ซื้อบ้านน็อกดาวน์ตกมาตรฐาน โพสต์เตือนภัย กลับโดนฟ้องปิดปาก

จากการโดนละเมิดสิทธิ สู่ความหวังดีแจ้งเตือนภัยผู้อื่น กลับกลายเป็นภัยกับตัวเอง เมื่อผู้บริโภคถูกผู้ประกอบการฟ้องหมิ่นประมาท ฐานทำให้เสียชื่อเสียง หลังได้บ้านน็อกดาวน์ตกมาตรฐาน จึงมาร้องขอความช่วยเหลือจากสภาผู้บริโภค

บ้านน็อกดาวน์

เรื่องเล่าผู้บริโภคครั้งนี้เป็นเรื่องราวของผู้บริโภคที่ได้ทำสัญญาซื้อบ้านน็อกดาวน์เมื่อกลางปี 2566 กว่า 7แสนบาท แต่พบปัญหาการก่อสร้างบ้านล่าช้าและใช้วัสดุก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน จนเกิดปัญหาบ้านร้าว หรือหลังคารั่ว เมื่อได้เจอปัญหาเช่นนี้ ผู้บริโภคจึงเดินหน้าเรียกร้องให้ผู้ประกอบการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการขอเงินคืน การขอคืนสินค้า เมื่อได้สินค้าและบริการที่ไม่ตรงตามโฆษณา สุดท้ายโดนบริษัทปัดความรับผิดชอบ แม้จะทวงถามใต้โพสต์ในแฟนเพจของบริษัทก็ถูกลบคอมเม้นท์ ถูกบล็อก จนกระทั่งไม่สามารถติดต่อบริษัทได้

“เราไปเจอบริษัทบ้านน็อกดาวน์บนเฟซบุ๊กแฟนเพจ เข้าไปดูรีวิวก็พบแต่รีวิวดี ๆ ไม่มีอะไรผิดปกติ จึงตัดสินใจทำสัญญาสร้างบ้านน็อกดาวน์ แต่เมื่อจ่ายเงินไปได้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ บริษัทเริ่มติดต่อยากขึ้น ผู้ซื้อบางรายเจอปัญหาช่างทิ้งงาน บางรายไม่มีวิศวกรมาควบคุมงานว่าดำเนินการไปถึงไหน หรือแม้ว่าสร้างเสร็จแล้วแต่ได้บ้านหรือวัสดุไม่ได้มาตรฐาน พอแจ้งบริษัทไป เขาก็ปัดความรับผิดชอบและไม่สามารถติดต่อบริษัทได้ ถูกลบคอมเม้นท์ ถูกบล็อกมาตลอด” ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อบ้านน็อกดาวน์ ระบุ

จากผู้เสียหาย กลายเป็นผู้ต้องหา

เมื่อเจอปัญหาจึงได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม และได้พบกับผู้เสียหายหลายรายที่ได้รับความเสียหายในลักษณะแบบเดียวกัน กระทั่งได้รวมกลุ่มแบ่งปันปัญหาที่แต่ละคนพบเจอจากบริษัทนี้ จากนั้นได้ช่วยกันแจ้งเตือนภัยเพื่อไม่ให้ผู้บริโภครายอื่นต้องมาเจอปัญหาเช่นเดียวกัน แต่กลับถูกบริษัทฟ้องหมิ่นประมาทกลับ อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายหลายรายยอมรับว่าตกใจ บางรายเกิดความทุกข์ใจ เนื่องจากไม่คาดคิดว่าการออกมาเตือนภัยคนอื่น ๆ หรือเพียงรีวิวสินค้าที่ซื้อมาใช้ ซึ่งแทนที่บริษัทจะออกมารับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นหรือแก้ไขให้ถูกต้อง กลับมาฟ้องผู้บริโภคเพื่อให้หยุดแสดงความคิดเห็น  จึงมาขอคำปรึกษาและร้องเรียนต่อสภาผู้บริโภค

การฟ้องหมิ่นประมาทในลักษณะข้างต้นเข้าข่ายการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ หรือที่เราอาจคุ้นในชื่อ ‘การฟ้องปิดปาก’ หรือ SLAPPs (Strategic Lawsuits Against Public Participation) ซึ่งการฟ้องลักษณะนี้มักถูกผู้ประกอบการ นักการเมือง หรือข้าราชการนำมาใช้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยที่ผู้ฟ้องอาจไม่ได้มุ่งหมายที่จะชนะคดี แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัวหรือทำให้เกิดภาระมากมายจนต้องหยุดการกระทำหรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่าย

