ร้องเรียนคอร์สตรวจสุขภาพมีส่วนลด อ้างเจอโรคร้าย ก่อนเสนอขายคอร์สฟื้นฟูราคาแพงให้ผู้บริโภค

ผู้บริโภคท่านหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เข้ามาร้องเรียนที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) แจ้งเรื่องโดนล่อซื้อคอร์สตรวจสุขภาพจบด้วยจ่ายค่าฟื้นฟูเกือบแสน ด้วยคำขู่ตรวจเจอโรคร้ายเสี่ยงเสียชีวิต 

ในช่วงที่ผ่านมาผู้บริโภครายนี้พาภรรยาไปโรงพยาบาลเอกชนมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งเพื่อตรวจครรภ์ ระหว่างเดินกลับได้รับบัตรส่วนลดคอร์สตรวจสุขภาพในมูลค่า 10,000 บาท ที่ศูนย์สุขภาพเปิดใหม่ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยอ้างว่าการตรวจสุขภาพนี้จะแตกต่างจากการตรวจปกติ เพราะจะมีความละเอียดมากกว่า หลังจากที่ได้ตกลงซื้อและตรวจร่างกาย พบว่า ผลการสแกนที่ออกมา คือ เขามีปัญหาที่สมองและตับ หลังจากนั้นจึงพาไปเจาะเลือดต่อ และแจ้งผลว่าเลือดติดกันเป็นแพ ไหลเวียนได้ช้า มีวัตถุแปลกปลอม มีโลหะหนัก หากทิ้งไว้ก็อาจทำให้สมองตาย ทำให้ผู้บริโภคและภรรยากังวลใจอย่างยิ่ง

ต่อมาเจ้าหน้าที่แนะนำให้ซื้อคอร์สบูสเตอร์สุขภาพ มูลค่า 80,000 บาท ด้วยความตกใจและเป็นกังวลจึงตอบตกลง โดยชำระเงินเบื้องต้น 60,000 บาท ผ่านบัตรเครดิต หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่แจ้งอีกว่าส่วนที่เหลือจะต้องจ่ายหลังพบแพทย์ และนำเอกสารมาให้เซ็นชื่อ โดยในเอกสารระบุว่าหากการตรวจมีปัญหาไม่สามารถให้บริการได้ และแพทย์จะยกเลิกการตรวจสุขภาพนั้น รวมทั้งผู้บริโภคจะไม่ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากโรงพยาบาล

หลังจากกลับจากโรงพยาบาลด้วยความเครียดที่ถูกแจ้งเรื่องปัญหาสุขภาพ และค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน เขาจึงค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม และพบข้อความเตือนภัยในเว็บไซต์ สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ระวังการโฆษณาเกินจริงของศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยการชักจูงให้ผู้บริโภคจ่ายเงินจำนวนมาก โดยเอาผลการตรวจสุขภาพที่ดูน่ากลัว มาจูงใจให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อคอร์สดังกล่าว

เมื่อเห็นข้อมูลเตือนภัย เขาจึงรีบโทรเข้าไปขอยกเลิกโปรแกรมทั้งหมดและขอเงินที่ชำระไปแล้วคืน ซึ่งเจ้าหน้าที่ฯ แจ้งอีกว่า จะขอเรียกเก็บค่าตรวจเลือดที่ส่งตรวจห้องแล็บในราคา 11,500 บาท ซึ่งเขาคิดว่าเป็นราคาที่แพงกว่าความเป็นจริงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผลตรวจถูกนำมาขู่เรื่องปัญหาสุขภาพที่ไม่ได้มีความจำเป็นในการเข้าคอร์สฟื้นฟูอย่างที่ศูนย์สุขภาพอ้าง จึงเห็นว่าเป็นกรณีที่ผู้บริโภคโดนเอาเปรียบ จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายัง สอบ. และได้รับการช่วยเหลือให้ได้รับเงินคืนอย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้ ผู้บริโภครายนี้ ทิ้งท้ายไว้ว่า ก่อนจะตกลงจองหรือซื้อคอร์สดูแลสุขภาพใด ๆ ควรระมัดระวังและตรวจสอบความน่าเชื่อถือและการได้รับอนุญาตตามกฎหมายของสถาบันความงาม หรือศูนย์การแพทย์ และแพทย์ที่เป็นผู้ดำเนินการให้รอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อคอร์สตามคำชักจูง โดยผู้บริโภคมีสิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการปราศจากการจูงใจอันไม่เป็นธรรม ได้รับการทำสัญญาที่เป็นธรรม ตลอดจนได้รับข้อมูลข่าวสาร คำพรรณาของสินค้าหรือบริการที่ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค

1. เมื่อผู้บริโภค ได้รับการแนะนำให้ซื้อคอร์สเสริมความงาม หรือคอร์สสุขภาพใด ๆ ต้องดูรายละเอียดสัญญาให้ครบ พิจารณาเลือกให้เหมาะสมกับสุขภาพร่างกายก่อนเซ็นสัญญาใช้บริการ โดยหากเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพทั่วไปก็สามารถดำเนินการได้ และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง

2. หากเลือกรับบริการกับคลินิก ควรเก็บหลักฐานหนังสือสัญญา ใบเสร็จรับเงิน (ควรเป็นใบเสร็จฉบับเต็ม หากได้รับใบเสร็จชั่วคราวให้ทักท้วง) ใบผลตรวจสุขภาพ แชทสนทนาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของคลินิก เอกสารโฆษณาคอร์สสุขภาพ

3. ระมัดระวังหมายเหตุท้ายสัญญาหรือใบเสร็จที่จะระบุว่า “ปฏิเสธการคืนเงินทุกกรณี” กรณีดังกล่าวถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และแสดงถึงเจตนาไม่สุจริตของผู้ประกอบธุรกิจ

4. หากภายหลังพบว่าสถานเสริมความงามไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในสัญญา สามารถบอกเลิกสัญญาได้ และขอเงินค่าบริการคืนได้เต็มจำนวน แม้จะได้ทำสัญญาโอนเงินไปแล้ว แต่ผู้บริโภคก็มีสิทธิเลิกสัญญาได้ หากไม่ประสงค์ใช้บริการ และได้รับเงินคืนเต็มจำนวน กรณียังไม่ได้ใช้บริการ โดยการเลิกสัญญาควรทำเป็นหนังสือเพื่อให้มีหลักฐานยืนยัน

5. หากสถานเสริมความงามไม่ยินยอมคืนเงิน ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนปัญหาดังกล่าวต่อ สอบ. เพื่อให้การช่วยเหลือในฐานะตัวแทนผู้บริโภค หรือใช้สิทธิยื่นไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องกับทางศาลที่มีเขตอำนาจ ผู้บริโภคสามารถยื่นคำขอทางช่องทางออนไลน์ ได้ที่ https://mediation.coj.go.th/ หรือสามารถฟ้องคดีได้ด้วยตนเองเป็นคดีผู้บริโภค โดยสามารถฟ้องได้ฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียม