สภาผู้บริโภคเสนอยกเลิกรถทัวร์สองชั้น ชี้จุดศูนย์ถ่วงรถทัวร์สองสูงเพิ่ม มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุการพลิกคว่ำ มากกว่ารถโดยสารชั้นเดียวถึง 6 เท่า
จากกรณีอุบัติเหตุรถทัวร์สองชั้นสายกรุงเทพฯ – เลย – เชียงคาน เสียหลักลงข้างทางจนมีผู้บาดเจ็บหลายราย สภาผู้บริโภคเสนอให้ยกเลิกการใช้รถทัวร์สองชั้นในการเดินทางไกลระหว่างจังหวัด เนื่องจากพบปัญหาด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะจุดศูนย์ถ่วงที่สูงซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำ พร้อมเสนอให้เปลี่ยนมาใช้รถทัวร์ชั้นเดียวที่มีความปลอดภัยมากกว่าแทน
แม้กรมการขนส่งทางบกจะสั่งยกเลิกจดทะเบียนรถโดยสารสองชั้นตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากความไม่เหมาะสมในการใช้งานในเส้นทางเสี่ยงลาดชันและความเสี่ยงจากจุดศูนย์ถ่วงสูงที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากกว่ารถโดยสารชั้นเดียวถึง 6 เท่า แต่ปัจจุบันจากข้อมูลกรมการขนส่งทางบกยังคงมีรถโดยสารสองชั้นให้บริการทั่วประเทศมากกว่า 6,300 คัน โดยประชาชนไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลสำคัญ เพื่อเป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจเลือกใช้บริการได้ เช่น อายุการใช้งาน การตรวจสภาพรถ การมีประกันภาคบังคับหรือภาคสมัครใจ การตรวจสภาพรถ และการผ่านทดสอบความลาดเอียง ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้อุบัติเหตุรถโดยสารสองชั้นยังคงเกิดขึ้นหลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา
สำหรับกรณีรถโดยสารสองชั้น ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้เสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหารถโดยสารสาธารณะไม่ปลอดภัยต่อกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก แต่ปัจจุบันยังไม่มีการตอบรับถึงมาตรการดังกล่าว
ย้ำข้อเสนอการคุ้มครองผู้บริโภค มีรายละเอียดดังนี้
1) กำหนดนโยบายซื้อรถโดยสารสองชั้นคืนจากผู้ประกอบการ กำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน และสนับสนุนผู้ประกอบการให้ปรับเปลี่ยนการให้บริการสู่รถโดยสารชั้นเดียว เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
2) เปิดช่องทางตรวจสอบข้อมูลรถโดยสารไม่ประจำทาง เช่น ข้อมูลการจดทะเบียน ข้อมูลการตรวจสภาพรถ ข้อมูลการตรวจสอบความลาดเอียง ข้อมูลการจัดทำประกันภัย ตลอดจนข้อมูลอื่นผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายสะดวก เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจเลือกใช้บริการของผู้บริโภค
3) กำหนดมาตรการควบคุมเส้นทางบริการรถโดยสารสองชั้นประเภทไม่ประจำทาง โดยไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการขนส่งเดินรถในเส้นทางที่มีพื้นที่ลาดชันอันตราย และเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภค
4) มีระบบติดตามเชิงป้องกันแบบเรียลไทม์ (Real Time) ผ่านระบบช่วยระบุตำแหน่ง (Global Positioning System : GPS) ในรถโดยสารสาธารณะ เมื่อพบว่ามีการขับรถเกินระยะเวลาที่กำหนด หรือขับรถด้วยความเร็วสูง หรือเข้าเส้นทางเสี่ยงอันตรายสามารถแจ้งเตือนหรือสกัดได้ทันที และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการควบคุมควรเชื่อมต่อหรือส่งข้อมูลในหน่วยงานอื่น ๆ ในระดับพื้นที่ เช่น ตำรวจทางหลวง สำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด เป็นต้น
ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เรียกร้องอะไรได้บ้าง
ผู้บริโภคที่ได้รับบาดเจ็บ หรือได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ มีสิทธิเรียกร้องความเสียหายได้ ดังนี้
ส่วนที่ 1 การเรียกค่าสินไหม ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
1. ค่ารักษาพยาบาล จ่ายตามจริง ให้โรงพยาบาล ไม่เกิน 80,000 บาท
2. ค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิต 500,000 บาท/คน
3. สูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 200,000 – 500,000 บาท/คน
4. ค่าชดเชยรายวัน จ่ายให้ผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน
ส่วนที่ 2 การเรียกค่าเสียหายกับประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ค่ารักษาพยาบาล ส่วนที่เกินวงเงินของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
(สำหรับกรณีเสียชีวิต ขั้นต่ำรายละ 500,000 บาท) **รายละเอียดขึ้นกับกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทที่ทำเอาไว้
1. ค่าทนทุกข์ทรมาน จากการบาดเจ็บ
2. ทรัพย์สินที่เสียหาย หรือสูญหายในขณะเกิดอุบัติเหตุ
3. ค่าเสียหายอื่น ๆ เช่น ค่าขาดโอกาสในการทำงาน ค่าขาดไร้อุปการะ -ค่าขาดรายได้ เป็นต้น
เดินทางช่วงเทศกาลต้องระวัง
ทั้งนี้ ผู้บริโภคที่เดินทางช่วงเทศกาล ระวัง “ตั๋วปลอม” แนะนำซื้อตั๋วจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋ว หรือแอปฯ ของบริษัทขนส่งโดยตรง และอย่ายอมให้ผู้ประกอบการละเมิดสิทธิด้วยการให้นั่งเก้าอี้เสริมเมื่อรถเต็ม หากพบการกระทำเช่นนี้ขอให้ร้องเรียนไปที่กรมการขนส่งทางบก โทร 1584 ผู้ประกอบการจะมีความผิดโดยเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ กำหนดโทษของการบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท
ถูกหลอกซื้อตั๋วปลอมทำยังไง
หากผู้บริโภคท่านใดได้รับความเสียหายจากกรณีซื้อตั๋วปลอมบนออนไลน์ดังกล่าว สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่หรือแจ้งความออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสามารถแจ้งเบาะแสมายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ที่เบอร์สายด่วน 1502
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อีกแล้ว! รถทัวร์สองชั้นแหกโค้งดับ 2 เสนอคมนาคมแก้ปัญหาภัยซ้ำซาก
หยุดอุบัติเหตุซ้ำซาก! สภาผู้บริโภคเสนอ ยกเลิกรถทัวร์ 2 ชั้น ทบทวนความปลอดภัย
ชง ยกเลิกรถสองชั้น รื้อระบบตรวจสภาพรถ เพิ่มวงเงินประกันเป็น 30 ล้านบาท