แม้สิทธิการเข้าถึงการรักษาในภาวะวิกฤติโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือที่รู้จักกันในชื่อสิทธิยูเซ็ป (UCEP) นั้นเป็นนโยบายจากภาครัฐที่เขียนไว้อย่างอย่างเป็นรูปธรรม แต่จากข้อมูลความเป็นจริงที่ปรากฎตามสื่อหรือแม้แต่ข้อมูลการร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภค พบว่า สิทธิยูเซ็ปเป็นสิทธิที่ “เข้าไม่ถึง” ได้อย่างแท้จริง เพราะประชาชนบางรายถูกปฏิเสธการรับสิทธิด้วยการอ้างว่าไม่เข้าเกณฑ์ บางรายถูกเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติม
ประสบการณ์ของผู้บริโภคที่เข้ามาร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคได้เล่าเหตุการณ์ว่า หลังในเช้าของต้นเดือนกันยายน 2566 คุณแม่ของผู้บริโภครายดังกล่าวตื่นขึ้นมาและพบว่ามีอาการตัวร้อน มีไข้สูง ใจสั่น รู้สึกอ่อนเพลีย แทบลุกเดินไม่ได้ แขน ขากระตุกแรง และสะบัดไปมา แต่เมื่อไปถึงโรงพยาบาลใกล้บ้านกลับได้รับแจ้งว่าอาการคุณแม่ไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตจึงไม่สามารถใช้สิทธิได้ ทั้ง ๆ ที่อาการอยู่ใน 6 เกณฑ์ตามประกาศยูเซ็ป ทำให้ต้องชำระเงินค่ามัดจำการรักษา
“เมื่อคุณแม่กลับมาจากห้องฉุกเฉินได้ไม่ถึง 3 นาที คุณหมอแจ้งว่าต้องพาไปรักษาที่ห้องที่ดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤตหรือห้องไอซียู (ICU) และต้องไปชำระค่ารักษาอีกครั้ง เมื่อมีเวลาจึงเปิดซองเอกสารดู ซึ่งเป็นเอกสารเกณฑ์ประเมินอาการฉุกเฉินวิกฤตที่โรงพยาบาลประเมินว่าไม่เข้าเกณฑ์ และให้เอกสารไปเบิกกับโรงพยาบาลต้นสังกัด แต่จากสถานการณ์เรามองว่าอาการของคุณแม่เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤตตามประกาศของยูเซ็ป” เสียงสะท้อนของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สิทธิยูเซ็ป
เมื่อเห็นว่าอาการคุณแม่อยู่ในเกณฑ์ตามประกาศของสิทธิยูเซ็ป ในข้อ 6 ที่ระบุว่า “อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต” ผู้บริโภคจึงโทรสอบถามกับ 1669 เพื่อให้พิจารณาเกณฑ์นี้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แจ้งว่ายินดีที่จะเปลี่ยนเกณฑ์ให้หากทางโรงพยาบาลเปลี่ยนเกณฑ์มาใหม่ เพราะสถาบันฯ ไม่สามารถเปลี่ยนได้เอง ดังนั้นผู้บริโภคจึงสอบถามกับแพทย์เจ้าของอาการแต่สุดท้ายไม่ได้รับคำตอบจากแพทย์ และเรื่องไม่มีความคืบหน้าจึงเดินหน้าใช้สิทธิผู้บริโภคร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภคช่วงเดือนตุลาคม 2566
“เราขอความกรุณาให้ช่วยตรวจสอบและพิจารณาเกณฑ์อาการที่เข้าข่ายสิทธิยูเซ็ปอีกครั้ง เราอยากให้เคสของคุณแม่เป็นเคสตัวอย่าง เพราะมองว่าอาการแบบนี้เป็นอาการรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันเวลาและการตัดสินที่ถูกต้อง” ผู้บริโภค กล่าว
หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน สภาผู้บริโภคได้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการประเมินอาการผู้ป่วยที่อาจเข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤตตามประกาศของสิทธิยูเซ็ป และขอให้ทบทวนการวินิจฉัยของแพทย์ เพื่อความเป็นธรรมของผู้บริโภค
นับเป็นระยะเวลากว่า 8 เดือนหลังจากที่ผู้บริโภคได้ร้องเรียนเข้ามา สภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือและติดตามเรื่องร้องเรียนนี้มาโดยตลอด จนวันนี้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาด้วยการได้รับเงินค่ารักษาคืน จากกรณีถูกเรียกเก็บเงินก่อนการรักษาและไม่สามารถใช้สิทธิยูเซ็ปได้
“เราและคุณแม่ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่มีสิทธิในการใช้สิทธิการรักษาผ่านนโยบายยูเซ็ป ควรจะได้ใช้สิทธิในเวลาเจ็บป่วยฉุกเฉินและเสี่ยงต่อความเป็นความตายถึงชีวิต อยากขอความกรุณาถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเกณฑ์คัดแยกอาการให้เหมาะสม ซึ่งจะสามารถช่วยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ในเวลาที่อาการเขาวิกฤตจนไม่สามารถที่จะไปหาโรงพยาบาลตามสิทธิได้ เพราะนั่นหมายถึงชีวิตที่อาจสูญเสียไปหากไม่ได้เข้าถึงการรักษาที่ทันเวลา และขอบคุณสภาผู้บริโภคที่เป็นอีกแรงสำคัญในการช่วยติดตามและดำเนินการ จนทำให้เราได้รับการเยียวยาตามสิทธิที่พึงมี” ผู้บริโภคฝากทิ้งท้าย
ทั้งนี้ หากพบปัญหาหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิยูเซ็ป สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) โทร. 02-872-1669 ติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง และหากมีข้อสงสัยในการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. 1330 (ตลอด 24 ชม.) นอกจากนี้หากเจอปัญหาและไม่ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม สามารถร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค เบอร์ 1502 ในวันและเวลาทำการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น. หรือร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ได้ 24 ชั่วโมง ที่เว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/