คณะทำงานด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค ส่องสถานการณ์ปัญหา ‘ทำไมเด็กไทยร่วมล้านไม่ได้เรียนต่อ’ ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพเป็นเวลา 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และคณะทำงานด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค ให้ข้อมูลต่อสถานการณ์ปัญหาด้านศึกษาของไทยช่วงปี 2562 – 2566 ในการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า ไทยมีเด็กอยู่ในระบบการศึกษา ทั้งสิ้น 2 แสนคน แบ่งเป็นระดับอุดมศึกษา จำนวน 1 แสนคนและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 1 แสนคน และมีเด็กนอกระบบการศึกษา ทั้งสิ้นกว่า 900,000 คน
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามเส้นทางการศึกษาของนักเรียนยากจนไปถึงยากจนพิเศษ พบปัญหาความท้าทายและรอยต่อระหว่างช่วงชั้น คือ ปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน การไม่รู้ข้อมูลแหล่งทุน แหล่งทุนมีจำกัด หรือเงินกู้เพื่อการศึกษาจ่ายให้ล่าช้า ในขณะที่เด็กและผู้ปกครองต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ เช่น ค่าเครื่องแบบ ค่าเดินทาง อุปกรณ์การเรียน เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา
เพื่อให้เด็กไทยได้มีโอกาสศึกษาอย่างต่อเนื่องและเป็นการช่วยกันนำเด็กคืนสู่ระบบการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต คณะทำงานด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค จึงได้พิจารณาถึงแนวนโยบายที่ควรได้รับการสนับสนุน อาทิ การพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การจัดสรรเงินทุนแบบมีเงื่อนไขให้กับเด็กและเยาวชน การปรับปรุงการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนนักเรียนทุนเสมอภาค การปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียน เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 ซึ่งเป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับประเด็นของผู้บริโภค จะระบุว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และรัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่งเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย
นอกจากนี้ รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริม ให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษา ดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากลร่วมด้วย