โรงพยาบาลมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งโทรศัพท์ชวนผู้บริโภคให้มารับการตรวจสุขภาพฟรี เมื่อเข้าตรวจ กลับถูกหว่านล้อมพร้อมคำขู่ว่าผู้บริโภคมีความเสี่ยงโรคมากมาย แถมยัดเยียดขายโปรแกรมดูแลสุขภาพระยะยาวในราคาสามแสนบาทสุดท้ายโรงพยาบาลกลับปิดให้บริการแผนกนี้โดยไม่แจ้งล่วงหน้า จนทำให้เกิดความเสียหายกับผู้บริโภคหลายราย
ครั้งนี้เป็นเรื่องเล่าของผู้บริโภครายหนึ่งที่ระบุว่าตัวเองมีประวัติตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ทำไว้ในปี 2564 จนเมื่อเดือนมีนาคม 2565 โรงพยาบาลดังกล่าวได้โทรมาเชิญชวนไปตรวจสุขภาพฟรีในโอกาสครบรอบการก่อตั้งโรงพยาบาล โดยแจ้งว่าให้ผู้บริโภคไปตรวจที่แผนกสุขภาพผิวของโรงพยาบาล และเมื่อไปถึงได้รับการตรวจเลือด พร้อมทั้งซักประวัติ และแนะนำให้ซื้อโปรแกรมบริการสุขภาพในราคา 300,000 บาท โดยอ้างถึงความเสี่ยงของผู้บริโภคที่อาจจะเกิดโรคต่าง ๆ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวล จึงทำให้ผู้บริโภคยอมซื้อโปรแกรมสุขภาพดังกล่าวไป แต่เมื่อปลายเดือนเมษายน 2566 โรงพยาบาลได้ปิดแผนกนี้ไปในขณะที่ผู้บริโภคยังรักษาไปเพียงไม่กี่ครั้ง
“ทางแผนกได้หว่านล้อมว่าเรามีความเสี่ยงโรคเส้นเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นเบาหวาน อนาคตอาจต้องล้างไต ให้รักษาด้วยการซื้อโปรแกรมระยะยาว เพื่อที่แพทย์จะได้วางแผนกำหนดสารที่ให้ได้เหมาะสม เมื่อจ่ายเงินซื้อโปรแกรมดังกล่าวแล้ว ปรากฎว่าพอไปรับการรักษาได้ไม่กี่ครั้ง ก็มีการปิดห้องที่ช่วยในการรักษาและห้องนวดหน้าในส่วนที่แจ้งว่าแถมให้ก็ปิดไปด้วย เราอดทนรักษาต่อเพราะจ่ายเงินไปแล้ว แต่สุดท้ายโรงพยาบาลก็มาปิดแผนกนี้ไปเลย” ผู้บริโภคเล่ารายละเอียด
ผู้บริโภคได้ถามสาเหตุไปยังโรงพยาบาลก็ไม่ได้รับคำตอบและกำหนดเวลาที่ชัดเจนว่าโปรแกรมการรักษาจะดำเนินการต่ออย่าง เมื่อไหร่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง เพราะเป็นโรงพยาบาลที่มีความน่าเชื่อถือ
เมื่อไม่มีการตอบกลับจากโรงพยาบาลเดือนกว่า ผู้บริโภคท่านนี้จึงได้ร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ส่งหนังสือไปยังโรงพยาบาลให้ชี้แจงสาเหตุการปิดแผนกดังกล่าว เนื่องจากอาจเป็นการผิดสัญญาให้บริการและอาจเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยขอให้โรงพยาบาลพิจารณาคืนเงินแก่ผู้บริโภคฐานะผู้ใช้บริการ ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563 ซึ่งในข้อ 2.2 ระบุว่า กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจปิดกิจการ ปิดปรับปรุง หรือย้ายสถานที่ให้บริการ โดยที่ผู้บริโภคไม่อาจใช้บริการแห่งอื่นหรือสาขาอื่นได้โดยสะดวก หรือไม่สามารถให้บริการเสริมความงามได้ตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินตามสัดส่วนที่ยังไม่ได้ให้บริการ
ท้ายที่สุด โรงพยาบาลได้ส่งหนังสือชี้แจ้งกลับมาถึงกรณีปิดแผนกดังกล่าวและเสนอให้ใช้บริการในสาขาอื่นได้ แต่ผู้บริโภคไม่ประสงค์ไปใช้บริการในสาขาอื่น โรงพยาบาลจึงคืนค่าบริการคงเหลือให้แก่ผู้ใช้บริการ
“ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเรื่องเช่นนี้กับโรงพยาบาลที่ดูน่าเชื่อถือ อีกประเด็นหนึ่งคือ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าที่ผ่านมาได้รับสารอะไรทางเส้นเลือด เพราะเมื่อถามทางโรงพยาบาลก็ไม่มีข้อมูลบันทึกไว้ จึงอยากให้มีการสอบสวนเรื่องนี้ ไม่ใช่การชดเชยค่าเสียหายแล้วก็ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป” ผู้บริโภคฝากทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคมีความเห็นว่า ปัจจุบันมีข่าวถูกหลอกขายโปรแกรมดูแลสุขภาพเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ก่อนผู้บริโภคจะตกลงจองหรือซื้อโปรแกรมบริการทางการแพทย์ควรค้นหาข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ หรือปรึกษาผ่านสายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่เบอร์ 1426 เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและเพื่อมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของโปรแกรมสุขภาพดังกล่าว หากผู้บริโภคเจอปัญหาดังกล่าวและไม่สามารถขอคืนค่าบริการได้ สามารถขอคำปรึกษาหรือร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภค ได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้
ร้องเรียนออนไลน์ คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain#noopener%20noreferrer
ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
อีเมล : [email protected]
โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1