“เราแค่อยากเตือนภัยคนอื่นให้ระวังเพื่อจะได้ไม่ต้องมาเจอปัญหาจากการซื้อบ้านน็อกดาวน์แบบเรา แต่กลายเป็นว่าการใช้สิทธิตัวเองกลับโดนบริษัทฟ้องปิดปาก ยอมรับว่าตอนได้รับหมายศาลตกใจมาก ไม่คิดว่าจะเจอกับตัวเอง ทั้งที่เราก็เป็นผู้เสียหาย ดังนั้น การที่เราปรึกษาหารือกันในกลุ่มผู้เสียหาย เตือนภัยคนอื่น เราไม่ได้มองว่ามันเป็นสิ่งที่ผิด บางคนที่ทำบ้านกับบริษัทนี้บางรายถึงขั้นต้องนอนในรถเป็นเดือน ๆ บางคนป่วยเป็นมะเร็งและปัจจุบันยังไม่ได้บ้านเลย เรารู้ว่ามันทุกข์ขนาดไหนกับการเจอเรื่องแบบนี้ เราถึงต้องการเตือนภัยคนอื่นไม่ต้องการให้ใครมาโดนแบบนี้ เราเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วมาโดนฟ้องเราก็หวังว่ากฎหมายจะเป็นธรรม แล้วในส่วนของบริษัทเราอยากให้หยุดพฤติกรรมเช่นนี้ และได้รับโทษตามกฎหมายต่อไป” 

คุมสัญญา – ดันมาตรฐานบ้านน็อกดาวน์ แก้ปัญหาโดนละเมิดสิทธิ

เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ถูกละเมิดสิทธิและผู้ประกอบการรักษามาตรฐาน ไม่กล้าเอาเปรียบ ผู้บริโภครายนี้ ระบุว่า หน่วยงานภาครัฐจะต้องออกมาควบคุมเกี่ยวกับการทำสัญญา ป้องกันผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากสัญญาไม่เป็นธรรม รวมถึงต้องมีการกำหนดมาตรฐานกำกับดูแลการสร้างบ้านน็อกดาวน์ อีกทั้งการให้ความรู้และข้อมูลแก่ผู้บริโภคเพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเพียงพอสำหรับใช้ในการตัดสินใจ

สอดคล้องกับข้อเสนอของสภาผู้บริโภค ที่เล็งเห็นว่า กรณีซื้อบ้านประกอบหรือบ้านน็อกดาวน์ จำเป็นต้องมีมาตรฐานกำกับดูแลบ้านในลักษณะนี้ ดังนั้น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรรม (สมอ.) จึงต้องเข้ามาควบคุมและให้บ้านน็อกดาวน์เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงการเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 ให้มีสภาพบังคับได้อย่างแท้จริง เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะมีการกำหนดคนกลาง (Escrow Agent) ทำหน้าที่ดูแลการชำระหนี้ของคู่สัญญาให้เป็นไปตามที่กำหนด เช่นเดียวกับระบบถือเงินของผู้บริโภคไว้ของตลาดออนไลน์ ในส่วนของผู้ซื้อนั้นหากผู้ประกอบการไม่สามารถทำตามข้อตกลงได้จะมั่นใจได้ว่าจะได้รับเงินคืน ในอีกทางยังทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาและเกิดการแข่งขันมากขึ้น เพราะไม่กล้าที่จะทำพฤติการณ์ที่เอาเปรียบผู้บริโภค

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา อสังหาไม่เป็นไปตามโฆษณา หรือพบปัญหาเกี่ยวกับเงื่อนไขของสัญญาไม่เป็นธรรม อย่าปล่อยให้สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาถูกละเมิด เมื่อพบปัญหาสามารถร้องเรียน และสามารถแจ้งเบาะแสบริษัทต้องการเตือนภัยมาที่สภาผู้บริโภคได้ ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th หรือโทรศัพท์ : 1502 (วันทำการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น.)

“ขอฝากถึงผู้บริโภคที่กำลังเจอปัญหา อยากให้ลุกขึ้นมาร้องเรียนเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง หากไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไงสามารถปรึกษาที่สภาผู้บริโภคได้เลย เหมือนเราตอนเจอปัญหาก็ร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค แล้วสภาผู้บริโภคก็จะช่วยเราแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ที่เราสร้างกลุ่มผู้เสียหายขึ้นมา สภาผู้บริโภคก็ไม่เคยทิ้งเรา จะติดต่อสอบถามและรายงานความคืบหน้าตลอด” ผู้บริโภครายนี้ ระบุทิ้งท้าย

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค