ผู้บริโภคหลายรายที่เคยประสบปัญหาทางการเงิน อาจเคยเลือกแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินออนไลน์ ที่มีทั้งแอปพลิเคชันที่ถูกกฎหมาย หรือแอปฯ ที่ไม่ถูกกฎหมายกระจายอยู่ตามเพจต่าง ๆ หลายคนตกหลุมพลางแอปฯ ผิดกฎหมายที่ล่อลวงให้มากู้ด้วยการแจ้งว่า ผู้กู้สามารถใช้หลักฐานเพียง “บัตรประชาชน” และภาพถ่ายอย่างละใบก็กู้ได้ทันที เป็นขั้นตอนที่ง่ายจนทำให้ลืมคิดถึงสิ่งที่จะตามมาในภายหลัง
เรื่องเล่าผู้บริโภคครั้งนี้เป็นเรื่องของผู้บริโภคที่หลงไปทำธุรกรรมกับแอปฯ กู้เงินเถื่อนที่ชื่อว่า ‘สินเชื่อที่จริงใจ’ จนได้รับความเสียหายตามมาทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง เมื่อผู้บริโภครายนี้แสดงความจำนงกู้เงินจำนวน 3,000 บาท แม้ยอดเงินกู้จะแจ้งว่าเป็นการกู้ 3,000 บาท ผู้กู้กลับได้เงินเพียง 1,800 บาท โดยผู้ดำเนินการแอปฯ ผิดกฎหมายอ้างว่า ส่วนต่าง 1,200 บาทเป็นค่าธรรมเนียม อีกทั้งยังถูกแอปฯ กู้เงินเถื่อนเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 วางหลักไว้ว่า “ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี”
หลังจากได้รับเงินกู้ ผู้กู้เจอการโทรทวงหนี้ในทุกๆ 15 – 30 นาที แล้วยังมีการข่มขู่ทางไลน์ด้วยการประจานลูกหนี้ทั้งรูปถ่ายและบัตรประชาชน อีกทั้งยังมีการโทรหาญาติและเพื่อนที่ทำงานของลูกหนี้เพื่อทวงหนี้ด้วย จากการข่มขู่ทำให้ทางผู้บริโภคเกิดความกลัวและกังวลในเรื่องดังกล่าว จึงได้เข้ามาร้องเรียนยังสภาผู้บริโภค
“เห็นโฆษณาแอปฯ กู้เงินจากช่องทางเฟซบุ๊ก ด้วยความอยากรู้ว่าจะได้จริงหรือไม่จึงกดเข้าไป พอกดเข้าไปก็เด้งไปให้โหลดแอปฯ โดยใช้เอกสารยืนยันเพียงหน้าบัตรประจำตัวประชาชน และรูปตัวเอง เมื่อส่งเอกสารเสร็จจึงลองกดกู้เงินไป 3,000 บาท แต่ได้มาเพียง 1,800 บาท หลังจากกู้เงินไปเพียง 1 วัน เจ้าหนี้เริ่มโทรศัพท์ทวงถามหนี้วันละหลายครั้ง ข่มขู่ทำให้กลัว และยังส่งไลน์ ส่งข้อมูลส่วนตัวมาข่มขู่ ทำให้ตัวเองเกิดความกลัว” ผู้บริโภคเล่ารายละเอียดจากการกู้เงินผ่านแอปฯ กู้เงินเถื่อน
สภาผู้บริโภคได้แนะนำให้ผู้บริโภคไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ และแนะนำให้ทำบัตรประชาชนใหม่เพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำบัตรใบเดิมไปแอบอ้างทำธุรกรรมต่าง ๆ และให้แจ้งอายัดบัญชีที่ใช้กู้เงินเพื่อไม่ให้มียอดการกู้เพิ่มเติม ทั้งยังแนะนำให้ผู้บริโภคไม่ต้องเป็นกังวลกรณีโดนข่มขู่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
ส่วนพฤติกรรมของเจ้าหนี้จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้พ.ศ. 2558 คือ เจ้าหนี้สามารถติดต่อทวงถามหนี้ได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 20.00 น. ส่วนวันเสาร์และวันอาทิตย์และวันหยุดราชการจะทวงหนี้ได้ในเวลา 08.00 – 18.00 น. นอกจากนี้เจ้าหนี้ห้ามพูดจาดูหมิ่นลูกหนี้ ห้ามข่มขู่ใช้ความรุนแรงอีกด้วย และห้ามทวงหนี้กับคนที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เว้นแต่คนที่ลูกหนี้ระบุไว้
ท้ายสุด ผู้บริโภครายนี้ได้ฝากถึงผู้บริโภคท่านอื่นที่กำลังหาแหล่งเงินกู้ ควรหาแหล่งเงินกู้ที่เชื่อถือได้ เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องตกเป็นเหยื่อแอปฯ เงินกู้เถื่อน เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อตัวเองและคนรอบข้าง รวมไปถึงมีความเครียดสะสมและกลายเป็นมีหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมโดยไม่รู้ตัว
หากผู้บริโภคต้องการกู้เงินควรกู้เงินจากแหล่งที่เชื่อถือได้ สามารถเช็กได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) https://www.bot.or.th/th/involve-party-license-loan.html โดยจะมีทั้งสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non – Bank) ที่ได้รับอนุญาต และหากพบเบาะแส สามารถติดต่อศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร. หรือ ตำรวจ PCT) โทรสายด่วน 1599 หรือกรอกข้อมูลที่ต้องการแจ้งผ่านเว็บไซต์ pct.police.go.th
แต่ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบปัญหาถูกแอปฯ กู้เงินเถื่อนเข้ามาคุกคามหรือทวงหนี้ สามารถเข้ามาปรึกษาและร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค ได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้
ร้องเรียนออนไลน์ คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain#noopener%20noreferrer
ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
อีเมล : [email protected]
โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1, 081 134 9215 หรือ 081 134 9216