ทำไมค่าไฟฟ้าถึงแพง
เหตุผลเบื้องต้น
1. ค่าไฟแพง เพราะค่า Ft ขยับสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด
เดิมในช่วงปี 2559 – 2554 ค่า Ft มีค่าติดลบ แต่นับแต่ต้นปี 2565 ค่า Ft เริ่มขยับขึ้น จาก 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ในช่วงต้นปี มาเป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ในช่วงกลางปี และขยับขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งเป็นอัตราค่า Ft ที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
และเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ภาคครัวเรือนยังคงถูกเก็บค่า Ft ในอัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย แต่ในเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 ค่า Ft จะสูงขึ้นเป็น 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจากหน่วยละ 4.72 บาทต่อหน่วย ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย
2. ค่าไฟแพง เพราะการใช้เครื่องไฟฟ้าในหน้าร้อนจะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟมากขึ้น
ข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง อากาศร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าใช้ไฟฟ้ามากขึ้นประมาณ 3% ดังนั้น หากเราเปิดเครื่องปรับอากาศด้วยอุณหภูมิ 26 องศา เท่าเดิมในระยะเวลาเท่าเดิม แต่หากอุณภูมินอกห้องอยู่ที่ 35 องศา เครื่องแอร์จะกินไฟที่ 0.69 หน่วย/ชม. หากค่าไฟปัจจุบันหน่วยละ 4.72 บาท จะต้องเสียค่าไฟ 3.25 บาทต่อชั่วโมง แต่หากอุณภูมิภายนอกเพิ่มขึ้นเป็น 41 องศา จะต้องเสียค่าไฟ 3.73 บาทต่อชั่วโมง ซึ่งหากเราใช้งานแอร์จำนวนชั่วโมงเพิ่มขึ้นเพราะอากาศร้อน เราก็ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นตามรายชั่วโมงที่เพิ่มขึ้น
เหตุผลเบื้องลึก
คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ติดตามศึกษาสถานการณ์ปัญหาราคาพลังงานของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าปัญหาค่าไฟฟ้าแพงของประเทศ ที่ไม่ได้มีปัจจัยจากภาวะสงครามหรือราคาก๊าซธรรมชาติขยับสูงขึ้นแต่เพียงที่หน่วยงานด้านพลังงานกล่าวอ้างเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยสำคัญที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนอีก ดังนี้
1. ค่าไฟฟ้าแพงเพราะการวางแผนกผลิตพลังงานไฟฟ้าที่คำนึงถึงความมั่นคงทางด้านพลังงานเกินความจำเป็น และเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเกินสมควร ไม่มีความยืดหยุ่นต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่าง ๆ ของประเทศและของโลก จึงทำให้เกิดปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มากเกินจำเป็นหรือมีโรงไฟฟ้าในระบบล้นเกินความต้องการ เห็นได้จากปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 46,163.4 เมกะวัตต์ แต่มียอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นในแต่ละปีนับแต่ปี 2562 – 2565 เพียงปีละประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ เท่านั้น หรือมีปริมาณเกินไปปีละ 10,000 เมกะวัตต์ หรือมีกำลังการผลิตสำรองสูงถึง 50% ขณะที่กำลังการผลิตสำรองไฟฟ้าที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 15% เท่านั้น
2. ค่าไฟฟ้าแพง เพราะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPPs) ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการใช้ ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ยังได้เงินค่าไฟฟ้า ที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” (Take or Pay) ประมาณการว่าที่ผ่านมา มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 8 ใน 12 แห่งไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือเดินเครื่องไม่เต็มศักยภาพ แต่ยังได้รับเงินค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าแบบไม่ซื้อก็ต้องจ่าย โดยคาดว่าค่าภาระไฟฟ้าส่วนเกินนี้เป็นเงินมากถึง 49,000 ล้านบาทต่อปี
3. ค่าไฟฟ้าแพง เพราะการที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มศักยภาพ เพราะกำลังผลิตไฟฟ้าล้นระบบ จึงถ่ายการผลิตไฟฟ้าไปให้โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPPs) เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแทน ตามประมาณการค่า Ft ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 ค่าไฟฟ้าของโรงฟ้าขนาดเล็กมีอัตราสูงถึง 4 บาทต่อหน่วย มีปริมาณไฟฟ้าที่ซื้อมากถึง 18,014 ล้านหน่วย เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 73,261 ล้านบาท นับเป็นอัตราค่าไฟฟ้า ปริมาณซื้อไฟฟ้า และเกิดเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดในการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนทั้งหมด
โดยโรงไฟฟ้าขนาดเล็กจากจำนวนทั้งหมด 155 โรง ไม่ได้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงมากถึง 76 โรงหรือคิดเป็นร้อยะ 49 ของจำนวน SPPs ทั้งหมด ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมกันประมาณ 6,200 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 66% ของกำลังผลิตไฟฟ้า SPPs ทั้งหมด ขณะที่โรงไฟฟ้า SPPs พลังงานหมุนเวียนมีอยู่ 74 โรง แต่มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมกันเพียง 2,869.4 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 30% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของกลุ่ม SPPs เท่านั้น
