ขนส่งสาธารณะที่ไม่ตอบโจทย์ กับทางเลือกที่จำยอมของผู้บริโภค

รอรถเมล์กลับบ้านนานจนเกือบถอดใจ พอมาถึงแล้วพบว่าไปไม่ถึงจุดหมายที่เคยไป เหตุจากการ “ปฏิรูปรถเมล์” ผู้บริโภคสงสัย ปฏิรูปทำไมถ้าแก้ปัญหาไม่ได้จริง แต่กลับสร้างความสับสนให้ผู้บริโภค

“คนคิดไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้คิด” ทุกคนคงคุ้นชินกับประโยคที่เปรียบเทียบกับการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ เมื่อจะมีการปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปนโยบายใด ๆ แต่กลับไม่เคยสอบถามความเห็นผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดขณะนี้ คือ การปฏิรูปเส้นทางเดินรถเมล์ที่สร้างผลกระทบกับผู้ที่ใช้บริการจำนวนมาก

เรื่องเล่าผู้บริโภคต่อไปนี้เป็นของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปเส้นทางเดินรถเมล์ ซึ่งโดยปกติผู้บริโภคมักจะขึ้นรถเมล์บริเวณป้ายรถเมล์หน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เพื่อรอรถเมล์สาย 114 ในการเดินทางกลับบ้านที่แยกลำลูกกาหลังจากซื้อของเสร็จ แต่ด้วยความที่รอนานร่วมชั่วโมง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่แน่ใจว่ารถเมล์สายนี้ยังวิ่งอยู่หรือไม่ เพราะที่รอรถเมล์ไม่มีข้อมูลอะไรที่จะทำให้ทราบได้ จึงได้สอบถามคนที่นั่งรอรถอยู่แถวนั้น

“ไม่ได้นั่งสายนี้นานแล้ว ไม่แน่ใจว่ายังวิ่งอยู่ไหม นี่ก็รอมาเกือบชั่วโมงแล้วยังไม่เห็นมา รถก็ติดถ้านั่งแท็กซี่กลับ น่าจะเสียหลายร้อยเลย” ผู้บริโภคอีกรายเอ่ยด้วยน้ำเสียงสิ้นหวัง

เมื่อนั่งรอไปได้สักพักรถเมล์สาย 114 ก็มาถึง แต่ด้วยการจราจรที่ติดขัดทำให้รถเมล์ไม่สามารถเข้าจอดที่ป้ายได้และต้องจอดเลยป้ายไปอีก และผู้โดยสารที่รอต่างต้องพากันวิ่งเพื่อไปขึ้นรถด้วยความหวังว่าจะได้กลับบ้าน แต่เคราะห์ซ้ำผู้บริโภครายที่ต้องการเดินทางไปแยกลำลูกกาพบว่า รถเมล์สาย 114 วิ่งไปไม่ถึงแยกลำลูกกาแล้ว เพราะเป็นเส้นทางปฏิรูปใหม่ สุดท้ายผู้บริโภคต้องกลับมานั่งรอที่เดิมเพื่อรอรถเมล์อีกสายที่จะไปแยกลำลูกกาแทน

แม้ว่าการปฏิรูปเส้นทางเดินรถเมล์จะทำให้ผู้บริโภคบางส่วนได้รับประโยชน์ ขณะเดียวกันสภาผู้บริโภคเล็งเห็นว่าตามการปฏิรูปควรดีขึ้นโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่การปฏิรูปครั้งนี้ทำให้หลายคนได้รับผลกระทบ ทั้งเส้นทางเดินรถที่เปลี่ยนไป จำนวนรถไม่เพียงพอ ต้องนั่งรถหลายต่อ เลขสายที่สร้างความสับสน รวมถึงไม่มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ทำให้ยังมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะยกเลิกเส้นทางการเดินรถเดิม

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงปัญหาส่วนหนึ่งของขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกจากนี้ยังมีปัญหาค่าโดยสารราคาแพง เพราะขนส่งที่ไม่เชื่อมโยงกัน ต้องนั่งรถหลายต่อ ปัญหารถน้อย คอยนาน และปัญหาอื่นอีกมากที่หมักหมมมาเนิ่นนาน แต่ยังไม่เคยได้รับการแก้ไขเสียที

ด้วยเหตุนี้ สภาผู้บริโภคจึงมุ่งผลักดันนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสาย ผ่านการรณรงค์ให้เกิด “ขนส่งมวลชน ทุกคนขึ้นได้ทุกวัน” และผลักดันให้สัดส่วนค่าโดยสารของผู้บริโภคไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน พร้อมสนับสนุนให้มีระบบฟีดเดอร์ หรือระบบขนส่งสาธารณะรองที่ทำหน้าที่ ส่ง และ รับ ผู้สัญจรรถไฟฟ้าไปยังจุดหมายปลายทาง โดยที่ผู้บริโภคสามารถเดินออกจากบ้านเพียง 500 เมตรและจะพบกับบริการขนส่งสาธารณะเพื่อส่งเสริมให้ทุกคนได้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถส่วนตัว เพื่อลดปริมาณของฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการใช้ยานยนต์

สำหรับต่างจังหวัดที่ไม่พบปัญหาการใช้บริการขนส่งสาธารณะ เพราะไม่มีขนส่งสาธารณะให้ใช้ นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและทำให้ผู้บริโภคในต่างจังหวัดต้องปรับตัวด้วยการซื้อรถส่วนตัว แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะมีรถส่วนตัว เพราะการซื้อรถส่วนตัวอาจกลายเป็นที่มาของหนี้ในหลายครอบครัว โดยหลังจากนี้สภาผู้บริโภคพร้อมผลักดันนโยบายพัฒนาขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัดที่ปลอดภัยและมีค่าบริการเป็นธรรมเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น