การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีและทั่วถึงอย่างเท่าเทียม เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับจากรัฐ กลับกันในปัจจุบันหลายคนยังพบกับความไม่เท่าเทียมในการรักษาพยาบาล เช่นเดียวกับเสียงสะท้อนของพนักงานทำความสะอาดในสำนักงานสภาผู้บริโภค หลังจากหายหน้าหายตาไปพักฟื้นร่างกายอยู่เดือนกว่า จนวันนี้เราได้พบกับเธอที่กลับมาพร้อมใบหน้าที่ดูอิดโรย
“อ้าว ไม่เจอกันตั้งนาน หายไปไหนมา”
“หนูไปผ่าตัดถุงน้ำดีมาค่ะ ผ่าแบบเปิดหน้าท้องเลยรักษาตัวนาน” เธอเอ่ยเสียงแผ่วเบา
เมื่อได้ทราบข้อมูลและเคยได้ยินเรื่องราวของคนรู้จักที่ใช้สิทธิบัตรทองผ่าตัดแบบส่องกล้อง ที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่านแบบเปิดหน้าท้อง จึงถามไปว่า “ทำไมไม่ผ่าตัดแบบส่องกล้องล่ะ เจาะ 2 – 3 รู ไม่ต้องผ่า หลังจากผ่าตัดก็ฟื้นตัวเร็วกว่า พี่คนที่รู้จักเขาใช้สิทธิบัตรทองผ่าตัดแบบส่องกล้อง เจาะสามรูตัดถุงน้ำดี วันเดียวหาย ขับรถมาทำงานได้เลยนะ”
“ความจริงก็อยากผ่าตัดแบบส่องกล้องค่ะ จะได้ไม่ต้องลางานเพื่อพักรักษาตัวนาน แต่การใช้สิทธิประกันสังคม ถ้าจะผ่าตัดแบบส่องกล้อง ประกันสังคมให้จ่ายส่วนต่างถึง 40,000 กว่าบาท เลยเลือกการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง” เธอตอบกลับมาพร้อมกับน้ำเสียงที่แสดงให้เห็นว่า ไม่มีทางเลือกอื่น
เพราะความไม่เท่าเทียมของสิทธิ์การรักษาพยาบาล ทำให้เธอไม่สามารถเลือกวิธีการรักษาที่ดีกว่าได้ ในฐานะที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค จึงเกิดเป็นคำถามว่า ทำไม ‘ประกันสังคม’ ระบบการรักษาสุขภาพที่เกิดขึ้นมาก่อนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง กลับให้สิทธิประโยชน์ที่ด้อยกว่า ซึ่งนี่คงเป็นเรื่องตลกร้ายสำหรับผู้ประกันตนที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้าระบบ แต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครองและได้รับสิทธิรักษาสุขภาพไม่เท่ากัน
หากย้อนดูประวัติของ ‘บัตรทอง’ สิทธิรักษาสุขภาพที่เกิดขึ้นมาทีหลัง พบว่า กระบวนการต่าง ๆ มีความก้าวหน้า ผู้ใช้สิทธิบัตรทองได้รับการรักษาที่ครอบคลุมมาอย่างต่อเนื่อง และในปัจจุบันมีความแตกต่างกับระบบประกันสังคมอย่างมาก เช่น การผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยกว่า หรือกระบวนการรักษาในระยะยาว ที่ผู้ประกันตนใช้สิทธิพักรักษาตัวในโรงพยาบาลได้เพียง 180 วันต่อปี ขณะที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถพักรักษาตัวได้จนกว่าจะหายดี หรือนโยบาย 30 บาทรักษาได้ทุกที่ ซึ่งเมื่อยิ่งอธิบายออกมายิ่งเห็นได้ชัดถึงความเหลื่อมล้ำของระบบการรักษาพยาบาลในประเทศไทย
จากประเด็นดังกล่าว เมื่อลองค้นหาว่า มีใครที่พบปัญหาในลักษณะนี้บ้าง พบว่า มีคนตั้งคำถามในโลกออนไลน์เกี่ยวกับสิทธิประกันสังคมในการผ่าตัดถุงน้ำดี หรือการผ่าตัดอื่น ๆ ว่า ครอบคลุมการผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้องหรือไม่ เนื่องจากหลายคนต้องการผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อไม่ต้องพักฟื้นนาน และไม่กระทบกับวันลางาน แถมยังลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล ลดความแออัด แต่สุดท้ายก็ต้องเลือกการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เพราะมีค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมานั่นเอง
ที่ผ่านมาอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค ได้ขับเคลื่อนเพื่อให้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านบริการสุขภาพของผู้ประกันตนให้ทัดเทียมกับบัตรทอง เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นการเสนอยกเลิกวงเงินเบิกจ่ายรักษามะเร็ง ทันตกรรม เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค – ผู้ประกันตนในคณะกรรมการประกันสังคม ยกเลิกการสำรองจ่าย รวมถึงเสนอให้ประกันสังคมต้องปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนให้ทัดเทียมสิทธิรักษาสุขภาพอื่นทันที
ทั้งนี้ อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพได้มีเป้าหมายผลักดันนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค ให้สิทธิบริการสุขภาพเท่าเทียม และมีมาตรฐาน โดยให้ประชาชนและลูกจ้างทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม
จากเรื่องราวของผู้บริโภคที่เข้าผ่าตัดถุงน้ำดี กลายมาเป็นเรื่องราวการสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลข้างต้นได้อย่างดี จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องราวนี้จะกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นถึงปัญหาและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นของสิทธิการรักษาพยาบาลที่ไม่เท่ากัน และส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนเป็นอย่างมาก และสุดท้ายหวังว่า
“สักวันหนึ่ง ระบบบริการสุขภาพของไทยจะทำให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น
เพื่อที่จะไม่มีใครต้องทนทุกข์ทรมานเพียงเพราะพวกเขาไม่มีเงินพอที่จะจ่ายเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่ดีกว่า”