4. ค่าไฟฟ้าแพง เพราะประชาชนไม่ได้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยที่มีราคาต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบราคาก๊าซจากแหล่งอื่น ๆ แต่ต้องใช้ราคา Pool ก๊าซ หรือราคาผสมจากทุกแหล่ง ทั้งก๊าซที่ออกจากโรงแยกก๊าซ ก๊าซนำเข้าจากประเทศพม่าและ LNG ที่ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซ้ำยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าสถานีบริการและค่าผ่านท่อที่ขยับสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ขณะที่มีเพียงกลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติและกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเท่านั้นที่ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยตามราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ไม่ต้องไปรวมในราคา Pool ก๊าซ จึงเป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติในราคาที่ต่ำและไม่มีการร่วมเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกับประชาชน
5. ค่าไฟฟ้าแพง เพราะรัฐยังไม่ตระหนักถึงปัญหาปริมาณไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินอย่างจริงจัง แทนที่รัฐจะหยุดหรือลดการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้เกิดเป็นภาระต่อประชาชนอีก แต่รัฐยังจะเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าในประเทศลาวเข้ามาอีก 2 โรง คือ เขื่อนไฟฟ้าหลวงพระบาง มีอัตราค่าไฟฟ้า 2.8432 บาทต่อหน่วย และเขื่อนปากแบง อัตราค่าไฟฟ้า 2.9179 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าฐานขายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 2.5683 บาทต่อหน่วย จึงย่อมบ่งชี้ได้ว่าค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายให้กับสองเขื่อนนี้เป็นภาระค่า Ft ของประชาชนในประเทศได้ในอนาคต นอกจากนี้การก่อสร้างโครงการเขื่อนทั้งสอง และเขื่อนอื่น ๆ ยังมีปัญหาการร้องเรียนจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการอยู่อาศัยของประชาชนไทยและลาวตามมาอีกด้วย
จากปัญหาดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เคยส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 เพื่อให้ดำเนินการ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ
1. สนับสนุนการพึ่งตนเองด้านพลังงานไฟฟ้าของประชาชนอย่างเต็มที่ ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนให้เพิ่มขึ้น เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน โดยขอให้ดำเนินการ ดังนี้
- เดิมกำหนดราคารับซื้อไว้ที่ 2.20 บาท/หน่วย ให้เปลี่ยนเป็นระบบเน็ต มิเตอริ่ง หรือระบบการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย เพื่อไม่ให้การไฟฟ้าต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเป็นภาระในการเปลี่ยนหรือเพิ่มมิเตอร์ไฟฟ้า
- ให้ขยายระยะเวลาการับซื้อไฟฟ้าของโซลาร์ภาคประชาชน จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 10 ปี เป็น 20-25 ปี หรือตามอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์
- ให้จัดหาแหล่งทุนกู้ยืมดอกเบี้ยร้อยละหนึ่งต่อปี เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการติดตั้งระบโซลาร์เซลล์ได้อย่างแท้จริง
2. ยับยั้งและทบทวนการคิดค่า Ft ใหม่โดยด่วน โดยให้ดำเนินดังนี้
- ลดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งทำให้มีค่าซื้อไฟฟ้าสูงถึง 4.00 บาทต่อหน่วย ให้มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเท่ากับการผลิตของโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ประมาณ 8,860 ล้านบาทต่อปี
- ปรับลดเงินประกันกำไรของโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กที่ใช้ก๊าซธรรมชาติให้อยู่ที่ 1.75% ให้ใกล้เคียงกับเงินประกำไรของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
- ควรมีการกำหนดเพดานราคาก๊าซธรรมชาติในสูตรการคำนวณค่าผ่านท่อไว้ที่ 200 บาทต่อล้านบีทียู และกำหนดและค่าประสิทธิภาพที่ 2% ต่อปี เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ถึง 587 ล้านบาทต่อปี
- ให้ปรับโครงสร้าง ราคา Pool Gas ใหม่ โดยนำปริมาณก๊าซธรรมชาติที่เข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติและถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมารวมอยู่ในราคา Pool Gas ด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ราคา Pool ก๊าซลดลง และคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี
3. ชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากโรงฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ออกไป และการดำเนินการเพื่อการได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้าทั้งในและนอกประเทศจะต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อชุมชนใกล้เคียงด้วย
4. การดำเนินนโยบายด้านพลังงานและการกำกับกิจการพลังงานของประเทศ ขอให้ตระหนักถึงความมีธรรมาภิบาลอย่างสูงสุด และต้องไม่ให้มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง