องมือถือที่ช่วยปรับภาพให้เหมาะสมกับสิ่งที่กำลังถ่าย

เอไอทำหน้าที่จดจำและเรียนรู้ในการถ่ายภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายภาพ โดยปรับภาพให้สวยงามอัติโนมัติ พร้อมกับจดจำค่าการใช้งานต่างๆ เช่น โทนสี ที่ใช้บ่อย ๆ เพื่อใช้กับการถ่ายรูปในครั้งต่อไป และการปรับภาพของเอไอจะยังคงสภาพให้ดูเป็นธรรมชาติ

รถยนต์ไร้คนขับ เช่น เทสล่า (Tesla)

เป็นรถยนต์ในอนาคต ที่มีระบบเอไอ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย คอยแนะนำทาง เตือนการเลี้ยวต่าง ๆ แต่มนุษย์ยังควบคุมอยู่

อุปกรณ์สมาร์ทโฮม

ระบบที่ทำการเชื่อมต่อสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ในบ้าน ด้วยระบบเอไอ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถคิดด้วยตนเองได้ในระดับหนึ่ง ประกอบกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่จะช่วยให้เราสั่งการเอไอ เช่น ลำโพงอัจฉริยะ แค่สั่งการด้วยเสียงก็สามารถใช้งานได้

ธุรกรรมทางการเงิน

มีการนำเอไอเข้ามาใช้ในธุรกรรมทางการเงินตั้งแต่แชทบอท ไปจนถึงใช้สำหรับการป้องกันการฉ้อโกงและการทำงานแบบอัตโนมัติ เช่น การยืนยันตัวตนของแอปธนาคาร หรือ การตอบคำถามโดยแชทบอท

ทั้งนี้ สามารถติดตามเนื้อหา ความรู้ สาระดี ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเอไอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ที่เพจเฟซบุ๊กสภาองค์กรของผู้บริโภค ตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้ได้เลย

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://shorturl.asia/LEDiI

https://shorturl.asia/CMYRO

https://shorturl.asia/3PYHg

https://shorturl.asia/lL7kf

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค