ผู้บริโภคเข้าร้องเรียนสภาผู้บริโภค หลังคุณแม่ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการสาธารณสุข โดยพบว่าโรงพยาบาลตรวจสุขภาพไม่ละเอียด วินิจฉัยโรคผิดพลาด และขาดความระมัดระวังลืมถอดสายน้ำเกลือก่อนส่งผู้ป่วยกลับบ้าน
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อสิงหาคม 2565 ที่ผู้บริโภครายหนึ่งได้พาคุณแม่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ด้วยอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหกล้ม หลังตรวจรักษา แพทย์ได้ให้คุณแม่ของผู้บริโภคกลับบ้านในวันเดียวกัน แต่อาการไม่ได้ดีขึ้น จึงเข้าพบแพทย์อีกครั้งและพบว่ามีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด และได้เก็บเลือดเพื่อตรวจสอบ แต่สุดท้ายแพทย์กลับวินิจฉัยว่าคุณแม่เป็นไข้เลือดออก
“พยาบาลแจ้งว่าคุณแม่ติดเชื้อในกระแสเลือดและขอเก็บเลือดเพื่อนำไปตรวจ ซึ่งรอฟังผลเป็นเวลานานแต่ยังไม่มีแพทย์มาแจ้งอาการป่วย เราจึงขออนุญาตเข้าห้องฉุกเฉินเพื่อสอบถามอาการจากแพทย์เจ้าของไข้ แต่ได้คำตอบว่าแม่เป็นไข้เลือดออก ต้องรักษาต่อที่โรงพยาบาล” ผู้บริโภคอธิบาย
เช้าวันถัดมาจึงเดินทางมาเยี่ยมคุณแม่ ขณะที่พยาบาลได้แจ้งอาการป่วย โดยระบุว่าไม่ได้เป็นไข้เลือดออกแต่คุณแม่มีอาการปอดติดเชื้อ ขณะนี้อยู่ระหว่างให้ยา จึงไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ ต่อมาโรงพยาบาลแจ้งว่ามีอาการดีขึ้นจึงให้กลับบ้านได้
เมื่อกลับมาถึงบ้าน กลับพบว่าโรงพยาบาลลืมถอดสายน้ำเกลือที่แขน จึงกลับไปโรงพยาบาลเพื่อถอดสายน้ำเกลือและตรวจสุขภาพอีกครั้ง แต่เมื่อผลตรวจสุขภาพออกมากลับพบว่าคุณแม่ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองอีกโรคหนึ่ง และต้องนอนรักษาต่อที่โรงพยาบาล
“ตั้งแต่รับแม่กลับบ้านจนกระทั่งตอนเย็น แม่ต้องการอาบน้ำจึงถอดเสื้อแขนยาวที่สวมอยู่ พบว่าเข็มน้ำเกลือยังคงติดอยู่กับแขนแม่ ตอนนั้นเรารู้สึกถึงการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐานของโรงพยาบาล ไม่มีการเช็กความเรียบร้อยของผู้ป่วยก่อนส่งกลับบ้าน และหากเกิดเหตุการณ์ที่เป็นอันตราย อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บหรืออาการแย่ลงได้” ผู้บริโภค กล่าว
จากโรคของคุณแม่ที่วินิจฉัยและเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลถึงการรักษาของโรงพยาบาลที่อาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น จึงร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค โดยสภาผู้บริโภคได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงโรงพยาบาล เกี่ยวกับมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย
และได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้พิจารณาเยียวยาตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 ที่ระบุว่า “ให้คณะกรรมการกันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่งของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือหาผู้กระทำผิดได้ แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด” ขณะที่ สปสช. ได้พิจารณาเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภครายนี้ พร้อมเงินเชดเชยเยียวยา อีกทั้งมีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของการวินิจฉัยและการรักษา รวมทั้งตักเตือนการให้บริการของโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อย
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคมองว่า ระบบการดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลอาจถือว่ายังไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาและการดูแลสิทธิของผู้ป่วย ที่ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาและการดูแลด้านสุขภาพในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้จากประเด็นการวินิจฉัยโรคที่ไม่ชัดเจนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ล่าช้า หรือไม่เป็นไปตามการรักษาที่ควรได้รับ ซึ่งอาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อคุณภาพชีวิตได้