เคยหรือไม่… หยิบสินค้าที่แสดงการลดราคา แต่ถึงเวลาจ่ายเงินหน้าแคชเชียร์กลับเป็นราคาเต็ม เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริงในห้างสรรพสินค้าขายปลีกขายส่งทั่วไป โดยที่ผู้บริโภคจำนวนมากได้แจ้งแคชเชียร์ และได้รับการลดราคา แต่ยังมีผู้บริโภคอีกจำนวนหนึ่งที่จ่ายเงินค่าสินค้าที่ลดราคาในราคาเต็มเป็นเพราะเชื่อมั่นว่าระบบคิดเงินจะเป็นไปตามป้ายบอกราคา
แต่ผู้บริโภคควรทำอะไรต่อหรือไม่ ถ้าตนเองทักท้วงแล้วได้รับการลดราคาอย่างถูกต้องตามหน้าป้ายแล้ว? คำตอบคือ ผู้บริโภคต้องช่วยกันรักษาสิทธิ ด้วยการร้องเรียนเพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างเป็นระบบ นั่นก็คือการรักษาสิทธิตนเองที่จะไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภคในอนาคต
เรื่องเล่าผู้บริโภคครั้งนี้เป็นเรื่องของผู้บริโภคที่ไปซื้อแอปเปิลที่ห้างสรรพสินค้า โดยบนป้ายราคาติดป้ายราคา กิโลกรัมละ 70 บาท แต่เมื่อนำสินค้าไปจ่ายเงินกลับถูกคิดราคาเป็นกิโลกรัมละ 137 บาท ผู้บริโภครายนี้จึงได้สอบถามพนักงานที่คิดเงินและได้รับทราบเหตุผลว่า เพราะสินค้ามีการลดราคาจนทำให้เกิดการติดป้ายราคาซ้ำซ้อนกัน แต่สุดท้ายพนักงานได้คิดเงินตรงกับราคาตามป้าย หากผู้บริโภคไม่สังเกตอาจต้องสูญเงินส่วนต่างนี้ไป
“ดิฉันเห็นแอปเปิลติดป้ายราคา กิโลกรัมละ 70 บาท เป็นสายพันธุ์ที่ชอบกินจึงหยิบมา เเต่พอนำไปคิดเงิน พนักงานคิดราคาเป็นกิโลกรัมละ 137 บาท จึงได้สอบถามพนักงานตรงเคาน์เตอร์คิดเงิน เมื่อพนักงานได้ทราบเหตุการณ์จึงคิดราคาเป็น 70 บาท ดิฉันเห็นว่าถ้าผู้บริโภครายอื่น โดยเฉพาะผู้บริโภคที่สูงวัย หากไม่ได้สังเกตดูที่จอว่าคิดราคาเท่าไรอาจจะพบคนที่เสียหายเป็นจำนวนมากกับการคิดราคาไม่ตรงตามป้ายเเบบนี้” ผู้บริโภค ระบุ
นอกจากนี้ ผู้บริโภคได้แบ่งปันประสบการณ์เพิ่มเติมกับสภาผู้บริโภคว่า เดิมทีเวลาซื้อสินค้าบางครั้งไม่ได้ดูว่าราคาตามป้ายกับที่จ่ายจริงตรงกันหรือไม่ เมื่อกลับมาดูใบเสร็จย้อนหลังจึงรู้ว่าราคาไม่ตรงกันแต่ก็ปล่อยผ่านไปและได้รับบทเรียนกับเหตุการณ์เช่นนี้อยู่หลายครั้ง ทำให้ภายหลังเวลาซื้อของจะคอยเตือนตัวเองตลอดให้ดูอย่างละเอียด บางครั้งมีการคำนวณราคาสินค้าไว้ก่อนเพื่อไว้ตรวจสอบก่อนที่จะจ่ายเงิน ซึ่งอาจจะเหมือนเพิ่มภาระให้ตัวเอง แต่เห็นว่าควรต้องป้องกันไม่ให้ตัวเองโดนเอาเปรียบได้ และหากเจอปัญหาจะรีบแจ้งพนักงานทันที นอกจากนี้ยังเคยพบเจอปัญหาตอนไปซื้อของที่ตลาดพบและแม่ค้าโกงตราชั่ง ผ่านการซื้อหมู 1 กิโลกรัม แต่แม่ค้ากลับชั่งมาให้เพียง 8 ขีด จึงอยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สุ่มตรวจตามตลาดสดร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม ห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าที่ขายสินค้าไม่ตรงกับราคาป้ายที่แสดงอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 43 ปี 2559 เรื่องการแสดงสินค้าและบริการ ข้อ 11 การแสดงราคาขายปลีกสินค้าหรือค่าบริการต้องแสดงให้ตรงกับราคาที่จำหน่ายหรือค่าบริการ มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 28 พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 นอกจากนี้ ผู้บริโภคสามารถเก็บหลักฐานการซื้อสินค้า เช่น ใบเสร็จ หรือภาพป้ายราคาที่ตรงกับสินค้า ร้องเรียนกับสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือร้องเรียนได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ การใช้สิทธิของผู้บริโภคนั้น กรมการค้าภายในจะมีรางวัลนำจับให้ถึง 25 เท่าของค่าปรับในข้อหาจำหน่ายสินค้าไม่ตรงกับราคาที่แสดง หากมีการดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ถูกแจ้งเบาะแสแล้ว
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภค ขอให้ผู้บริโภครักษาสิทธิของตัวเอง อย่ายอมให้ตัวเองโดนเอาเปรียบไม่ว่าจำนวนเงินจะมากหรือน้อยก็ตาม เมื่อพบห้างหรือร้านค้ามีการเรียกเก็บเงินเกินจริง หรือราคาไม่ตรงป้าย ผู้บริโภคควรรีบแจ้งผู้จัดการหรือพนักงานร้านค้าเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะผู้ซื้อได้ ทั้งนี้ หากพบปัญหาผู้บริโภค ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้
• ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
• ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
• อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
• สายด่วน : 1502
• อีเมล : [email protected]