ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์ คดี ‘ค่าบำรุงการศึกษา’

เมื่อการเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการเรียนฟรี ล่าสุดศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์ ผู้ปกครองนักเรียนฟ้องกระทรวงศึกษาธิการ

ค่าบำรุงการศึกษา

วันที่ 15 มกราคม 2568 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับอุทธรณ์ในกรณีที่สภาผู้บริโภค พร้อมด้วยคณะทำงานด้านการศึกษา ทนายความ และผู้แทนผู้เสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษา ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยชี้ว่าการเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาในรูปแบบปัจจุบันส่งผลกระทบต่อสิทธิผู้ปกครองและทำให้เด็กหลายคนเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา

ปัญหาค่าบำรุงการศึกษาและผลกระทบต่อ “เรียนฟรี”

จากกรณีเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 กลุ่มผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษา รวมตัวกันภายใต้การสนับสนุนของสภาผู้บริโภค โดยชี้ว่าค่าบำรุงการศึกษาดังกล่าวขัดแย้งกับหลักการ “เรียนฟรี” ที่รัฐประกาศไว้ ส่งผลให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยต้องแบกรับภาระเกินกำลัง

อีกทั้ง การเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาดังกล่าวกระทบสิทธิผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคควรจะต้องได้รับการศึกษาฟรี โดยที่รัฐเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญ แต่การที่สถานศึกษาเรียกเก็บค่าบํารุงการศึกษา ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

การต่อสู้ทางกฎหมายที่กินเวลานานกว่า 6 เดือน

กว่า 6 เดือน ที่คณะทำงานด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค และทนายความ ได้ติดตามและดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภค เนื่องจากในขั้นต้น ศาลปกครองกลางปฏิเสธคำฟ้อง เพราะมองว่าโจทก์ยื่นฟ้องเกินกำหนดระยะเวลา แต่ทนายความได้ยื่นขอขยายเวลาอุทธรณ์ โดยชี้แจงว่าคดีนี้เป็นประเด็นที่กระทบต่อส่วนรวม ไม่ใช่เพียงแค่คดีละเมิดทั่วไปที่มีอายุความเพียง 1 ปี ซึ่งหลังจากการยื่นขยายเวลาอุทธรณ์สองครั้งในวันที่ 24 ตุลาคม และ 21 พฤศจิกายน 2567 ศาลปกครองชั้นต้นได้ส่งเรื่องต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด และในที่สุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งรับอุทธรณ์เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568

การศึกษาไม่ควรมีต้นทุนสูง ความหวังในการลดความเหลื่อมล้ำ

คดีนี้ไม่ใช่เพียงการต่อสู้เพื่อหยุดการเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษา แต่ยังสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไทย โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีรายได้น้อย หากการฟ้องครั้งนี้สำเร็จจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างมาก เพราะจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษาและความเป็นธรรมในสังคมมากขึ้น