ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หญิงท่านหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เข้าใช้บริการทางการแพทย์ด้วยการผ่าตัดมดลูกจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่กรุงเทพมหานคร หลังจากผ่านไปเกือบสองเดือนได้พบความผิดปกติหลังการผ่าตัด ซึ่งภายหลังเธอพบว่า แพทย์ลืมผ้าก๊อซไว้ในช่องคลอดที่ทำให้เกิดเชื้อรา ซึ่งได้สร้างความวิตกกังวลให้เธอเป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่เธอได้รับจากแพทย์ผู้รักษาคือคำขอโทษ โดยไม่มีการเยียวยาความเสียหายตามความเหมาะสม เธอจึงมาร้องเรียนที่สภาผู้บริโภค
ผู้บริโภครายดังกล่าวเล่าว่า “ได้เข้าผ่าตัดมดลูกไปเมื่อเดือนเมษายน ภายหลังจากการรักษาจะมีอาการปวดหน่วงที่ท้องตลอดเวลาแต่ไม่ได้คิดอะไร ช่วงเดือนมิถุนายนตอนเข้าห้องน้ำรู้สึกว่ามีอะไรแข็ง ๆ อยู่ตรงช่องคลอด เลยใช้มือดึงออกมาปรากฏว่าเป็นผ้าก๊อซลักษณะสีดำคล้ำปนเมือกสีขาวขนาดเท่าลูกเทนนิสหลุดออกมา”
เธออธิบายอีกว่า สภาพของผ้าก๊อซที่หลุดออกมามีลักษณะคล้ายเชื้อรา จึงได้ไปโรงพยาบาล เพราะกังวลว่าจะติดเชื้อ ซึ่งแพทย์ได้ตรวจภายในและแจ้งว่าพบเชื้อราบริเวณช่องคลอด และแจ้งว่าไม่น่าเป็นอะไรมากจึงให้ยามารับประทาน แต่เธอเกิดความกังวลจึงขอนัดพบแพทย์เจ้าของไข้เพื่อสอบถามถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น
“เรากลับบ้านมาด้วยความวิตกกังวล ถ้าหากเกิดการติดเชื้อแล้วอาจเป็นสาเหตุที่จะทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่ ลูกก็ยังเล็ก ใครจะมาดูแลลูกถ้าเราเสียชีวิตจริง ๆ แม้กระทั่งหลับก็ยังฝันว่ายังมีผ้าก๊อซอยู่ในช่องคลอดอีกเหมือนกับว่ามันยังออกไม่หมด เลยขอพบกับแพทย์ผู้ที่ผ่าตัดให้ ซึ่งแพทย์ได้แจ้งว่าน่าจะลืมจริง ๆ แล้วพูดแค่ขอโทษ ทั้งที่เราคิดว่าแพทย์ควรแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้” ผู้บริโภครายนั้นเล่าด้วยน้ำเสียงผิดหวัง
เมื่อได้รับการตอบกลับของแพทย์เจ้าของไข้เช่นนั้น เธอจึงยื่นหนังสือถึงโรงพยาบาลเพื่อเรียกร้องเงินเยียวยาจากการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังในการรักษาของแพทย์ แต่กลับไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมแต่อย่างใด จึงได้ร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภค และสภาผู้บริโภคได้ส่งหนังสือไปยังโรงพยาบาลให้ชดเชยเยียวยากับผู้เสียหาย ซึ่งเบื้องต้นโรงพยาบาลได้ส่งหนังสือชี้แจ้งกลับมาว่าพร้อมเยียวยาผู้เสียหายตามกระบวนการของโรงพยาบาล นอกจากนี้สภาผู้บริโภคได้ส่งหนังสือไปถึงสำนักงานประกันสังคมเพื่อให้พิจารณาช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายตามมาตรา 63 (7) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมอีกด้วย
“ตอนแรกยื่นเรื่องไปเองโรงพยาบาลไม่สนใจ เลยคิดว่าอาจจะต้องปล่อยผ่าน แต่โชคดีที่คนรู้จักแนะนำให้มาร้องเรียนที่สภาผู้บริโภค และก็สามารถช่วยเหลือเราได้จริง ๆ หลังจากร้องเรียนไป โรงพยาบาลก็ติดต่อกลับมาเพื่อเจรจาเรื่องการชดเชยเยียวยา แล้วถ้าเหตุการณ์นี้เกิดกับคนอื่นที่ไม่มีข้อมูลหรือไม่รู้จักสภาผู้บริโภค สุดท้ายอาจจบลงด้วยการรับคำขอโทษโดยไม่ได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด”
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต สภาผู้บริโภคมีความเห็นว่าโรงพยาบาลควรวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาและแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก อีกทั้งควรรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องรอให้เกิดการร้องเรียนหรือต้องเป็นถูกนำเสนอเป็นข่าวก่อน
อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญคือแพทย์และโรงพยาบาลควรตระหนักและเพิ่มความระมัดระวังในทุกขั้นตอนการรักษา เพราะอาชีพแพทย์เป็นวิชาชีพต้องใช้ความระมัดระวังสูง การที่แพทย์ลืมอุปกรณ์เครื่องมือผ่าตัดในร่างกายของคนไข้ถือเป็นการรักษาที่บกพร่อง ทั้งยังเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค และอาจส่งผลไปถึงชีวิตอีกด้วย