กสทช.ทำอะไรอยู่? หลังควบรวมแล้วลอยแพผู้บริโภค

กสทช.ทำอะไรอยู่? หลังควบรวมแล้วลอยแพผู้บริโภค

จ่ายแพงขึ้นแต่คุณภาพด้อยลง สองปีผ่านไปหลังการกิจการมือถือควบรวมครั้งใหญ่ ผลักผู้บริโภคจนมุมหมดทางเลือก

“แพ็กเกจเดิมหายไปเราต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น แต่อินเทอร์เน็ตกลับช้าลง หนำซ้ำยังไม่มีทางเลือกอื่น ในเมื่อเหลือให้เลือกแค่สองราย” นี่คือเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคที่กำลังเผชิญกับปัญหาหลังจากการควบรวมกิจการครั้งใหญ่ในวงการโทรคมนาคม ที่ทำให้ค่ายมือถือเหลือเพียงสองค่าย ส่งผลให้ตลาดแทบไม่มีการแข่งขัน และผู้บริโภคต้องเผชิญกับบริการที่ถดถอย

เมื่อการแข่งขันหายไป ผู้บริโภคจึงเสียเปรียบ

ผู้บริโภคให้ความเห็นต่อว่า ก่อนจะเกิดการควบรวม ตลาดโทรคมนาคมมีผู้ให้บริการหลากหลาย สามารถเลือกแพ็กเกจที่เหมาะสมกับคุณภาพและราคาที่แข่งขันกันได้ แต่เมื่อการควบรวมไม่ว่าจะเป็นของ ทรู-ดีแทค หรือ เอไอเอส-สามบีบีเกิดขึ้น ทำให้เหลือเพียงสองเจ้าผู้ครองตลาดหลักของเน็ตมือถือและเน็ตบ้าน ทำให้ผลที่ตามมาคือ ค่าบริการที่สูงขึ้น ในขณะที่คุณภาพกลับลดลง

“เมื่อก่อนเราเคยจ่าย 200 – 300 บาท พอควบรวมเราต้องจ่ายแพงขึ้น 400 – 500 บาท แล้วยังพบปัญหาสัญญาณไม่เสถียร ความเร็วอินเทอร์เน็ตช้าลง บริการหลังการขายก็แย่ลง แต่เราทำอะไรได้บ้าง ในเมื่อไม่มีตัวเลือกอื่น” ผู้บริโภคกล่าวอย่างหมดหวัง

ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ผู้บริโภคต้องแบกรับ

ในภาวะค่าครองชีพปัจจุบัน นอกจากค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตที่แพงขึ้น ผู้บริโภคยังต้องรับภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ค่าที่อยู่อาศัย ค่าพลังงาน ค่าเดินทาง ค่าของใช้ส่วนตัว ซึ่งล้วนแต่เป็นภาระหนักอึ้งให้กับผู้บริโภคในยุคที่ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น

“ค่าโทรศัพท์เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ ค่าใช้จ่ายที่เราแบกรับทุกเดือน ตอนนี้ค่าใช้จ่ายทุกอย่างเพิ่มขึ้นหมด การที่เราถูกบังคับให้จ่ายค่าบริการที่แพงขึ้นโดยไม่มีคุณภาพที่ดีขึ้น มันไม่เป็นธรรมเลย” ผู้บริโภคให้ความเห็นเพิ่มเติม

กสทช. อยู่ไหน? การกำกับดูแลที่ไร้ประสิทธิภาพ

แม้ว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะมีหน้าที่ดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมออกมาปกป้องผู้บริโภคอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สภาผู้บริโภค ได้เรียกร้อง กสทช. ให้ติดตามแก้ไขปัญหาคุณภาพสัญญาณ – ราคาแพ็กเกจ รวมถึงรายงานความคืบหน้าการกำกับมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะหลังควบรวมกิจการ ทั้งเน็ตบ้าน AIS กับ 3BB และค่ายมือถือ ทรู กับ ดีแทค เพื่อสร้างความโปร่งใสและลดความกังวลของผู้บริโภค แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นการดำเนินการที่ชัดเจนจาก กสทช. ขณะที่ปัญหาการให้บริการกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตลาดที่เป็นธรรม ไม่ใช่แค่ราคาถูก

ทั้งนี้ ผู้บริโภคได้ฝากถึงหน่วยงานกำกับดูว่า สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการไม่ใช่แค่ราคาถูกลง แต่คือ ตลาดที่เป็นธรรม และ การแข่งขันที่แท้จริง เพราะเมื่อไม่มีการแข่งขัน ผู้บริโภคไม่มีอำนาจต่อรอง และจะต้องจ่ายแพงขึ้นโดยไม่มีคุณภาพที่ดีขึ้นเป็นการแลกเปลี่ยน

“เราอยากให้มีตัวเลือกมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่สองค่ายใหญ่ที่กำหนดทุกอย่าง ถ้ากสทช. ยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ ผู้บริโภคคงต้องรับกรรมกันต่อไปอีกนาน” ผู้บริโภคกล่าวทิ้งท้าย